posttoday

สิ้น"หวันดารา หวันมุดา"ผู้ทอผ้าไหมโบราณพุมเรียงตั้งแต่สมัยร.5

21 มิถุนายน 2565

สุราษฎร์ธานี-สิ้น"หวันดารา หวันมุดา"ผู้สืบสานตำนานการทอผ้าไหมพุมเรียง ฃศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ที่มีอัตลักษณ์ประจำถิ่น และอนุรักษ์การทอผ้าโบราณมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.นางหวันดารา หวันมุดา อายุ 80 ปี ผู้สืบสานตำนานการทอผ้าไหมพุมเรียง ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ที่มีอัตลักษณ์ประจำถิ่น ของ ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ได้เสียชีวิตลงเมื่อเช้าวันนี้ ระหว่างออกมากวาดบ้านและเป็นลมหมดสติไป ท่ามกลางความโศกเศร้าของครอบครัว โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆไปร่วมไว้อาลัย ซึ่งครอบครัวและญาติจะทำพิธีฝังศพตามหลักศาสนาอิสลาม ณ สุสานกุโบว์ ต.พุมเรียงในเย็นวันเดียวกันนี้

สำหรับ ครอบครัวหวันมุดามีพี่น้อง 2 คนคือนางหวันดารา หวันมุดา และนางมารียะ หวันมุดา น้องสาวเป็นครอบครัวที่ได้รับการสืบทอดการทอผ้าจากคุณทวดแหม๊ะเหรียม หวันมุดา (ต้นตระกูลสุลต่านสุไลมาน) ผู้ริเริ่มทอผ้าลายพระธาตุไชยา ลายคชสีห์ ลายโคมเพชร ลายสร้อยดอกหมาก และอนุรักษ์การทอผ้าโบราณมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นตระกูลที่เก่าแก่ที่สุด ของ ต.พุมเรียง อ.ไชยา โดยนางมารียะ หวันมุดา ผู้เป็นน้องสาวจะดำเนินการสืบสานการทอผ้าไหมพุมเรียงต่อไป

สิ้น\"หวันดารา หวันมุดา\"ผู้ทอผ้าไหมโบราณพุมเรียงตั้งแต่สมัยร.5

ทั้งนี้ ในอดีตนางมาเรียม หวันมุดา มารดา ของนางหวันดารา หวันมุดา และนางมารียะ หวันมุดา ได้ทอผ้าไหมทอมือที่มีลายข้อความว่า “ทรงพระเจริญไชโย” ทอไว้เมื่อปี พ.ศ.2472 ในการรับเสด็จเมื่อครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินผ่าน มีข้อความเป็นแถวยาวซึ่งใช้วิธีการทอให้ได้ลายอักษรทำได้ยากและละเอียดมาก นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ และดำรงไว้ให้คนรุ่นหลังได้เชยชม

อย่างไรก็ตาม การทอผ้าพุมเรียงเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ของ ต.พุมเรียง อ.ไชยา มีวิธีการเฉพาะแบบของชาวไทยมุสลิมที่อพยพมาจากเมืองสงขลา ปัตตานีและเมืองไทรบุรี สืบเชื้อสายมาจากชาวมลายูในหมู่เกาะอินโดนีเซีย ได้นำกระบวนการทอผ้าติดตัวมาด้วย และถ่ายทอดสืบต่อกันมายาวนานเพียงแค่วิธีการสังเกตจดจำและทดลองปฏิบัติทอจริงโดยไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ได้รับการสั่งสมภูมิปัญญาและสืบทอดกันมาสู่อนุชนรุ่นหลัง กระทั่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปจนมีชื่อเสียงโด่งดัง

สิ้น\"หวันดารา หวันมุดา\"ผู้ทอผ้าไหมโบราณพุมเรียงตั้งแต่สมัยร.5

สำหรับ การทอผ้าไหมพุมเรียง กลายเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ที่มีอัตลักษณ์ประจำถิ่น ความสวยงามของลายผ้าที่เป็นลักษณะเฉพาะที่มีความประณีต จากฝีมือการทอผ้ามีลักษณะเด่นแตกต่างไปจากผ้าทอมือของภูมิภาคอื่นๆ ด้วยวิธีการยกดิ้นเงิน ดิ้นทอง ที่กลายเป็นอารยะธรรมของชาวพุมเรียง คงความเอกลักษณ์แห่งผ้าทอลายดั้งเดิมเก่าแก่ของพุมเรียง ที่นิยมนำมาทอเป็นลายผ้ามีหลายลายอย่าง ลายยกเบ็ด ลายดอกพิกุล ลายคชสีห์ ลายราชสีห์ ลายครุฑ ลายกินรี ลายเทพพนม ลายเบญจรงค์ ลายศรีวิชัย ลายกริช ลายโบตั๋น ลายราชวัตร ลายก้านต่อดอก ลายผ้ายกเชิงครุฑ และลายนพเก้า ซึ่งช่างทอผ้าที่ ต.พุมเรียง ส่วนใหญ่จะมีลวดลายต้นแบบที่ใช้เป็นตัวอย่างเก็บดอกผ้าเรียกว่า “ครูผ้า ”เป็นผ้าที่ปักด้วยไหม เป็นลวดลายต่างๆ หรือเศษผ้ายกที่ช่างทอเก็บไว้แต่เดิม