“สุขทุกครั้งที่คนนครปฐมยิ้มและพึงพอใจชีวิตที่นี้” จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์
นายกอบจ.นครปฐม ชี้พร้อมลุยเต็มอีก 2 ปี ที่เหลือเปลี่ยนนครปฐมเป็นเมือง “Smart city” ประชาชนมีการแพทย์ทางไกล Tele madicine สร้างการท่องเที่ยวเชื่อมน้ำบกบริการฟรี แก้ปัญหาปากท้อง ตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตร หลังพาพ้นวิกฤตโควิด-19 ลดการทุจริตท้องถิ่นและคืนคนดีสู่สังคมได้
ฉายแวววิสัยทัศน์ที่ดีและกว้างไกลตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้ง “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม” ที่ต่างจากเดินเคาะประตูบ้านแบบเดิมๆ สู่สื่อโซเชียลมีเดีย ผสมกับจอ LED รถหาเสียง ที่ขับวิ่งไปทั่วทุกพื้นที่ ไม่ต่างจากการเมืองสนามใหญ่ และในระหว่างได้รับการคัดเลือกจากประชาชนก็พาพี่น้องชาวนครปฐม ก้าวพ้นวิกฤตโควิด-19 อย่างสมนาม “บ้านใหญ่” ที่ใครต่อใครเรียกขาน
ซึ่งอีกนิยามของความหมายศัพท์ก็หมุดหมายถึงร่มเงาแหล่งพึ่งพาช่วยร้อนกลายเป็นเย็นจากชีวิต ของผู้ริเริ่มสร้างคุณพ่อ “ไชยา สะสมทรัพย์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นั่นทำให้ Posttoday เดินทางมาพบ “จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์” บุตรชายคนโตของบ้านใหญ่หลังนี้ ถึงทิศทางการเป็นนักการเมือง วิชั่นการดูแลประชาชนในอนาคตปี 2566-2567 ที่จะครบวาระในอีก 2 ปี เพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่อให้มองเห็นรูปแบบ แต่ท้ายสุดแล้วทั้งหมดทั้งมวล ตกสู่ภาคประชาชนสิ่งนี้คือผลสัมฤทธิ์ที่สุดของการเป็นตัวแทนพี่น้องคนไทย
‘ชาวบ้านคิด กลุ่มชาวบ้านทำ’
“เสี่ยหนึ่ง” หรือ “จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์” ในวัย 52 บุตรชายคนโตของ “ไชยา สะสมทรัพย์” ซึ่งเป็นเพียงคนเดียวในตระกูลที่ลงสู่สนามการเมืองคนสุดท้าย โดยเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2 ปี ที่แล้ว เพราะต้องการเชื่อมการเมืองระดับประเทศกับท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน จะได้เกิดการพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบที่สมบูรณ์
“ผมเติบโตมาในครอบครัวนักการเมือง หลังจากคุณพ่อเป็นรัฐมนตรี 3 กระทรวง มีคุณอา มีน้องชาย เป็น ส.ส. คุณพ่อได้มาบอกอยากให้เราทำงานด้านนี้ด้วย เพราะท้องถิ่นก็สำคัญ อย่างรูปแบบที่จะบูรณะคลองเจดีย์บูชา ผมได้ไปเจอท่านวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งท่านได้ลงพื้นที่นครปฐม เราจะทำคลองกลับมาให้สวยใสเหมือนเดิม และให้มันเป็นแหล่งท่องเที่ยว คนจอดรถที่ริมแม่น้ำท่าจีน ล่องเรือเข้ามา ระยะทาง 20 กว่ากิโลเมตร จนถึงองค์พระปฐมเจดีย์ มันทำให้ชาวบ้าน 2 ข้างทางค้าขายได้ คุณอาจจะมีเรือโดยสารวิ่งเลยก็ได้ คนขึ้นท่านั้นท่านี้ คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น”
