posttoday

กทม.คุมค่าฝุ่นเช็กโครงการก่อสร้าง-จัดระเบียบร้านค้า

19 พฤศจิกายน 2567

คุมเข้มค่าฝุ่นโครงการโค้บบ์รัชดา-พระราม 9 จัดระเบียบผู้ค้าซอยรุ่งเรือง สำรวจ Hawker Center ปรีชาคอมเพล็กซ์ ปั้นสวนหย่อมบ้านหนังสือชุมชนทับแก้ว แก้ไขปัญหาลักลอบทิ้งขยะถนนพระราม 9 ซอย 2 ชมคัดแยกขยะโรงแรมแลงคาสเตอร์

(19 พ.ย. 67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตห้วยขวาง ดังนี้ 

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการโค้บบ์ รัชดา-พระราม 9 (Cobe Ratchada Rama 9) ถนนเทียมร่วมมิตร ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 27 ชั้น จำนวน 8 อาคาร อาคารพักอาศัย ความสูง 29 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

กทม.คุมค่าฝุ่นเช็กโครงการก่อสร้าง-จัดระเบียบร้านค้า  

ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำด้านหน้าทางเข้า-ออกโครงการและพื้นที่โดยรอบให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเปิดตลอดเวลาทำการก่อสร้าง ล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ รวมถึงทำความสะอาดพื้นโครงการไม่ให้มีเศษฝุ่นตกค้าง ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 และจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ 

กทม.คุมค่าฝุ่นเช็กโครงการก่อสร้าง-จัดระเบียบร้านค้า

นอกจากนี้ เขตฯ ได้ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทอู่พ่นสียานยนต์ 15 แห่ง ประเภทโรงงานที่มีการใช้หม้อไอน้ำ 2 แห่ง ประเภทผลิตเฟอร์นิเจอร์ 4 แห่ง ประเภทผลิตพลาสติก 9 แห่ง ประเภทเลื่อย ไส ซอยไม้ 1 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 13 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 

ตรวจพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณถนนสุทธิสารวินิจฉัย ซอยรุ่งเรือง และสำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณอาคารปรีชาคอมเพล็กซ์ ซึ่งเขตฯ ได้ประสานพื้นที่เอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม 

กทม.คุมค่าฝุ่นเช็กโครงการก่อสร้าง-จัดระเบียบร้านค้า

คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถรองรับผู้ค้าได้ 25 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด ที่ผ่านมา เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.ตลาดนัดกลางซอย 6 ถนนพระราม 9 รองรับผู้ค้าได้ 80 ราย 2.ตลาดเมืองไทยภัทร รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย 3.ตลาด 9 Yards ถนนจตุรทิศ รองรับผู้ค้าได้ 160 ราย ซึ่งทั้ง 3 แห่งเป็นพื้นที่เอกชน จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด 

กทม.คุมค่าฝุ่นเช็กโครงการก่อสร้าง-จัดระเบียบร้านค้า

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ย้ายผู้ค้าเข้าไปในจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 9 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 98 ราย ดังนี้ 

1.ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ซอยรุ่งเรือง ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 

2.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT สุทธิสาร/ซอยอุดมสุข  ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-22.00 น. 

3.ถนนรัชดาภิเษก หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา/เมืองไทยภัทร ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 

4.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) หน้าเบสเฮ้าส์อพาร์ทเม้นต์ ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-22.00 น. 

5.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) หน้าศูนย์โตโยต้า ผู้ค้า 7 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-12.00 น. 

6.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคารสหพัฒน์/อาบอบนวด ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-11.00 น. 

7.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) ซอยเพชรบุรี 38 ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-15.00 น. 

