posttoday

'จรุงวิทย์ ภุมมา'กางกม.หัวหน้าพรรคถือหุ้นสื่อไม่กระทบรับรองผู้สมัครส.ส.

02 มิถุนายน 2566

“จรุงวิทย์ ภุมมา" อดีตเลขาฯ กกต.กางข้อกฎหมาย ศาลรธน.ตัดสิทธิหัวหน้าพรรคการเมืองปม “ถือหุ้นสื่อ” แต่ไม่กระทบการรับรองส่งผู้สมัครส.ส.

เมื่อวันที่ 2มิ.ย.2566 พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และนายทะเบียนพรรคการเมือง โพสต์เฟซบุ๊ก ยกเคสตัวอย่างอธิบายข้อกฎหมาย กรณีการถือหุ้นสื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ที่เซ็นรับรองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ถูกตัดสิทธิปมถือหุ้นสื่อ ซึ่งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของหัวหน้าพรรคการเมือง ไม่ได้มีกำหนดข้อห้ามการเป็นเจ้าของ หรือ ผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือ สื่อมวลชนไว้ จึงไม่ได้ส่งผลกับ ส.ส. ที่เซ็นรับรอง และชนะการเลือกตั้ง  
 

โดยข้อความที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ โพสต์ระบุว่า  คำถาม นายนิทรา เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง จดทะเบียนโดยถูกต้อง เมื่อมีการเลือกตั้ง นายนิทรา ได้ออกหนังสือรับรองให้ผู้สมัครของพรรคไปยื่นสมัครรับเลือกตั้ง นายนิทรา ลงสมัครแบบบัญชีรายชื่ิของพรรค และได้รับการเสนอชื่อจากพรรคให้เป็นนายกรัฐมนตรี  

ต่อมาภายหลังจากวันเลือกตั้ง มีผู้ร้องเรียนว่า นายนิทรา ถือหุ้นสื่อ Utv หากศาลตัดสินว่าถือหุ้นสื่อUtv จริงการถูกตัดสิทธิ์ จะมีผลถึงการรับรองผู้สมัครฯ ทำให้การรับรองจากนายนิทราฯ ไม่ชอบต้องจัดการเลือกตั้งใหม่หมดหรือไม่อย่างไร

\'จรุงวิทย์ ภุมมา\'กางกม.หัวหน้าพรรคถือหุ้นสื่อไม่กระทบรับรองผู้สมัครส.ส. \'จรุงวิทย์ ภุมมา\'กางกม.หัวหน้าพรรคถือหุ้นสื่อไม่กระทบรับรองผู้สมัครส.ส.

ตอบ นายนิทรา หัวหน้าพรรคการเมือง ที่มีการจัดตั้งฯ โดยชอบด้วยกฎหมาย มีชื่ออยู่ในข้อบังคับพรรคการเมือง ที่มีนายทะเบียนพรรคการเมือง รับรองประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อมีการเลือกตั้ง นายนิทรา หัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองการส่งผู้ได้รับการสรรหา (primary) เพื่อเป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ตาม มาตรา 56 พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ มาตรา 45 พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ ภายหลังวันเลือกตั้ง 

หากศาลตัดสินว่า นายนิทรา ถือหุ้นสื่อฯ มาก่อนเลือกตั้ง 5 ปี แม้ว่า นายนิทรา ออกหนังสือรับรองให้กับผู้สมัครฯ ในช่วงขาดคุณสมบัติมีลักษณะต้องห้าม แต่ก็เป็นคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของ นายนิทรา ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่การลงนามรับรองให้กับผู้สมัครของพรรคเป็นการรับรองในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของหัวหน้าพรรคการเมือง ก็มิได้ห้ามหัวหน้าพรรคการเมืองเป็นเจ้าของ หรือ ผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน แต่อย่างใด ตาม ม.16 ,24,9 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ประกอบ ม.98 รัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร้องขอให้ตรวจสอบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี และให้ตรวจสอบด้วยว่า คุณสมบัติของหัวหน้าพรรคก้าวไกล จะส่งผลต่อการเซ็นรับรองผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคก้าวไกล หรือไม่ด้วย

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุถึงกรณีของนายพิธา หากมีการร้องในประเด็นเรื่องเซ็นรับรองสมาชิกพรรค จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดหรือไม่ ว่า “ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องเลือกตั้งซ่อมใหม่ทั้งหมด”