โดยรูปแบบดังกล่าวนึกภาพง่ายๆ เหมือนเช่นกับกรุงเทพมหานคร ที่การต่อรถลงเรือขึ้นฟ้าหรือใต้ดินนั้นเชื่อมต่อกัน โดยไม่เพียงจะก่อให้ความสะดวกสบายต่อชาวบ้านเท่านั้น ยังก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกด้วย
"คือการที่เราพัฒนาจังหวัดมันส่งผลไม่ใช่แค่ประชาชนได้ประโยชน์อย่างเดียว อย่าง Tele medicine การแพทย์ทางไกล ที่ผมเริ่มทำในไตรมาสแรกปี 2566 ได้ หลังจากโควิด-19 ถ้าคุณเป็นคนที่มีเงิน เวลาไม่สบายรักษาเอกชนตรงนั้นไม่มีปัญหา เพราะจะได้รับการบริการเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ลองนึกถ้าเราใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค คุณกำลังพูดถึงประชาชนในนครปฐมที่อยู่ในใช้สิทธิแบบเดียวกับคุณเป็นแสนคน กระจายไปตามโรงพยาบาลจังหวัดและอำเภอทำให้เกิดเป็นปัญหาการรอคิว โครงการนี้คือจะติดตั้งแอปพลิเคชันให้สามารถที่จะดาวน์โหลด นัดหมายหรือขอปรึกษาหารือหมอ ผ่านวีดีโอบนมือถือ ช่วยลดความแออัด ขณะที่ถ้าจะต้องพบแพทย์สามารถนัดผ่านแอปพลิเคชันนั้น ส่วนสำหรับคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนก็ติดตั้งระบบนี้ไว้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่งในจังหวัดนครปฐม ซึ่งตอนนี้เซ็นสัญญาเมื่อกันยายนที่ผ่านมา ไตรมาสแรกจะได้ใช้ระบบนี้กันหลังจากเจอโควิดผ่านที่เราคิดไว้ตั้งแต่สัญญากับประชาชน เพราะมีไม่กี่จังหวัดที่ อบจ.จัดซื้อจัดจ้างวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ครื่องเอกซเรย์หรือโรงพยาบาลสนามเอง"
"ประโยชน์อย่างเดียวที่เราจะได้ไม่ใช่แค่ชาวบ้าน แต่มันจะดีทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ เพราะเรามีหลายจังหวัดมาดูงานที่บ้านเรา เขาเดินทางมาดูแล้วไม่ได้กลับทันที มากิน มาเที่ยว คืออยากจะทำให้เป็นแบบสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ไปถึงแล้วข้อความเด้งบนมือถือ อยากให้จุดที่ใครมานครปฐมแล้วเป็นแบบนั้น สถานที่กิน เที่ยว โบราณสถาน คาเฟ่ ผสมผสานกัน ไม่ใช่แบบเที่ยวเมืองโบราณ ตอนนี้กำลังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมสร้างการท่องเทียวที่รวบรวมสถานที่สำคัญและครอบคลุม เที่ยวแบบเต็มวัน เที่ยวแบบครึ่งวัน แบ่งสีเหลือง สีเขียว สีแดง เช้าไปวัด แวะร้านอาหาร บ่ายไปอีกทีแล้วแวะคอฟฟี่คาเฟ่ ก่อนกลับไปรัฐวิสาหกิจชุมชนซื้อของฝาก โดยเราจะมีรถคอยรับ-ส่งแบบฟรี ผมอยากทำ จ.นครปฐมที่เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้"
นครปฐม ‘Smart city’ คนเมืองพัฒนา
ไม่เพียงนอกจากการสร้างโครงข่ายพื้นฐานของประชาชนแบบครอบคลุม แต่มองไกลไปถึงการทำให้ท้องถิ่นนี้ทันสมัยตามความประสงค์ต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยการวางหมุดไว้ในวาระที่เหลืออีก 2 ปี นั้น เราจะได้เห็นเมืองนครปฐมเป็นเมือง ‘SMART CITY’ หรือ 'เมืองอัจฉริยะ'