8.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) วัดใหม่ช่องลม/อิตัลไทย ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 

9.ถนนประชาอุทิศ ซอยประชาอุทิศ 17 

ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-20.00 น. ที่ผ่านมา เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว 5 จุด ได้แก่ 1.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT รัชดาภิเษก ผู้ค้า 6 ราย 2.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT ห้วยขวาง ผู้ค้า 11 ราย 3.ถนนพระราม 9 ซอย 5 ผู้ค้า 6 ราย 4.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคาร MSIG ผู้ค้า 5 ราย 5.ถนนเทียมร่วมมิตร (ขาออก) ผู้ค้า 7 ราย นอกจากนี้เขตฯ ได้ยุบรวมจุดทำการค้า 1 จุด คือถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT สุทธิสาร/ซอยอุดมสุข  ผู้ค้า 30 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าอีก 1 จุด คือถนนเพชรบุรี (ขาออก) แยกอโศกเพชร ผู้ค้า 8 ราย 

พัฒนาสวน 15 นาที สวนหย่อมบ้านหนังสือชุมชนทับแก้ว ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.สวนราษฎร์บำเพ็ญ พื้นที่ 1 งาน 20 ตารางวา 2.สวนสุขภาพห้วยขวาง ถนนเทียนร่วมมิตร พื้นที่ 4 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา 3.สวนพรรณภิรมย์ พื้นที่ 13 ไร่ 25 ตารางวา 4.สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์ พื้นที่ 9 ไร่ 38 ตารางวา 5.สวนหย่อมหลังไปรษณีย์ห้วยขวาง พื้นที่ 3 ไร่ 2 งาน 11 ตารางวา 6.สวนสุขภาพห้วยขวาง ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พื้นที่ 3 งาน 69 ตารางวา 7.สวนหย่อมประชาอุทิศ พื้นที่ 80 ตารางวา 8.สวนหย่อมบ้านหนังสือชุมชนทับแก้ว พื้นที่ 1 งาน 91 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนป่าใต้ทางด่วนพระราม 9 ตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม พื้นที่ 7 ไร่ 3 งาน 11 ตารางวา 2.สวนอยู่เจริญภิรมย์ พื้นที่ 2 งาน 42 ตารางวา 3.สวนหย่อมพระราม 9 แยก 11 พื้นที่ 3 งาน 4.สวนสบายใจข้างฝ่ายทะเบียนเขตห้วยขวาง พื้นที่ 22 ตารางวา ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ 

กทม.คุมค่าฝุ่นเช็กโครงการก่อสร้าง-จัดระเบียบร้านค้า

ติดตามการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณปั๊มแก๊ส ถนนพระราม 9 ซอย 2 ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ประสานเจ้าของที่ดินให้ปรับปรุงแก้ไข และปิดล้อมรั้วป้องกันการลักลอบทิ้งขยะ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับอาคารทิ้งร้าง และที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า หรือจุดล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรม หรือปล่อยปละละเลยให้มีการทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย เศษวัสดุก่อสร้าง ซึ่งสำนักเทศกิจได้มีหนังสือสั่งการให้สำนักงานเขตดำเนินการตามข้อกฎหมาย จำนวน 7 ฉบับ ดังนี้ 1.พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 2.พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 3.พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 4.ประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ. 2522 5.พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 6.พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 และ 7.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงแรมแลงคาสเตอร์ กรุงเทพฯ ถนนเพชรบุรี พื้นที่ 29,430 ตารางเมตร บุคลากรของฝ่ายบริหารอาคาร 196 คน ผู้ใช้บริการ 426 คน/วัน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 

1.ขยะรีไซเคิล พนักงานโรงแรมรวบรวมไว้บริเวณห้องพักขยะ รอเขตฯ จัดเก็บ 

2.ขยะอินทรีย์ พนักงานโรงแรมรวบรวมไว้บริเวณจุดพักขยะห้องขยะเปียก เพื่อส่งมอบให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ ส่วนขยะเศษอาหารที่เหลือ จะนำไปหมักทำปุ๋ยในถังหมักรักษ์โลก สำหรับใช้ในแปลงผักสวนครัว 

3.ขยะอันตราย ฝ่ายบริหารอาคารกำหนดจุดสำหรับทิ้งขยะอันตรายภายในห้องจัดเก็บขยะ โดยมีภาชนะแยกอย่างชัดเจน เมื่อมีปริมาณขยะอันตรายจำนวนมาก จะประสานเขตฯ มารับไปกำจัด 

4.ขยะทั่วไป พนักงานโรงแรมรวบรวมไว้บริเวณห้องพักขยะ รอเขตฯ จัดเก็บ 

สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 250 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 12 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 32 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 110 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 140 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0.3 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0.3 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ทางโรงแรมในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่