posttoday

สสส.แนะหลัก5ข้อบริโภคอาหารตรุษจีนปลอดภัย-ลดเสี่ยงโรค

27 มกราคม 2565

สสส.แนะบริโภคอาหารช่วงตรุษจีน ยึดหลัก 5 ข้อ ปลอดภัย ลดเสี่ยง เลี่ยงโรค ให้ข้อมูลวิธีเลือกเนื้อหมูปลอดภัย

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การบริโภคอาหารในช่วงเทศกาลตรุษจีน ควรใช้หลัก 5 ประการสู่อาหารปลอดภัย (Five Keys to Safer Food Manual) ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประกอบด้วย

1.รักษาความสะอาด ต้องล้างมือก่อนบริโภคอาหาร และก่อนเตรียมอาหารทุกครั้ง บริเวณเตรียมอาหารต้องสะอาด โดยเฉพาะโต๊ะ เขียง เพื่อป้องกันจุลินทรีย์ที่อาจติดมาได้

2.แยกอาหารที่ปรุงสุกแล้วออกจากอาหารดิบโดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์และอาหารทะเล รวมถึงของเหลวจากเนื้อสัตว์ อาจมีเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนอยู่ สามารถแพร่กระจายไปสู่อาหารอื่นๆ ในขณะปรุงอาหารหรือเก็บอาหาร

3.ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง ที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อ เนื้อไก่ ไข่ และอาหารทะเล ต้องสุกถึงด้านใน ซึ่งการปรุงที่ถูกวิธีและถูกสุขลักษณะจะทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายได้เกือบทุกชนิด

4.เก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยเชื้อจุลินทรีย์สามารถเพิ่มจำนวนได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ที่อุณหภูมิห้อง และจะหยุดเจริญหรือเพิ่มจำนวนช้าลง ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส

และ 5.ใช้น้ำสะอาดและวัตถุดิบที่ปลอดภัยในการปรุงอาหาร การเลือกวัตถุดิบในการปรุงอาหารอย่างถูกวิธีและการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยเบื้องต้นจะลดความเสี่ยงจากการบริโภคสารปนเปื้อนในอาหาร

รศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สสส. และอาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คำแนะนำก่อนนำมาประกอบอาหาร แนะนำให้ล้างทำความสะอาด จะช่วยลดการตกค้างได้ส่วนหนึ่ง รวมถึงการประกอบอาหารด้วยการผ่านความร้อน จะทำให้สารกำจัดศัตรูพืชและจุลินทรีย์ถูกทำลาย ความเสี่ยงก็จะลดลงเรื่อยๆ ส่วนผักที่บริโภคสดหรือผักเคียง สามารถลดการปนเปื้อนโดยการล้าง แต่ด้วยผักที่บริโภคสดไม่ผ่านความร้อน ฉะนั้น ต้องเลือกซื้อจากแหล่งที่มั่นใจได้ เช่น เลือกผักออร์แกนิก หรือผักที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง จะช่วยลดความเสี่ยงได้ส่วนหนึ่ง สำหรับผลไม้ ต้องเลือกซื้อจากแหล่งที่มั่นใจได้เช่นกัน รวมถึงแนะนำให้ล้าง และปอกเปลือกก่อนบริโภค

รศ.ดร.ชนิพรรณ กล่าวด้วยว่า กรณีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) จะติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงจากสุกรที่ป่วยไปยังสุกรด้วยกัน ไม่แพร่กระจายสู่คน อย่างไรก็ตาม ก่อนนำไปปรุงอาหารควรล้างเนื้อหมูให้สะอาด และปรุงสุกทุกครั้งเพื่อความมั่นใจว่าได้บริโภคเนื้อหมูที่ปลอดเชื้อ ปลอดภัย ควรงดบริโภคเนื้อหมูที่สุกๆ ดิบๆ ควรเลือกซื้อสินค้าจากสถานที่จำหน่ายที่เชื่อถือมีมาตรฐานรับรอง นอกจากนี้อาจจะมองหาแหล่งโปรตีนอื่นๆ ทดแทน เช่น ไข่ ปลา ไก่ เนื้อ ในเมื่อบางอย่างราคาแพงและหวังในเรื่องโปรตีน อาจจะลดปริมาณส่วนนั้นลงและไปทานโปรตีนอย่างอื่นทดแทน

ด้านนางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้ทรงคุณวุฒิแผนอาหารฯ สสส. กล่าวว่า การเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่เหมาะสมกับการบริโภค เช่น เนื้อหมูต้องมีสีชมพูสดถึงแดง แต่ต้องไม่แดงมาก เนื้อละเอียดไม่หยาบ กลิ่นต้องเป็นไปตามธรรมชาติไม่มีกลิ่นเหม็นหืน เมื่อใช้นิ้วกดเนื้อต้องคืนตัวได้ดีไม่เกิดรอยบุ๋มตามแรงกด ไม่ควรซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว กลิ่นเหม็นรุนแรง หรือมีเมือกลื่น มีสีคล้ำ หรือเนื้อหมูที่สีซีดเกินไปและมีน้ำซึมไหลออกมาแสดงว่าเป็นเนื้อที่เสื่อมคุณภาพ