posttoday

อดีตอธิบดีดีเอสไอขอคืนความยุติธรรม คดี 99 ศพ ลั่นโดนทหารยศสูงขู่ย้าย

08 กรกฎาคม 2566

"ธาริต" น้ำตาคลอ ขอ นายกฯใหม่ คืนความยุติธรรม คดี 99 ศพ ลั่น ผมพร้อมติดคุก เผย คำขู่ ทหารยศสูง "อย่าดำเนินคดี 99 ศพ ถ้าไม่ฟังกัน พวกอั๊วปฏิวัติ แล้วลื้อจะโดนย้ายคนแรก"

8 กรกฎาคม 2566 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอและตัวแทนญาติคนตาย 99 ศพ ได้แถลงผ่านสื่อมวลชน ร้องขอศาลฎีกาให้คืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิต 99 ศพ และครอบครัวผู้ตายกับผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ในเหตุการณ์เมษายน – พฤษภาคม 2553 “99 ศพ สมควรได้รับคืนความยุติธรรมและพ้นจากตราบาปว่าเป็นผู้ผิด”

ประเด็นที่ 1
​สืบเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมของ นปช. เมื่อช่วงเมษายน – พฤษภาคม 2553 ศูนย์ ศอฉ. โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ออกคำสั่งให้ทหารใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 เข้าสลายการชุมนุม ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งให้ทำร้ายประชาชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และเสียชีวิต 99 ศพ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งมีข้าพเจ้า นายธาริต ฯ เป็นอธิบดีในขณะนั้น จำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาความยุติธรรม ด้วยการดำเนินคดีต่อผู้ออกคำสั่งให้ทำร้ายประชาชน ในข้อหาตามมาตรา ป.อาญา มาตรา 288 – 289

​จากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของข้าฯ ในนามอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนั้น ส่งผลให้ผู้ต้องหาในคดี คือ นายอภิสิทธิ์ ฯ และนายสุเทพ ฯ ยื่นฟ้องพนักงานสอบสวนในคดี  ตามมาตรา 157 มาตรา 200 โดยกล่าวหาว่าพนักงานสอบสวนกลั่นแกล้งพวกตนให้ถูกดำเนินคดี​เพื่อรักษาความยุติธรรม ทั้งต่อพนักงานสอบสวน รวมถึงผู้เสียชีวิต 99 ศพ และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ข้าพเจ้าเห็นว่า หากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้ทำหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแล้วถูกฟ้องกลับและถูกดำเนินคดีตาม ป.อาญา มาตรา 157 มาตรา 200 อาจก่อให้เกิดลัทธิเอาอย่างด้วยการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย มาตรา 157 มาตรา 200 ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะกลายเป็นแบบอย่างที่กระทำความผิดแล้วไม่ต้องรับผิด เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐกลัวที่อาจจะต้องได้รับโทษอาญาเสียเอง

​ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.อาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยยื่นคำร้องผ่านศาลฎีกา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 212 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  ซึ่งหมายความว่าศาลอาญาและศาลฎีกาจะวินิจฉัยเสียเองไม่ได้
 

ประเด็นที่ 2
​ตามที่มีข่าวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า นายธาริต ได้เลื่อนการฟังคำพิพากษาศาลฎีกาหลายๆ ครั้ง โดยอาจเป็นการหลบเลี่ยงอย่างน่าสงสัยนั้น นายธาริต ได้ชี้แจงว่า มีการขอศาลอาญาเลื่อนคดีหลายๆ ครั้งจริง แต่มีสาเหตุมาจากเหตุสำคัญถึง 4 ประการ ได้แก่
 
(1) การส่งหมายศาลในครั้งแรกไม่ตรงกับภูมิลำเนาจำเลย
(2) จำเลยเจ็บป่วยเป็นโควิดสองครั้ง เส้นเลือดในสมองตีบ และเข้ารับการผ่าตัดไตทั้ง 2 ข้าง ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 และโรงพยาบาลศิริราช
​(3) มีญาติผู้ตายของ 99 ศพยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในคดีนี้หลายราย หลายครั้ง และ
​(4) จำเลยยื่นขอให้ศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ใช้บังคับ   กับคดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
​ซึ่งเหตุจำเป็นทั้ง 4 ประการดังกล่าว ศาลอาญาต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาเพราะต้องส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งคำร้อง ด้วยเหตุคดีอยู่ในอำนาจของศาลฎีกานั้นเอง การเลื่อนอ่าน คำพิพากษาคดีนี้หลายๆ ครั้ง จึงมีเหตุสำคัญและจำเป็นทั้ง 4 ประการ ดังกล่าว ซึ่งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้เกิดจากความผิดของนายธาริต ที่จะหลบเลี่ยงไม่ฟังคำพิพากษา
 

