เปิดใจ ศรีสมภพ มองกรณีตากใบ รัฐ-บทลงโทษ-ประชาชน-เหตุไม่สงบหลัง25ต.ค.
วันที่ 25ต.ค.67 ครบกำหนด ขาดอายุความ เหตุการณ์ตากใบ จ.นราธิวาส จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐ กระทำต่อประชาชน เมื่อวันที่ 25ต.ค.2547 ต่อกลุ่มผู้ชุมนุมหน้าสถานีตำรวจตากใบ และการอพยพ ขนย้ายผู้ที่ชุมนุมหน้าสถานีตำรวจตากใบ ไปยัง ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี นำตัวผู้ร่วมชุมนุมนอนทับกันเป็นชั้นๆ บนรถทหาร ทำให้เกิดอากาศหายใจ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
จนถึงขณะนี้ ภาครัฐ ยังไม่สามารถติดตามจำเลยที่เป็นอดีตแม่ทัพภาค4 เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ท่ามกลางเสียงสะท้อน กระตุกไปถึงความจริงใจของรัฐบาลในการเร่งควานหาตัว และ การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ จากเหตุนี้ จนถึง 25ต.ค. ถ้าบทสรุป ไม่มีผู้ต้องรับผิดชอบ จะทำให้เกิดความหวั่นวิตก จะมีเหตุการณ์รุนแรง ตลอดจนการประเมินสถานการณ์ฉากทัศน์ต่างๆ ที่จะตามมา
'ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์' สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร
'หากจำเลยยังไม่เดินทางมาศาลก่อนเที่ยงคืนวันที่ 25ต.ค.67 ได้นั้น คงจะเกิด 1. เกิดความไม่สงบ มีการก่อเหตุต่างๆ ก็มีความเป็นไปได้ อาจจะมีเหตุการณ์มากขึ้น ในเชิงสัญลักษณ์ ตั้งแต่ต้นปี2567 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นสูงถึง ถี่ขึ้นหากเทียบกับปีที่แล้ว ดังนั้นหากผ่านวันที่ 25 ต.ค.ไปแล้ว อาจจะมีปฏิบัติการ การแสดงออกของประชาชนที่ไม่พอใจต่อกรณีตากใบ ส่วนจะขยายตัวไปอีกหรือไม่ ยังคาดเดาไม่ได้
ถ้ารัฐบาลพลิกสถานการณ์ มีมาตรการรองรับกระบวนการทางสันติภาพ พูดคุยกับประชาชน ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ครอบครัวผู้สูญเสีย ร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริง ถอดบทเรียน แม้จะผ่านวันที่ 25ต.ค.ไปแล้ว แต่การมาพูดคุย โดยเชิญฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย โดยไม่มีผลทางคดี คนที่เกี่ยวข้องอาจจะพูดอะไรได้มากขึ้น
แม้ความผิดเชิงสังคมยังลบล้างได้ยาก ต้องใช้เวลาในการลบความรู้สึกของประชาชน ผมยังมองว่า รัฐบาลแพทองธาร ควรแสดงออกถึงความจริงใจ ในการทำให้เกิดสันติสุข สันติภาพในพื้นที่3จังหวัดภาคใต้
เป็นหนึ่งใน คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร มีความรู้สึกว่า ท่าทีของรัฐบาล ต่อแนวทางการพูดคุยสันติภาพ ไม่มีความชัดเจนเลย ซึ่งรัฐบาลควรจะแสดงท่าทีที่ชัดเจน หรือแนวทางในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
ตอนนี้ยังไม่เห็นการแต่งตั้งคณะพูดคุย ยังว่างอยู่ ยังหาคนมาเป็น หัวหน้าคณะพูดคุยไม่ได้ ซึ่งนางสาวแพทองธาร ควรจะออกมาพูดคุยให้ชัดเจน เพื่อแสดงเจตจำนงทางการเมือง
สิ่งที่รัฐบาลยังพอทำได้
คงต้องเน้นย้ำเรื่องของการขอโทษต่อญาติพี่น้อง ผู้สูญเสีย เพราะการขอโทษ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวคำขอโทษ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวคำขอโทษใน คลับเฮ้าส์ แต่ไม่ใช่การพูดอย่างเป็นทางการ
ดังนั้น แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ควรแสดงออกในทางการเมืองทั้งการกล่าวคำขอโทษ และ เน้นย้ำถึงการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้ตามแนวทางสันติภาพให้ได้ว่า รัฐบาลจะทำอะไร อย่างไรบ้าง
มีข้อเสนอให้รัฐบาล ใช้ช่องทางการออกพ.ร.ก. ทำให้คดีตากใบ ไม่มีอายุความ
เรื่องนี้ก็อยู่ที่เจตนาทางการเมือง แต่รัฐบาลคงจะไม่เลือกทางนี้
ข้อกังวล หากผ่านวันที่ 25ต.ค.ไป การก่อเหตุจะขยายวงนอกไปจากพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้หรือไม่
คงเป็นไปไม่ได้ บางครั้งที่เคยเกิดเหตุในกทม. ก็ไม่มีผลอะไร คนที่มาทำมาก่อเหตุก็โดนจับ และกลไกป้องกันของรัฐบาล หากมีการมาทำ ตามจับได้หมด เขาคงไม่เลือกวิธีนี้ แต่ถ้าก่อในภาคใต้ มีมวลชนสนับสนุนน่าจะเป็นไปได้ ก่อเหตุที่อื่นไม่คุ้ม สำหรับผลกระทบทางการเมืองไม่คุ้ม และคนกรุงเทพ ไม่ยอมรับในการใช้วิธีความรุนแรง การก่อเหตุในกทม.คงไม่ใช่เป้าหมายของเขา
ภาครัฐ อาจจะมองคดีตากใบ 25ต.ค. ทำให้เรื่องเงียบไป แล้วคนจะค่อยๆลืมกันไปเอง
มีแนวคิด 2 ทฤษฎี ถ้าไปทำตามข้อเรียกร้องมากไป อย่างที่ผ่านมาไปพูดคุย ยอมตามข้อเรียกร้อง ไปตอบสนอง จะเข้าทางขบวนการก่อความไม่สงบ มองว่ารัฐบาลไม่เข้มแข็ง อ่อนแอ อำนาจรัฐอ่อน จะเข้าทางเขา แต่ถ้ามองอีกแนวทาง การแก้ไขปัญหาเชิงสันติภาพ ร่วมกันแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยมองไปที่รากเหง้าของปัญหา ดีกว่าการไปมุ่งเน้นปราบปราม
มิติทางความมั่นคง มองในรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน ทางกอ.รมน. หรือ สมช. เป็นความมั่นคงภาคพลเรือน เน้นการพูดคุยเชิงสันติภาพ ซึ่งเขาจะเห็นด้วยกับการพูดคุยมากกว่าใช้กำลังทหาร แต่ขณะเดียวกัน แนวคิดนี้ถูกวิพากษ์กลับมาว่าไปอ่อนให้กับอีกฝ่าย
ฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสมช. ก่อนหน้าที่มาดำรงตำแหน่ง อยู่ในสมช. ท่านก็เป็นหนึ่งในทีมเจรจา แต่ทางฝ่ายความมั่นคง ที่เน้นด้านการปราบปราม คงไม่เห็นด้วย เลยเป็น 2 แนวคิดแนวทางที่สู้กัน ทางทหารก็เห็นว่า ต้องเข้มข้นในการปราบราม หรือแม้แต่ในทหารภาคที่4 มี2แนวทาง มีทั้งสายเหยี่ยว สายพิราบ
ความหวั่นวิตกหลังวันที่ 25 ต.ค. ถ้ายังไม่ได้จำเลยจากเหตุการณ์ตากใบ มาลงโทษ อาจจะมีการก่อเหตุครั้งใหญ่ตามมา
เชื่อว่า ไม่น่ามี ทางฝ่ายรัฐคงวางแนวป้องกันไว้ดีมาก แต่จะเกิดเหตุเชิงสัญลักษณ์ เป็นจุดๆคงเป็นไปได้ ทางรัฐ ก็พยายามปิดพื้นที่ ปิดช่องว่าง โดยทางการข่าวของภาครัฐ แต่ก็อาจจะมีบ้างที่มีช่องว่าง โดนโจมตีเป็นจุดๆ แต่จุดใหญ่ๆคงทำได้ยาก
ในระยะหลังถ้าก่อเหตุในพื้นที่ สถานที่ทางเศรษฐกิจ ตลาด หรือ สถานที่ประชาชนอยู่เยอะๆ ตอนหลังเขาก็ไม่ทำ ถ้าทำไปก็เสียแนวร่วม ไปด้วย และถ้ามีการก่อเหตุ มีเหตุแรงๆ ก็จะทำให้พูดคุยสันติภาพไม่ได้ ดังนั้นในเหตุใหญ่ๆแรงๆ เชื่อว่าไม่น่ามี