posttoday

ดีเซลจ่อขึ้น 5 บ.ต่อลิตร ดันราคาแตะ 37บ. เหตุคลังไม่ต่อภาษี-รอรัฐบาลใหม่

28 พฤษภาคม 2566

อ่วม! "กระทรวงการคลัง"ไม่ต่อมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร เหตุรอรัฐบาลใหม่ตัดสิน ดันราคาดีเซล 21 ก.ค.66 พุ่งแตะ 37 บาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกระทรวงการคลังว่ามาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท ที่จะครบกำหนดวันที่ 20 ก.ค.2566 นั้น กระทรวงการคลังได้ประกาศออกมาแล้วว่าจะไม่ต่อมาตรการดังกล่าวแล้ว โดยให้เหตุผลว่าต้องรอรัฐบาลชุดใหม่มาตัดสินใจ เนื่องจากมีผลกระทบในเรื่องของงบประมาณการเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตที่ต้องหายไป

ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.)ได้ดำเนินการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ รวม 2 ก้อนแล้ว 50,000 ล้านบาท จากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ได้บรรจุวงเงินหนี้สาธารณะรวม 110,000 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แบ่งเป็นกู้รอบแรก 30,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปลายปี 2565 ซึ่งกองทุนน้ำมันฯได้นำไปชำระหนี้ผู้ค้ามาตรา 7 หมดแล้ว

และ รอบที่ 2 อีก 20,000 ล้านบาท จากวงเงิน 80,000 ล้านบาท ซึ่งจะเหลือวงเงินกู้อีก 60,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเปิดกู้รอบใหม่ 

อย่างไรก็ตาม ในการของกู้เงินของ สกนช.ครั้งนี้นั้น ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้กับ สกนช.ในกรอบวงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท และต้องดำเนินการกู้เงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 ต.ค.2566นี้เท่านั้น ซึ่งจากสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่ลดลงในช่วงนี้ สบน.จึงเห็นว่าการกู้เงินที่ 1.1 แสนล้านบาทน่าจะเพียงพอแล้ว อีกทั้งควรรอให้รัฐบาลชุดใหม่มาร่วมตัดสินใจ และเมื่อกระทรวงการคลังไม่ต่อภาษีดีเซลอาจส่งผลกระทบต่อสถานทางการเงินและรับภาระเพิ่ม 5 บาททันที

สำหรับ สถานะกองทุนน้ำมันฯ วันที่ 21 พ.ค.2566 ติดลบอยู่ที่ 72,731 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 26,111 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,620 ซึ่งมากกว่าบัญชีน้ำมันแล้ว เนื่องจากปัจจุบันกองทุนน้ำมันยังใช้เงินพยุงราคาก๊าซหุงต้ม LPG เฉลี่ย เดือนละประมาณ 600 ล้านบาท ตกวันละ 25 ล้านบาท ซึ่งการกู้เงินก้อนที่เหลือจะนำมาชำระหนี้ผู้ค้ามาตรา 7 อีกราว 70,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ สิ่งที่กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังต้องตัดสินใจร่วมกันอย่างหนัก คือ การคาดการณ์นโยบายล่วงหน้าของรัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้งว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่อย่างไร และใครจะมาบริหารราคาพลังงาน เพราะอีกไม่นานนายกุกิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานจะเกษียณอายุราชการในปี 2566 นี้ การสานต่อนโยบายรัฐบาลก็จะต้องดูว่าใครจะมาบริหารงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ และจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ บริหารจัดการราคาน้ำมันอีกหรือไม่ อย่างไร 

นายกุลิศ กล่าวว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 5 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.2566 ดังนั้นต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร หากขึ้นในอัตรานี้ ราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นเป็น 37 บาทต่อลิตรทันที จากราคาปัจจุบัน 32 บาทต่อลิตร และต้องมาพิจารณาว่ากองทุนน้ำมันฯจะเข้ามาช่วยอย่างไรได้บ้าง ค่าการตลาดควรเป็นเท่าไร 

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องนำเอาบัญชีทางการเงินของทั่งกองทุนน้ำมันฯและบัญชีการลดภาษีดีเซลมาชั่งน้ำหนักดูให้ดี เพราะหากต่อมาตรการลดภาษีไปอีกก็จะกระทบต่อรายได้ประเทศ

ส่วนตัวมองว่าหากรัฐบาลไม่ต่อมาตรการลดภาษีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลควรจะทะยอยปรับขึ้นครั้งละ 1 บาท ไม่ควรปรับขึ้นทันที 5 บาท 

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า มาตรการการลดภาษีดีเซลที่ผ่านมารวม 7 ครั้ง กระทบรายได้รัฐ 158,000 ล้านบาท ดังนี้ 
1. วันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค.2565 (3 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 3 บาท รัฐสูญรายได้ 18,000 ล้านบาท 
2. วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
3. วันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท     
4.วันที่ 21 ก.ย.-20 พ.ย.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท     
5.วันที่ 21 พ.ย.2565-20 ม.ค.2566 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาทรัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท 
6.วันที่ 21 ม.ค.-20 พ.ค.2566 (4 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 40,000 ล้านบาท
7. วันที่ 21 พ.ค. - 20 ก.ค.2566 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 40,000 ล้านบาท