ประเด็นที่ 3
​นายธาริต  และญาติของผู้ตายจำนวนมาก มีความกังวลและไม่สบายใจต่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่จะได้มีการอ่านโดยศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) จึงมีการร้องขอโดยญาติผู้ตาย เข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามจำนวนมากหลายราย ส่วนนายธาริต ฯ เอง ก็ได้ร้องขอให้ศาลฎีกาส่งคดีไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 157 มาตรา 200 แห่ง ป.อาญา ที่จะใช้บังคับคดีนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ขณะนี้คำร้องต่างๆ ที่กล่าวมายังไม่ทราบผลว่าศาลฎีกาได้สั่งคำร้องอย่างไร โดยเฉพาะได้สั่งให้ส่ง มาตรา 157 และมาตรา 200 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่
 
ประเด็นที่ 4
​ข้อกังวลและไม่สบายใจของนายธาริต  และญาติผู้ตายเป็นอย่างยิ่งคือ ด้วยความเคารพต่อศาลฎีกา แม้ว่าศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องนายธาริต ฯ กับพวก เพราะเหตุว่าได้กระทำการตามหน้าที่และผู้ตายทั้ง 99 ศพ ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ แต่หากศาลฎีกาจะได้พิพากษากลับไม่เป็นไปตามศาลชั้นต้น โดยลงโทษนายธาริต ฯ กับพวก ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษากฎหมายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วย่อมเกิดผลอย่างใหญ่หลวงมาก เพราะอาจพิพากษาระบุเช่นเดียวกับศาลอุทธรณ์ว่า การที่นายธาริต ฯ กับพวก พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ ฯ กับนายสุเทพ ฯ นั้น ไม่ชอบเป็นความผิดเพราะนายอภิสิทธิ์ ฯ และนายสุเทพ ฯ กระทำการออกคำสั่ง ศอฉ. ให้ทหารใช้อาวุธสงครามไปยิงทำร้ายประชาชนจนเสียชีวิต 99 ศพ นั้น เพราะเกิดเหตุร้ายแรงจากการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ตายดังกล่าว การสั่งให้ระงับเหตุของนายอภิสิทธิ์ ฯ และนายสุเทพ ฯ จึงเป็นกรณีสมควรแก่เหตุแล้ว ผลก็จะเปรียบเสมือนการ   “รับรองยืนยันหรือการันตี” ให้นายอภิสิทธิ์ ฯ และนายสุเทพ ฯ และผู้เกี่ยวข้องในเหตุร้ายแรงนี้เป็นผู้บริสุทธิ์ เกิดเป็นบรรทัดฐานแบบอย่าง ในขณะที่ผู้ตายทั้ง 99 ศพ พร้อมครอบครัว

และผู้บาดเจ็บอีก 2,000 กว่าคนจะเป็นอันสิ้นสุดที่จะได้รับความยุติธรรมและการเยียวยาในความเสียหายทันที และเป็นการโยนตราบาปให้กับผู้ตาย 99 ศพ ว่าเป็นผู้ผิดที่สมควรตาย นานาประเทศจะเกิดข้อสงสัยในกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอย่างยิ่ง อาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงทำนองนี้ได้อีกในประเทศไทย เพราะได้แบบอย่างว่าทำแล้วไม่ต้องรับผิดและเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง        ดีเอสไอและหน่วยงานอื่นๆ จะไม่กล้าดำเนินคดีเพราะอาจต้องติดคุกเสียเอง คำพิพากษาของ     ศาลฎีกาซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานในคดีนี้ จึงสำคัญอย่างที่สุด
 
