ย้อนดูสิ่งที่สื่อญี่ปุ่นสะท้อน เมื่อ "ในหลวงร.9" เสด็จฯขึ้นดอย
เมื่อครั้งที่ ในหลวงรัชกาลที่9 เสด็จสวรรคต นิตยสารเชิงข่าวของญี่ปุ่น "เอเชียน นิกเกอิ รีวิว" ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของ “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” 1 ใน 4,600 โครงการในพระราชดำริเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพสกนิกรไทย
สิ่งหนึ่งที่ทั่วโลกเข้าใจได้เป็นอย่างดีและมักจะอ้างอิงถึงอยู่เสมอ เมื่อกล่าวถึงพระบาท "สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" ของไทยก็คือ “มรดก” ที่ในหลวงรัชกาลที่9 ได้ทรงสร้างไว้และให้คนไทยได้สานต่อกับบรรดาโครงการในพระราชดำริเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพสกนิกร
หลังจาก ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต นิตยสารเชิงข่าวของญี่ปุ่น "เอเชียน นิกเกอิ รีวิว" ได้ถ่ายทอดเรื่องราวมรดกของพระองค์ผ่าน “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการหลวงแห่งแรกของไทย และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการในพระราชดำริทั้งหมดกว่า 4,600 แห่งของพระองค์ ผู้ทรงเป็นดั่งวิศวกรผู้ที่ริ่เริ่มตั้งแต่การปราบฝิ่นไปจนถึงการแพทย์ชีวภาพ
เอเชียน นิกเกอิ รีวิว เริ่มต้นเรื่องด้วยความรู้สึกของ "นาโม หมั่นเฮิง" ชาวเขาเผ่าปะหล่อง วัย 89 ปี ที่รู้สึกโศกเศร้าและหดหู่จนกินอะไรไม่ได้ไปนานถึง 4 วัน กับการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559
นาโมเป็นหนึ่งในผู้อพยพมาจากเมียนมาหลายพันคนที่ข้ามพรมแดนมายังฝั่งไทย และได้มีชีวิตใหม่จากโครงการสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง พ่อเฒ่าได้สวดมนต์ที่วัดตั้งอธิษฐานจิตว่า "หากชาติหน้ามีจริงขอให้ได้เกิดมาเป็นข้ารองพระบาทอีกครั้ง"
เมื่อครั้งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ลาดเขาแห่งหนึ่งในดอยอ่างขาง เมื่อปี 1970 บริเวณดังกล่าวเต็มไปด้วยไร่ฝิ่นและมีการเผาทำลายป่าหลายแห่งเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ที่ทำลายระบบนิเวศจนไม่สามารถปลูกอะไรได้นัก นาโมและชาวเขาอพยพอีกหลายคนต้องปลูกฝิ่นขายแม้จะผิดกฎหมาย เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูเมียและลูกอีก 8 ชีวิต
อย่างไรก็ดี บริเวณดังกล่าวที่เคยปลูกฝิ่นมากถึง 130 ตัน/ปี เพื่อใช้ในการผลิตเฮโรอีนนั้น ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเป็นแหล่งเพาะพันธุ์พืชผัก ไม้ผล และไม้ดอกเมืองหนาวนานาพันธุ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ จ.เชียงใหม่หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงเยือนเมื่อปี 1967
และในอีก 2 ปีถัดมาพระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท ซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาส่วนหนึ่ง และโปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งศูนย์วิจัยปลูกพันธุ์พืชผักผลไม้ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศหนาวเย็นของดอยอ่างขาง ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร
ภายใต้โครงการดังกล่าว ชาวเขาต่างได้เรียนรู้วิธีการปลูกพืชผัก ผลไม้หลายชนิด รวมไปถึงเมล็ดกาแฟ โดยนาโมเริ่มหันมาปลูกกะหล่ำปลี ที่สร้างรายได้ให้มากกว่าเมื่อครั้งปลูกฝิ่นถึง 10 เท่า
เอเชียน นิกเกอิ รีวิว ระบุว่าโครงการริเริ่มต่างๆ ในทำนองนี้ได้ขยายจำนวนอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงกว่า 4,600 โครงการในปัจจุบันและครอบคลุมเกือบทุกด้าน ตั้งแต่การบริหารจัดการน้ำ ไปจนถึงโรงเรียน และบริการทางการแพทย์ ซึ่งเกือบทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นพระราชดำริด้วยพระองค์เองแทบทั้งสิ้น
“ความเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ส่งผลให้เกิดความร่วมมือจากองค์กรหลายแห่งตามโครงการขนาดใหญ่” ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
โดยสถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติ อีกทั้งยังได้รับเสียงชื่นชมจากองค์กรต่างประเทศ เช่น สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี)
สื่อญี่ปุ่นระบุด้วยว่าในด้านการแพทย์นั้น จากโครงการสร้างเครื่องกลั่นน้ำเกลือใช้เองก็ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงยุคชีวเวชศาสตร์ในปัจจุบัน โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ได้ร่วมมือกับบริษัท ซิมับ จากคิวบา ร่วมพัฒนายาชีวภาพต้านมะเร็งและโรคร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ สยามไบโอไซเอนซ์ได้ร่วมมือกับซิมับออกยาชีวภาพ 2 ชนิดที่มีราคาถูกกว่ายาชนิดเดียวกันที่ถูกนำเข้ามาขายจากต่างชาติ 70% เมื่อปีที่แล้ว
“พระองค์มีพระราชประสงค์ให้ประชาชนชาวไทยได้ใช้ยารักษาโรคคุณภาพสูงที่มีราคาถูก ดังนั้นเราจะตั้งใจพัฒนายาต่อไป เพื่อสนองพระราชประสงค์ดังกล่าว” เสนาะอูนากูล ประธานกรรมการสยามไบโอไซเอนซ์ กล่าว
นี่เป็นเพียงหนึ่งใน "มรดก" จำนวนมากอันทรงคุณค่ายิ่งที่ ในหลวงรัชกาลที่9 ทรงมอบไว้ให้แก่ปวงชนชาวไทย ที่แม้แต่ต่างชาติยังแซ่ซ้องสรรเสริญอย่างกึกก้องไปทั่วโลก