เปิดประวัติ เสกสกล อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษานายกฯ องครักษ์พิทักษ์ประยุทธ์
เปิดประวัติ เสกสกล อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี คนล่าสุด หลังมีคำสั่งแต่งตั้งมีผลวันนี้ จับตา กลับไปร่วมงานการเมืองกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่พรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง นายเสกสกล อัตถาวงศ์ เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐนตรี เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
โดยรายละเอียดคำสั่งเป็นดังนี้
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๖) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔
นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้ง นายเสกสกล อัตถาวงศ์ เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐนตรี เพื่อทำหน้าที่ในการให้
คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับ
การร้องขอ และให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาฯ
สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามระเบียบของ
ทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๖
(พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
นายกรัฐมนตรี
เปิดประวัติที่ปรึกษานายกฯ
นายเสกสกล เดิมชื่อ นายสุภรณ์ ก่อนนี้เคยดำรงตำแหน่งอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง อดีตส.ส.พรรคไทยรักไทย เคยเป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
นายเสกสกล เกิดเมื่อวันที่วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2507 ที่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรของนายประวัติ-นางสุ้น อัตถาวงศ์ และเป็นน้องชายของนายสัมภาษณ์ อัตถาวงศ์ อดีตส.ส.นครราชสีมา และพี่ชายนาย ชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษานายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
การศึกษา
- ระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนครบุรี
- จบ มศ.5 โรงเรียนสุราษฎร์ธานี
- ปริญญาตรี ศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ปริญญาเอก สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
- ปัจจุบันกำลังศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง สถาบันพระปกเกล้า รุ่นที่ 25
การทำงานทางการเมือง
นายสุภรณ์ เริ่มทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าหน้าที่กองหนังสือเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศ และใช้เวลาว่างในการเป็นผู้ช่วยผู้ดำเนินงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา พรรคกิจสังคม
เป็นผู้ช่วยทำงานให้เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
ต่อมาจึงได้ย้ายติดตามนายมนตรี ด่านไพบูลย์ มาสังกัดพรรคความหวังใหม่ หลังจากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าอาสาสมัครรณรงค์เลือกตั้งของพรรคพลังธรรม ในปี พ.ศ. 2538 และลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกที่จังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในปี พ.ศ. 2539 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
อดีตส.ส. ไทยรักไทย - เพื่อไทย
การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 นายสุภรณ์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในสังกัดพรรคไทยรักไทย และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครั้งแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 74
เส้นทางการเมืองรัฐบาลประยุทธ์
ต่อมาใน พ.ศ. 2561 นายสุภรณ์ได้ย้ายเข้ามาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ เขาลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ภายหลังเขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลการแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลมีราคาแพง
ในปี พ.ศ. 2565 ได้ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และเข้าร่วมพรรครวมไทยสร้างชาติ กระทั่งในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน เขาได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐบาล และยุติบทบาทในพรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจากกรณีคลิปเสียงเกี่ยวกับการจัดผลประโยชน์ในโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาล
กระทั่งวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2565 นายเสกสกลได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างเป็นทางการต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 นายเสกสกลได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคเทิดไท ก่อนจะลาออกจากสมาชิกพรรค เมื่อที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก่อนที่ในวันนี้ 9 มกราคม พ.ศ. 2566 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีดังกล่าว
จับตา รีเทิร์น รวมไทยสร้างชาติ
นายเสกสกล เปิดเผยถึงการเข้าร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่า เมื่อนายกฯ มีความชัดเจนถึงอนาคตทางการเมืองไปรวมงานกับพรรคร่วมไทยสร้างชาติ ก็ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคเทิดไท สาเหตุที่ลาออกก่อนนี้ ไม่มีความขัดแย้งกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือคนในพรรคและยินดีที่จะทำงานการเมืองร่วมกับพรรคไม่ว่าจะมีตำแหน่งใดๆ หรือไม่
นายเสกสกล ย้ำว่า มีความตั้งใจที่อยากจะเข้ามาช่วยงานพล.อ.ประยุทธ์และสนับสนุนให้ได้เป็นนายกฯอีกครั้ง อีกทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติยังถือว่าเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกันคือ ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตาว่า หลังเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างเป็นทางการของพล.อ.ประยุทธ์ในวันเดียวกันนี้ นายเสกสกล ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามว่า'องค์รักษ์พิทักษ์ประยุทธ์'จะติดตามไปร่วมงานทางการเมืองกับรวมไทยสร้างชาติตามเจตนารมย์เดิมหรือไม่