posttoday

ออน เผย ผู้สมัครสว.พร้อมแฉขบวนการ ฮั้วเลือกสว.ระดับประเทศ

08 กรกฎาคม 2567

ที่ประชุมสว. เสียงส่วนใหญ่ 101 เสียง เห็นด้วยตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ตรวจสอบเลือกสว. กิตติศักดิ์ เผย ต้องทำหน้าที่จนนาทีสุดท้าย ก่อนมีสว.ชุดใหม่ ออน อ้างมี ผู้สมัครสว.พร้อมแฉ ขบวนการฮั้วสว.ระดับประเทศ26มิ.ย. เสรี ระบุ ไม่ว่าผลเลือกสว.ออกมาอย่างไร ต้องยอมรับ

วันที่ 8 ก.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) เสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาตรวจสอบการเลือกสว. 

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. อภิปรายว่า ขอบคุณประธานที่กล้าหาญในการเปิดประชุม เป็นหน้าที่และอำนาจของพวกเรา สว.ชุดเรา ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ อยากจะบอกว่าที่ สว.ใหม่ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ต้องรอกกกต.รับรองและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น ว่าที่ สว.ใหม่ มาตำหนิติเตียนกรุณา หุบปากเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ใคร ไม่ก้าวก่าย เมื่อใดที่ กกต.ประกาศรับรอง เราเตรียมตัวกลับบ้าน

ไม่ได้ว่าว่าที่ สว. 200 คน ให้เกียรติท่าน แต่ในวันนี้ ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ อย่างถูกต้อง ดังนั้น การที่จะถูกใครก็ตามที่จะตำหนิติเตียนพวกเรา คิดว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพวกเราไม่ได้ยึดติด ไม่อยากที่จะอยู่โดยที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ในเมื่อเราปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ อภิปรายทุกนาที ทางสภาต้องจ่ายเงินให้ สว.กิตติศักดิ์ คิดว่า การปฏิบัติหน้าที่สว.ใหม่นั้น ยินดี ขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาจะเจริญรุ่งเรือง แต่หากเข้ามาแล้วปฏิบัติหน้าที่ไม่ตรงไปตรงมา ผมบอกไว้เพียงอย่างเดียวว่า อาจจะมี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ใหม่

นายออน กาจกระโทก สว. อภิปรายว่า มีเรื่องร้องเรียนผู้สมัคร สว.คนหนึ่ง ที่พร้อมเป็นพยาน ระบุว่า เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. เวลา 5.00 น. มีรถบัสและรถตู้มาส่งบุคคลที่จะเลือกระดับประเทศ ที่เมืองทองธานี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการฮั้ว เอาเปรียบบุคคลอื่น รวมถึงมีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่กกต. และผู้สมัคร ที่สนทนากับผู้สมัครคนอื่นในวันเลือกระดับประเทศ พร้อมกับเสนอเงินให้ 50,000 บาทเพื่อให้เลือกตนเอง ทั้งนี้ตนพร้อมนำรายละเอียดมอบให้กับกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นให้ตรวจสอบ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. อภิปรายว่า การทำงานขององค์กรอิสระ ต้องทำหน้าที่อิสระตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่บอกว่า กกต. ต้องติดคุกนั้น หาก กกต.ทำผิด ทำทุจริตหน้าที่ต้องติดคุก แต่ขณะนี้กกต. มีความอิสระ ดังนั้นต้องยอมรับในความอิสระขององค์กรอิสระสว.ต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่ามีสว.ใหม่ การทำหน้าที่ระหว่างไม่มีสว.ใหม่ ต้องอยู่รอเพื่อทำหน้าที่ เท่าที่จำเป็น ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงองค์กรอิสระ เพราะการเลือก สว. กฎหมายเขียนชัดเจนให้คนที่อยู่ในตำแหน่งต่างๆ ห้ามเข้าไปยุ่ง 

นายเสรีกล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องที่ตรวจสอบการเลือกสว.นั้น สว.ที่อยู่ในตำแหน่งปัจจุบันมีผลได้ผลเสีย ระหว่างการทำหน้าที่ของสว. กกต. ก็ทำหน้าที่ คนร้องศาลเป็นสิทธิ เมื่อขอตั้งกมธ. ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เป็นหน้าที่จริงหรือไม่ การตรวจสอบนั้น สว.มีส่วนได้เสีย การตั้งกมธ.ทั่วไปทำได้ แต่การตั้งญัตติเรื่องดังกล่าว รัฐธรรมนูญมาตรา 129 วรรคสี่ ไม่สามารถเรียกองค์กรอิสระมาแถลงข้อเท็จจริงหรือกิจการที่ทำอยู่ได้