บทสรุป
ดังที่นายธาริต ฯ ได้แถลงชี้แจงมาเป็นลำดับก็ด้วยนายธาริต ฯ มีความประสงค์จะร้องขอให้ศาลฎีกาได้โปรดเมตตาคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ซึ่งถึงแก่ความตาย 99 ศพ พร้อมครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้บาดเจ็บอีก 2,000 คน รวมถึงตัวนายธาริต ฯ กับพวกที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้รักษากฎหมายด้วย ในสถานการณ์ของบ้านเมืองเช่นนี้คงมีแต่ศาลยุติธรรม โดยเฉพาะศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่จะผดุงความยุติธรรมตามความเป็นจริง และความยุติธรรมตามธรรมชาติที่สมควรจะพึงมีอยู่ต่อไป ด้วยความเคารพและคาดหวังเป็นอย่างสูง “

แล้วในวันที่ 10 กรกฎาคม นี้จะเกิดอะไรขึ้น” นายธาริต ฯ บอกว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีผลต่อความยุติธรรมว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะนายธาริตฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่อง ป.อาญา มาตรา 200 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คำร้องได้ยื่นเมื่อวันศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม นี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญว่า ศาลอาญาอาจส่งคำร้องไปให้ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกามีคำสั่งทันทีให้ยกคำร้องที่ขอศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วสั่งศาลอาญาอ่านคำพิพากษาจำคุกนายธาริต ฯ ส่งตัวเข้าคุกทันที หรือศาลฎีกาอาจสั่งให้ส่งคดีไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

อนึ่ง แม้ว่าศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นจะได้พิพากษายกฟ้องนายธาริต ฯ กับพวกและระบุว่าผู้ตาย 99 ศพ ไม่ใช่ผู้กระทำผิด แต่ศาลอุทธรณ์กลับพิพากษาว่าเป็นความผิด คำพิพากษาดังกล่าวได้เกิดขึ้นในช่วงที่ประธานศาลอุทธรณ์เป็นผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเคยร่วมชุมนุมกับ กปปส. และเมื่อคดีของนายธาริต ฯ กับพวก ขึ้นสู่ศาลฎีกาบุคคลดังกล่าวก็ได้ขยับขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาเช่นกัน นายธาริต ฯ กล่าวว่าประเด็นนี้เป็นข้อกังวลอย่างยิ่ง
 

"ในขณะนั้นผมถูกเรียกตัวไปในค่ายทหารแห่งหนึ่งในถนนราชดำเนิน เป็นนายทหารยศสูงซึ่งไม่ขอเอ่ยชื่อ เขาบอกว่า ธาริตอย่าดำเนินคดี 99 ศพ ถ้าไม่ ฟังกันพวกอั๊วปฏิวัติแล้วลื้อจะโดนย้ายคนแรกผมถือว่านี่คือคำขู่ ดังนั้นเมื่อปฏิวัติไม่ถึง 24 ชั่วโมงผมก็ถูกย้าย"

อย่างไรก็ตามตนขอเรียกร้องให้นายกคนใหม่ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระ ซึ่งผมขอใช้คำว่า senior Super board เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดดึงความยุติธรรมให้ 99 ศพ ตนพร้อมไปศาลในวันจันทร์นี้ และพร้อมติดคุก ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ไม่สูญเปล่าเพราะจะเป็นจุดแตกหัก


"ผมพร้อมติดคุกและยืนยันเป็นเพียงข้าราชการธรรมดาที่ทำงานอย่างมืออาชีพ หากผมจะต้องติดคุกอีกเหมือนคดีทุจริตโรงพักร้าง 365 แห่งทั่วประเทศ ที่ผมก็ได้    ทำหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย (แต่กลับถูกนายสุเทพ ฯ ฟ้องกลับ) ผมก็จำเป็นต้องเคารพและปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ผมไม่อาจทำใจยอมรับได้ โดยต้องเสียใจอย่างที่สุด " นายธาริต น้ำตาคลอ ระหว่างแถลงข่าว

นายธาริต ระบุอีกว่า การออกมาชี้แจงครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิครั้งสุดท้ายหรือ Last War เพื่อแสวงหาความยุติธรรมว่าสมควรมีอยู่จริง และเพื่อใช้สิทธิชี้แจงให้สาธารณชนเข้าใจเหตุการณ์ตายของ 99 ศพ และตัวของตนจากข้อความจริงว่าเป็นอยู่อย่างไร และขอให้กำลังใจ ต่อข้าราชการที่ล้วนทำงานอย่างมืออาชีพทุกคนว่าเราจะต้องไม่ย่อท้อต่อการแสวงหา  ความยุติธรรม