“นี่คือนิยามการทำงาน ผมใช้คำพูดนี้มาตั้งแต่ต้น ชาวบ้านคิด กลุ่มชาวบ้านทำ เพราะเรากลุ่มการเมืองที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่มชาวบ้าน’ เราอยากจะใกล้ชิดชาวบ้าน ฉะนั้นชาวบ้านเขาอาจจะคิดไม่ถึงวิธีแก้ไข แต่เขารู้คิดว่าอะไรเป็นปัญหาของเขา เวลาเจอเขา เขาก็จะพูดคิดปัญหาและเราก็คิดรูปแบบแก้ให้เขา นั้นคือวิธีการทำงานของผม ซึ่งอีก 2 ปี ที่จะครบวาระ ผมอยากทำให้นครปฐมเป็นจังหวัดที่สมาร์ทซิตี้ที่จะได้เห็นกันในปีหน้านี้” จิรวัฒน์ กล่าว
โรดแมพของภาพจ.นครปฐม ที่จะเกิดขึ้นในยุคสมัยของตน โดยยกตัวอย่างนโยบายโครงการต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนาชีวิตและคุณภาพของประชาชนให้ดีขึ้น อาทิ
1.ตลาดกลางเกษตร ที่อยู่ในระหว่างการคิดให้ตกผลึก ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งชาวบ้านผู้ผลิตและพ่อค้าคนกลาง โดยมีต่างชาติมาเป็นคู่ค้า
2.การทำให้ประชาชน 1 คนมี 2 อาชีพ ซึ่งช่วยความยั่งยืนทางการเงิน เนื่องจากเชื่อมต่อกับโรงงานถามถึงความต้องการผลิตภัณฑ์และให้ชาวบ้านปลูกพืชผลขาย นำมาซึ่งเงินรายสัปดาห์และรายปักษ์ นอกเหนือจากอาชีพหลักเงินเดือน
และรูปแบบนโยบายอื่นๆ ซึ่งจะถูกคิดและสร้างทำให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ จากพฤติกรรมการทำงานร่วมทำ ร่วมเจอะเจอปัญหา
“บ้านเราทำเกษตร เลี้ยงปลา กุ้ง เก่ง แต่ปัญหาคือขายไม่เป็น ทีนี้เราจะทำตลาดกลางเกษตรขึ้น คือการรวบรวมคนในจังหวัดทั้งหมด เราก็จะมีข้อมูลแต่ละเจ้าทำได้เท่าไหร่ สมมุติในอีก 3 เดือน มียอดสั่ง 3 พันตัน ที่ราคายุติธรรม เราก็จะแจ้งในกลุ่มถามคุณส่งได้กี่ตันๆ โดยที่อบจ. มีหน้าที่แค่สร้างห้องเย็นและเก็บสต๊อกถึงเวลาต่างชาติมาขนซื้อ แต่มันเป็นการตลาดที่ยังไม่สมบูรณ์ เหตุเพราะพ่อค้าคนกลางก็เป็นอีกหนึ่งกลไก ก็ต้องคิดให้สมบูรณ์” จิรวัฒน์ ระบุ ก่อนจะขยายให้เห็นต่อถึงความมั่นใจของการทำงานเพื่อพี่น้องชาวนครปฐมพัฒนาได้อย่างไรในอนาคต
“ถ้าถามเรื่องการทำงาน ผมเลือกที่จะลงพื้นที่มากกว่าในห้องทำงาน เพราะพอเราลงในพื้นที่เราได้ไปเห็นอะไรที่มันควรจะทำ กว่าการที่จะมานั่งในห้อง ซึ่งมีรายงานข้อมูลเป็นรูปและตัวหนังสือแต่มันก็ไม่เพียงพอ ถ้าเราได้ไปลงเห็นเอง สัมผัสเอง พูดคุยกับคนในพื้นที่มันเป็นประโยน์ อย่างกรณีเขื่อนกันถนนที่ตำบลบางระกำ ผมต้องไปทำงาน ก่อนไปผมบังเอิญไปเปิด google map ให้พาไปเส้นทางที่ใกล้สุด พบว่าพื้นที่เลนถนนสูงต่ำไม่เท่ากันกว่า 30 เซ็นติเมตร ก็เร่งดำเนินการโทรสอบถามปรากฏว่าเกิดจากก่อนหน้าผมมาเป็น ได้ยื่นของบไปแล้วแต่งบประมาณไม่มาถึง พอไปลงพื้นที่เดินสำรวจ 2-3 กิโลเมตร ทำให้รู้สาเหตุมาจากมีลำน้ำข้างถนนและชาวบ้านจะต้องสูบเพื่อใช้ในนาสวนและเลี้ยงปลา มันทำให้พอน้ำแห้งแล้วดินทรุด ทำถนนอีกก็พังแบบเดิมจึงต้องสร้างกำแพงกั้นก่อนสร้างถนน งบประมาณมากกว่าแต่พอทำแล้วถนนใช้ได้ดีและชาวบ้านก็ยังได้ใช้น้ำ นั้นคือการทำงานแบบลงพื้นที่เห็นปัญหา
“คือผมจะทำงานมีส่วนร่วมผสมด้วย ยกตัวอย่าง อยู่ในอบจ. ข้าราชการทุกคนสามารถขัดได้ด้วยข้อมูลและเหตุผล ผมไม่ชอบดีครับๆ มันไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างเมื่อวันจันทร์ที่ 28 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ได้เชิญไปร่วมประชุมพูดคุยหัวข้อของการทุจริต ซึ่งผมก็ได้ให้แง่คิดและประสบการณ์จากการลดคอรัปชันในการขุดลอกคลองของจ.นครปฐมที่ผมทำ ด้วยวิธีการให้เครื่องจักรและคนโดยที่ชุมชนเป็นคนควบคุมกำหนดงานด้วยหนังสือฉบับเดียว มันก็ลดการคอรัปชัน เราจับอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาทางออกให้เขา คนไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมายแต่ส่วนมากทำเพราะความจำเป็น ซึ่งจากเรื่องที่ทำผลที่ได้ไม่เพียงได้ในแบบที่ท้องถิ่นต้องการ ยังกระจายงานและการประสานงานกับราชทัณฑ์ขอนักโทษที่ดี มีความสามารถ ให้มีรายได้จากงบจัดจ้าง 300 บาท หลังพ้นโทษมีทุนชีวิต หรือหากทักษะดีก็มีโรงงานประสานให้ทำงาน เป็นการคืนคนดีสู่สังคมอีกด้วย ”
นักธุรกิจค้าความพึงพอใจ
หลังจากลัดเลาะมุมคิดและนโยบายที่เกิดขึ้นในช่วงสภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ท่ามกลางการพยุงและพัฒนาสร้าง ย่อมเกิดความยากและท้าทายรวมไปถึงสร้างความเหน็ดเหนื่อยไม่น้อย แต่บุตรของบ้านใหญ่นครปฐมบอกว่า “สุขใจ” ที่ได้เห็นผลงานของตนกับคณะสร้างรอยยิ้มและชีวิตที่ดีขึ้นให้กับพี่น้องร่วมจังหวัด
“4 ปี ทำทุกอย่างให้มันสำเร็จตามที่รับปากตอนก่อนหาเสียงอาจจะเลิกเลยก็ได้ ใครคิดว่ามีไอเดียดีๆ มาพัฒนาจังหวัดก็ได้ ถามว่าวันนี้จากที่เราเป็นเอกชนมาก่อน ทำงานผู้บริหารอยากได้อะไรก็ทำๆ ไม่ต้องมีระเบียบ ไม่ต้องขอ ข้อแตกต่างคือ พอเราเป็นเอกชน จุดมุ่งหมายของเราเป็นผลกำไรที่เป็นรูปของ ‘เงิน’ แต่พอมาเป็นนักการเมืองวันนี้จุดมุ่งหมายเราเปลี่ยนไป คือ 'กำไรเป็นความพึงพอใจประชาชน' บางทีมันก็มีความสุขเหมือนกัน ทำอะไรแล้วประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ จากโครงการที่เราทำ แล้วเห็นเขายิ้มแย้มแจ่มใส เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่ง”
“ก่อนได้รับการคัดเลือกในช่วงการตัดสินใจก็ลิสต์ปัญหาต่างๆ ของพื้นที่จ.นครปฐมออกเป็น 1-2-3-4-5 เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด” จิรวัฒน์ สรุปทั้งหมดของการเกิดความเปลี่ยนแปลงในวันนี้และอนาคตของเมืองนครปฐม
ภายหลังการสัมภาษณ์ “จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์” จบลง ไม่เพียงทิ้งแนวคิดที่สามารถนำไปปรับใช้เท่านั้น หากแต่เงาที่ทอดยาวอีกเงายังทำให้เกิดมุมมองของนักพัฒนาบริหารเมืองใหญ่เบอร์ต้นๆ ของไทย อันจะนำมาเป็นต้นแบบให้รับมือในอีกไม่กี่วันข้างหน้าคือปีใหม่ 2566 บ้านเมืองจะขยับดีขึ้นหลังพ้นวิกฤตโควิด-19 ประเทศและตัวเรา จะได้พัฒนาไปพร้อมๆ กัน