posttoday

เกาะติดแก้ราคาปาล์มพรุ่งนี้ ครม.จี้ ปตท.ซื้อ B100 ตามราคาประกาศ

09 มิถุนายน 2567

เกาะติด ครม.เศรษฐกิจ 10 มิ.ย.แก้ปัญหาราคาปาล์ม บีบกลุ่ม ปตท.รับซื้อ B100 ตามราคาประกาศของ สนพ.หวังดันราคาปาล์ม ชี้กลุ่มบางจากสนองนโยบายรัฐบาล จี้กระทรวงพลังงาน หากคุมผู้ค้ามาตรา 7 ซื้อตามราคากลางไม่ได้ เสนอยกเลิกประกาศ ป้องกันผู้ค้าน้ำมันใช้เป็นข้ออ้างขอส่วนลด B100

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2567 ในวันที่ 10 มิ.ย.2567

ทั้งนี้ จะมีการหารือการแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ ในประเด็นเกี่ยวกับผู้ค้ามาตรา 7 ต้องซื้อ B100 ตามราคาประกาศโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)  กระทรวงพลังงานอย่างเคร่งครัด

สำหรับประเด็นดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2567 โดยจะกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องปฎิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ซื้อ B100 ตามราคาประกาศของ สนพ.

นอกจากนี้ ประเด็นดังกล่าวได้พิจารณาเห็นว่าผู้ค้ามาตรา 7  เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีกฎหมายกำหนดโทษทางแพ่งและอาญาในการกระทำความผิดของผู้บริหารตาม มาตรา 311 ซึ่งถือว่าผู้บริหารของบริษัทผู้ค้ามาตรา 7 เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรานี้อย่างชัดเจน

ขณะที่ผู้ค้ามาตรา 7 ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในเรื่องการขายไบโอดีเซลในประเทศอัตราลิตรละ 0.20–5.30 บาท (ข้อมูลตั้งแต่ 1 ม.ค.2567–7 มิ.ย. 2567) ถ้าไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.รัฐบาลมีสิทธิสั่งเลิกเงินอุดหนุนทันที เพื่อตอบโต้การเอาเปรียบสังคมได้เช่นกัน

รวมทั้งผู้ค้ามาตรา 7 ได้กำไรจากค่าการตลาดระหว่าง 1.2432 – 2.0334 บาทต่อลิตร (ข้อมูล ณ วันที่ 7 มิ.ย. 2567) ในการขายหน้าปั้ม ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงและรัฐบาลเข้ามาควบคุมยากเพราะพยายามปกปิดข้อมูล

ขณะที่การประกาศราคา B100 โดย สนพ.ทุกวันจันทร์กำหนดสูตรคำนวณราคาที่เป็นธรรมแก่ผู้ผลิต B100 อันประกอบด้วย ต้นทุนจริงวัตถุดิบ (น้ำมันปาล์มดิบ) บวกต้นทุนการผลิตและกำไรที่เหมาะสมให้ผู้ผลิต B100

ดังนั้น ผู้ค้ามาตรา 7 ไม่ควรขอส่วนลดจากผู้ผลิต B100 เพื่อผลกำไรตนเอง เพราะส่วนลดไม่ใช่เป็นส่วนกำไรตนเอง

รวมทั้งส่วนขอลดปัจจุบันกินส่วนทั้งต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิตและกำไรเล็กน้อยของผู้ผลิต B100 ไปเป็นกำไรของผู้ค้ามาตรา 7 ทำให้ผู้ผลิต B100 ทุกรายขาดทุนทั้งหมด

ดังนั้นจึงทำให้ผู้ผลิต B100 ต้องหาวัตถุดิบต้นทุนต่ำที่สุดมาทดแทนจึงกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่ราคาการซื้อทะลายปาล์มจากเกษตรกรในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง