ย้อนมติครม.14 มี.ค.66 เฉือนป่าทับลาน 2.6แสนไร่ ปลุกกระแส #saveทับลาน
กลายเป็นประเด็นร้อนทั้งทางการเมือง และ สังคมวงกว้าง หลังจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ และพันธ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
อุทยานแห่งชาติทับลาน ถูกยกให้เป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์อนุรักษ์ เสือโคร่ง กระทิง สัตว์ป่าหายากนานาชนิด มีเนื้อที่กว่า 1.3 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว
ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะ X เกิดกระแส #saveทับลาน ในกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ ผืนป่าทั้งหลาย พร้อมใจกันรณรงค์ต่อต้านต่อแนวคิดดังกล่าว หวั่นใจ การกันพื้นที่ 2.65 แสนไร่ เพื่อไปออก ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ท่ามกลางการจับตามอง จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เอื้อกลุ่มทุน อะไรหรือไม่ ยิ่งรัฐบาลมีแนวคิด เปิดให้ต่างชาติถือครองที่ดิน 99 ไร่ ยิ่งถูกจับตา แห่งความเชื่อมโยง กระแสที่ว่าร้อน ยิ่งร้อนแรงขึ้นไปอีก
กว่าจะเป็นปัญหาอย่างทุกวันนี้ ต้องพาย้อนไป ต้นกำเนิดแห่งเรื่องราว ย้อนไป
วันที่ 14 มีนาคม 2566 มติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เรื่องผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ และปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One map) ที่ให้ดำเนินการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ.2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจะเป็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานถึง 265,286.58 ไร่
วันที่ 25 มกราคม 2567 มีการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาวาระเรื่องเพื่อทราบ การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะให้มีการใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562
กระทั่งวันที่ 28 มิ.ย. -12 ก.ค. 2567 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อแล้วเสร็จ จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติพิจารณา
ก่อนการประชุมครม. วันที่ 9ก.ค.2567
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
"หลายรัฐบาลที่ผ่านมา พยายามแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน และมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. และมีมติให้กันพื้นที่ชุมชนจำนวน 265,000 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา แต่บุคคลใดที่ถูกดำเนินคดี ในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ได้รับการยกเว้น จากมติดังกล่าวทำให้กรมอุทยานฯ ต้องมาดำเนินการปรับปรุงแนวเขต แต่จะทำได้นั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งจากในพื้นที่ และประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ และจะสิ้นสุดในวันที่ 12 กรกฎาคม ก่อนจะรวบรวม เสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาภายใน 30 วัน เพื่อมีมติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป"
พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
"พื้นที่ดังกล่าว เป็นที่ดินของชาวบ้านประมาณ 50,000 ไร่ ส่วนนี้จะดูแลชาวบ้านเป็นหลัก ส่วนตัวเลข 260,000 ไร่นั้น เป็นพื้นที่เขตอุทยานทับลานทั้งหมด ไม่ใช่คืนที่ดินทำกินทั้งหมด โดยคณะกรรมการอุทยาน จะเป็นผู้พิจารณา จะเร่งรัดให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ พิจารณาภายใน 30 วัน พร้อมรับฟังกระแสที่ประชาชนทั้งประเทศไม่เห็นด้วย ขั้นตอนกระบวนการทำประชาพิจารณ์ แล้วเสร็จในวันที่ 12 กรกฎาคม 2567"
รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์
"กระทรวงเกษตรฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องนี้ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ(สคทช.)ห็นชอบอย่างไร นำเสนอครม.ชุดที่แล้ว เมื่อครม.เห็นชอบ เป็นเรื่องกระบวนการที่ต้องไปดำเนินการตามกระบวนการโดยกรมอุทยานฯ และในช่วงนี้มีการรับฟังเสียงประชาชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ถือเป็นเรื่องของกรมอุทยานที่ต้องดำเนินการ ภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพย์ฯ ต้องกราบเรียนนำเสนอให้เข้าใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เดี๋ยวจะไปผสมผสานเข้าใจกันผิด ในฐานะกำกับดูแล สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.)เป็นหน่วยงานที่รับนโยบายจากสคทช.ที่เห็นชอบ นำเข้าที่ประชุมครม. เมื่อเห็นชอบให้ส.ป.ก.ไปจัดสรรที่ดินให้พี่น้องเกษตรกรได้ทำกิน เราก็จะนำไปปฏิบัติ แต่ตรงนั้นไม่ใช่ขั้นตอนตามกระบวนการของ.ส.ป.ก ต้องดำเนินการ ขอให้เข้าใจตรงนี้เพราะมีสื่อบางสำนักไปโจมตีพาดพิงส.ป.ก. เขาจะเสียหาย"
แม้ผู้เกี่ยวข้อง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ พยายามชี้แจง ก็ยังไม่สามารถดับกระแสความร้อนแรงไปได้ และคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด บทสรุปลงเอย ประเด็นร้อนนี้ จะจบลงอย่างไร