ประเด็นการตรวจสอบ ตามคำร้องเป็นหน้าที่ของกกต. ไม่ใช่สว. เพราะตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกสว. นั้นให้อำนาจไว้ในมาตรา 62 มาตรา 63 ให้อำนาจกกต. ประกาศรับรองไปก่อนแล้วสอยทีหลังได้ ดังนั้นจะบังคับให้ กกต. เห็นด้วยกับท่านไม่ได้ มีร้อง 600 เรื่อง มีพยานเยอะ แต่เป็นพยานปั้น พยานกลั่นแกล้ง ไม่อาจมีใครรู้ได้ ต้องตรวจสอบ ซึ่ง สว.ที่ได้รับเรื่องร้องต้องส่งให้ กกต. ไม่ใช่ทำตัวเป็น กกต. แล้วไปวินิจฉัยแทน ไม่เอากลุ่มสีน้ำเงิน จะเอากลุ่มสีส้มหรือ หรือ สีแดง หากจะเอากลุ่มที่พอใจ ไม่มีทางจบได้  การเลือกไม่ว่าได้ผลเป็นอย่างไรต้องยอมรับ ไม่เห็นด้วยกับการตั้งกมธ. เพราะก้าวก่ายแทรกแซงองค์กรอิสระ

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สว. อภิปรายว่า เมื่อดูผลการเลือกสว.ใหม่ โดยเฉพาะรายชื่อ และคุณสมบัติผู้ได้รับเลือกเป็นสว. 200 คน บวกกับรายชื่อสำรอง 100 คน ทำให้เห็นถึงความผิดเพี้ยน ในความเป็นผู้เชียวชาญด้วยวิชาชีพ ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และเมื่อได้เห็นพยานบุคคล วัตถุพยาน พฤติกรรมต่างๆ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของ กกต.ที่หน้างาน ทำให้รู้สึกว่าผลการเลือกคราวนี้ คนจำนวนมากจะยอมรับได้ยาก ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่อนุบัญญัติ ซึ่งเป็นระเบียบและประกาศของกกต.ที่มีการแก้ไขจากข้องเดิมบางอย่าง เช่นการให้คำจำกัดความของอาชีพต่างๆ และไปถ้อยท้ายว่าและอื่นๆในทำนองเดียวกัน ถือเป็นการเปิดทางให้เกิดการตีความจนเป็นที่โกลาหนอย่างที่เห็นอยู่
 “เมื่อปัญหามาถึงตรงนี้ ในขั้นตอนนี้ ผมคิดว่ามีข้อเสนอแนะะและอยากให้ กกต.ไปพิจารณาเป็น 3 แนวทาง แต่ผมข้อเสนอแนวทางที่1 คืออาจจะให้ผลการเลือกตั้งตั้งโมฆะทั้งหมด แล้วจัดให้มีการเลือกใหม่ทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด ระดับชาติ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดรับผู้สมัครเพิ่ม ให้ใช้ผู้สมัครชุดเดิม แล้วตรวจสอบคุณสมบัติใหม่ เพื่อคัดเลือกใหม่ ได้ผลประการใดก็เร่งประกาศรับรองโดยไม่ชักช้า แนวทางนี้อาจจะเป็นข้อเสนอสุดโต่งไปสักหน่อย เพราะต้องใช้งบประมาณอีก 1,500 ล้านบาท ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 เดือน แต่ถือเป็นการลงทุนในกระบวนการเรียนรู้ฝึกฝน และพัฒนาประชาธิปไตยสำหรับผลเมือง ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และได้สว.ที่เป็นที่ยอมรับมากขึ้น”นพ.พลเดช กล่าว

ภายหลังการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางที่ประชุมได้มีมติเห็นควรให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาตรวจสอบการเลือกวุฒิสภา (สว.) ด้วยคะแนน 101 ต่อ 10 เสียง งดออกเสียง 17 เสียง โดยให้มีการตั้งกรรมาธิการฯ จำนวน 21 คน