สสส. จับมือเทศบาลนครเชียงราย เปิดตัว “ลานรู้เล่นเต้นรำ”ต้นแบบลานสุขภาพใกล้บ้าน
สสส. ร่วมศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมืองและเทศบาลนครเชียงราย เปิดตัว “ลานรู้เล่นเต้นรำ” ต้นแบบลานสุขภาพใกล้บ้านในพื้นที่เมือง แปลงโฉม“ลานรำวงย้อนยุค”แบบแอคทีฟเลิร์นนิง ขยายผลต้นแบบเมืองสุขภาวะ รองรับวิถีชีวิตใหม่
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ที่ลานรำวงย้อนยุค สวนตุง และโคมนครเชียงราย ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) ร่วมกับเทศบาลนครเชียงราย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เปิดตัว “ลานรู้เล่นเต้นรำ” ต้นแบบลานสุขภาพใกล้บ้านในพื้นที่เมือง เพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะที่เพิ่มกิจกรรมทางกาย (Physical activity) ในชีวิตประจำวัน ขยายภาคีสร้างสุข และผลักดันชุมชนและท้องถิ่นในการเพิ่มขีดความสามารถสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะโดยมี นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิด
นายวราดิศร กล่าวว่า พื้นที่สาธารณะใกล้บ้าน มีบทบาทสำคัญมาก ในการส่งเสริมให้เกิดวิถีชีวิตสุขภาวะ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาและสาธารณสุข การดำรงฐานวัฒนธรรมล้านนา เพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเชิงนิเวศและเชิงสุขภาพ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดำรงความสมบูรณ์และยั่งยืนในจังหวัดเชียงราย โดยพื้นที่สาธารณะแห่งนี้จะสามารถสร้างให้เกิดประโยชน์อันหลากหลายแก่สังคมและชาวเชียงรายได้อย่างแท้จริง อาทิ 1. การเป็นพื้นที่ส่งเสริมสุขภาพและกิจกรรมทางกายละแวกบ้าน ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพและการเรียนรู้ให้แก่ชุมชน 2.การเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่สร้างการเรียนรู้และการตระหนักรู้ด้านสุขภาพให้แก่ชุมชน และ 3.การเป็นพื้นที่ส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์อันดีภายในชุมชน และเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ออกมาทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนัก สร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลง สสส. มีเป้าหมายฟื้นฟูระดับการมีกิจกรรมทางกายให้คืนกลับมา โดยสนับสนุนการปรับตัวต่อรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ และเตรียมพร้อมสู่การใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดีของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม โครงการรู้เล่นเต้นรำ ณ ถนนธนาลัย จ.เชียงราย ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาและขยายผลต้นแบบเมืองสุขภาวะเพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ โดยเน้นกระบวนการสร้างความร่วมมือกับประชาชน ภาคประชาสังคม เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในรูปแบบพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่สันทนาการที่เอื้อให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงและปลอดภัย โดยต่อยอดการพัฒนาด้วยแนวคิด Active x Learning เพื่อให้เกิดสถานที่ขยับร่างกายและเรียนรู้ร่วมกัน จึงจัดทำพื้นที่ต้นแบบเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาพร่วมกับท้องถิ่น รวมทั้งจะมีการถอดบทเรียนเพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นต้นแบบเมืองสุขภาวะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป
รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง กล่าวว่า ลานสุขภาพใกล้บ้าน (Healthy Space Next Door) เป็นแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพและกิจกรรมทางกายในละแวกบ้านที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ โดยผ่านกระบวนการทางวิชาการและปฏิบัติจริงในพื้นที่ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม เชียงรายเป็นต้นแบบหนึ่งที่มีลักษณะเด่นสามารถเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ในกระบวนการออกแบบจึงสอดแทรกพื้นที่การเรียนรู้ผสมผสานการทำกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับทุกกลุ่มวัยและบริบทของพื้นที่ ประกอบไปด้วย พื้นที่เล่นและแสดงความสามารถอย่างสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน พื้นที่เดิน วิ่ง ออกกำลังกายที่สามารถเล่นกีฬาหลากหลายประเภท และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจที่สามารถจับกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันทั้งกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่จัดงานเทศกาลระดับเมืองที่ส่งเสริมให้คนในเมืองได้ออกมาทำกิจกรรมทางกายและหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพทั้งกายและใจและหันมาดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและสร้างสุขภาพจิตดีในทุกวัน
นางบังอร มะลิดัน รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า ด้วยยุทธศาสตร์ของการพัฒนาท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงราย ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนให้ความสนใจในการกีฬา นันทนาการ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) สร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย และนำไปสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อมในละแวกบ้านสู่ความเป็นเมืองน่าอยู่ ด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่สาธารณะของชุมชนให้ดูสวยงามและสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการเป็น ‘เมืองแห่งการเรียนรู้และสุขภาวะสำหรับทุกคน’ จะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะในเมืองที่ทำให้ ‘เชียงรายเป็นเมืองที่น่าอยู่และเป็นนครแห่งความสุข’ ของทุกคนอย่างแท้จริง
สำหรับพื้นที่ต้นแบบลานรำวงย้อนยุค “รู้เล่นเต้นรำ” ได้รับการออกแบบให้รองรับกิจกรรมสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และสุขภาวะในชีวิตประจำวัน แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ลานกิจกรรม ได้แก่ 1. ลานทดลองและค้นหาตัวตน (Active Experiment Zone) เป็นพื้นที่ส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนและพื้นที่การแสดงความสามารถพิเศษ เช่น เล่นดนตรี เต้นรำ รวมถึงสร้างสรรค์อื่น ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และค้นหาตัวตนของวัยเรียน 2. ลานพักผ่อนกายใจ (Relaxing Zone) เป็นพื้นที่กิจกรรมยืดเหยียดร่างกาย พักผ่อนหย่อนใจ และจุดพูดคุยพบปะกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด เช่น พื้นที่นั่งอ่านหนังสือ พื้นที่นั่งพักคอยในรูปแบบต่าง ๆ และ 3. ลานเล่นยืดหยุ่น (Active Flexible Zone) ซึ่งเป็นลานกิจกรรมที่ถูกออกแบบสามารถทำกิจกรรมที่หลากหลาย และเปิดกว้างทางจินตนาการผ่านการเล่นเกมกีฬา เช่น ตั้งเต บันไดงู แบดมินตัน ฟุตบอล