posttoday

ครม.ไฟเขียวร่างกม.แลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศ

06 กรกฎาคม 2566

ครม.อนุมัติหลักร่างกม.แลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศป้องกันไม่ให้ไทยถูกกีดกันเป็นประเทศไร้ความโปร่งใสทางภาษี และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ ตามการร้องขอของประเทศคู่สัญญาภายในเดือน กันยายน 2566

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. (5 กรกฎาคม 2566) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความใน พ.ร.ก. การแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 โดยให้ กค. แจ้งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) เพื่อให้ความตกลงพหุภาคี ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ(Multilateral Competent Authority Agreement on Automatic Exchange of Financial Account Information: MCAA CRS) มีผลผูกพัน เมื่อร่างกฎกระทรวงฯ และกฎหมายลำดับรอง ฉบับอื่น ๆ ของ พ.ร.ก. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศ เกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว
 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน พ.ร.ก. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศ เกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล ตามการร้องขอของประเทศคู่สัญญา และการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ ตามมาตรฐานที่ OECD กำหนด มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2566 จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายลำดับรองเพื่อรองรับการดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงิน ดังกล่าวให้ทันภายในเดือน กันยายน 2566 (ซึ่งไทยได้ให้คำมั่นว่าไทยจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูล CRS ตามที่ Global Forum กำหนด โดย ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2562) เพื่อ ไม่ให้ไทยถูกพิจารณาเป็นประเทศที่ไม่มีความโปร่งใสทางภาษี ซึ่ง กรมสรรพากร พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้ไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณี และข้อผูกพันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงิน ตามความตกลง MCAA CRS และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติได้ทันภายในเดือน กันยายน 2566
 

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับหน้าที่ ของผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีทางการเงินที่เป็นสถาบันการเงินในไทย ซึ่งต้อง ดำเนินการตาม พ.ร.ก. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศ เกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 โดยเป็นการรายงานข้อมูลบัญชีทางการเงินของลูกค้า ที่เป็นชาวต่างชาติผู้ไม่มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในไทยกับประเทศคู่สัญญาเป็นประจำรายปี แบ่งเป็น 6 ลักษณะ ได้แก่ 
1) ผู้มีหน้าที่รายงาน 
2) การตรวจสอบบัญชีกรณีทั่วไป 
3) การตรวจสอบบัญชีของบุคคลธรรมดา 
4) การตรวจสอบบัญชีของนิติบุคคล 
5) หลักเกณฑ์พิเศษสำหรับการตรวจสอบข้อมูลลูกค้า 
และ 6) เบ็ดเตล็ด 

ซึ่งกระทรวงการคลังได้พิจารณาตาม ม.27 และ ม.32 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินฯ พ.ศ. 2561 แล้ว เห็นว่า ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ เนื่องจากไม่มี งบฯ รายจ่ายเพิ่มเติมในการดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงฯ และสามารถใช้บุคลากร เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ตามร่างกฎกระทรวงฯ ในขั้นต้นได้ และได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว ซึ่งผู้แสดง ความคิดเห็นไม่ได้คัดค้านในหลักการของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว