posttoday

สุริยะ ปัด แก้ไขสัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เอื้อเอกชนรายใหญ่

22 ตุลาคม 2567

สุริยะ แจง แก้สัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ทั้งรัฐ-เอกชน ต่างผิดสัญญา ระบุเป็นผลจากโควิด ทำให้ดำเนินการไม่ได้ ปัด แก้สัญญา เอื้อเอกชนรายใหญ่ ย้ำ ไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ระบุ สัญญาใหม่ เอกชนต้องวางค้ำประกัน ห้ามทิ้งงานเด็ดขาด เชื่อ พรรคร่วมรัฐบาลเข้าใจการแก้ไขสัญญา

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ​ จึงรุ่งเรืองกิจ​ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม​ กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูง​ เชื่อม 3 สนามบิน​ (อู่ตะเพา  -​สุวรรณ​ภูมิ​- ดอนเมือง​)​ว่า​ วันที่ 22ต.ค. ยังไม่เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) การแก้ไขสัญญา เกิดจากเอกชนและภาครัฐผิดสัญญา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด​- 19 ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า รัฐบาลไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ ขณะที่เอกชน ไม่สามารถดำเนินการได้

ต่างคนต่างผิดสัญญา จึงต้องพิจารณาใหม่​ เนื่องจากเป็นหนึ่งในโครงการยุทธศาสตร์ชาติ หากเชื่อม 3 สนามบินจะทำให้ประชาชนเดินทางสะดวก การค้าขายดีขึ้น ต้องเดินหน้าโครงการนี้ต่อ จึงต้องมาพิจารณาร่วมกันในการแก้ไขสัญญา เพื่อไม่ให้รัฐเสียประโยชน์ โดยสัญญาเดิมจะให้เอกชนสร้างจนเสร็จ และหลังจากนั้น 10 ปีรัฐบาลจะค่อยชำระเงิน​ 

ขณะที่สัญญาใหม่​ จะให้เอกชนนำเงินมาวางค้ำประกันจากธนาคารเพื่อการันตี​ และเมื่อสร้างเสร็จ​ รัฐบาลจะคืน หนังสือค้ำประกันโดยธนาคาร หรือ​ แบงก์​การันตี​ให้​ ในการก่อสร้าง​แล้วเสร็จแต่ะช่วง ​จะแบ่งเป็นแต่ละสัญญา​ หากมีการทิ้งงานรัฐจะนำเงินค้ำประกันจ้างผู้ประกอบการรายใหม่​

"การแก้ไขสัญญา ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใหญ่ ดอกเบี้ย บริษัทเอกชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ให้ได้ เนื่องจากสัญญาได้ให้อัยการตรวจสอบทั้งหมด หากนำเข้าครม.เชื่อว่าจะผ่าน โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีนายพิชัย ชุณห​วชิร​ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง​ เป็นผู้รับผิดชอบ และมั่นใจว่า จะสามารถทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเข้าใจในการแก้ไขสัญญาโครงการดังกล่าวได้"นายสุริยะกล่าว