นายกฯห่วงน้ำท่วมสุโขทัย เรียกกรมชลฯหารือ รับมวลน้ำก้อนใหญ่เย็นนี้
นายกฯเศรษฐา ห่วงสถานการณ์น้ำท่วมสุโขทัย เรียกกรมชลประทานหารับมือมวลน้ำก้อนใหญ่เข้าพื้นที่เย็นนี้ ขณะปภ.เตือนภัย15จังหวัดเฝ้าระวัง
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เรียกหน่วยงานกรมชลประทานไปหารือที่กระทรวงการคลัง เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำท่วมที่จ.สุโขทัย ซึ่งได้รับรายงานล่าสุดว่า มวลน้ำเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วง 16.00 น.
นายเศรษฐา เปิดเผยว่ามีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมที่จ.สุโขทัย ได้มอบหมายให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีในฐานะเจ้าของพื้นที่ลงตรวจสอบสถานการณ์ ทั้งการบูรณาการทำงาน ถนน พืชผลทางการเกษตร รวมถึงความเดือดร้อนประชาชนต้องทำทั้งหมด
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า วันที่ 6 ตุลาคมนี้จะไปจังหวัดอุบลราชธานีประชุมเตรียมการรับมือสถานกาณ์น้ำซึ่งไม่ต้องเป็นห่วง
เมื่อช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 2ตุลาคม 2566 มวลน้ำจำนวนมากจากแม่น้ำยม ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านวังหินหมู่ที่ 1 ต.ปากแคว อ.เมือง จ.สุโขทัย หลังพนังดินกั้นแม่น้ำยมในพื้นที่แตกจากจุดเดิมของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กระแสน้ำทะลักเข้ามาในพื้นที่อย่างรุนแรง มีบ้านเรือนของประชาชนประมาณ 30 หลังคาเรือนได้รับผลกระทบ
มวลน้ำก้อนนี้เป็นมวลน้ำที่ไหลมาจาก จ.แพร่ ที่ก่อนหน้านี้มีฝนตกในพื้นที่ทำให้น้ำยังคงทะลักเข้าพื้นที่บ้านวังหิน ต.ปากแคว อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ส่งผลต่อเขตเศรษฐกิจเมืองสุโขทัย เนื่องจากยังคงมีถนนกั้นอยู่ และน้ำไหลงสู่ทุ่งทะเลหลวง
แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังมวลน้ำจากฝั่งตะวันตกที่อาจไหลมาสมทบเข้าเขตเมือง เนื่องจากยังคงมีน้ำล้นสปิลเวย์จากอ่างเก็บน้ำแม่มอก และอ่างเก็บน้ำแม่รำพันอยู่ในขณะนี้
พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเฝ้าระวังน้ำสูง
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. คาดการณ์ปริมาณน้ำ ลุ่มเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,300-1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขา มีปริมาณประมาณ 50-150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณระหว่าง 1,350-1,750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
นอกจากนี้กรมชลประทานแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฉบับที่2 กรมฯได้ผันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทางด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ประมาณ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีความจำเป็นต้องควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราระหว่าง 1,000-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 1-1.50 เมตร โดยจะมีพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง,คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อ.เสนา , ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน
ปัจจุบัน สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านจุดวัดอยู่ที่ 1,535 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.75 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 11.20 เมตร/รทก.ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 5.14 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 1,059 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลทำให้ที่สถานีวัดน้ำ C.3 บ้านบางพุทรา อ.เมือง จ.สิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านจุดวัดอยู่ที่ 951 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริม 2 ฝั่งด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ลงไป ให้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป
ปภ.เตือน15จังหวัดเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง ทะเลหนุน
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งเตือน 15 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง พื้นที่เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง
ภาคเหนือ
จ.เชียงใหม่ (อ.เมืองฯ เชียงดาว แม่ริม สันป่าตอง แม่ออน แม่แจ่ม จอมทอง ฮอด อมก๋อย)
ลำพูน (อ.บ้านโฮ่ง ลี้)
ลำปาง (อ.เถิน เกาะคา สบปราบ เสริมงาม แม่พริก)
แพร่ (อ.เมืองฯ ลอง วังชิ้น เด่นชัย สูงเม่น)
อุตรดิตถ์ (อ.เมืองฯ ลับแล)
ตาก (อ.เมืองฯ สามเงา บ้านตาก แม่สอด พบพระ)
สุโขทัย (ทุกอำเภอ)
พิษณุโลก (อ.บางระกำ)
เพชรบูรณ์ (อ.หล่มสัก หล่มเก่า)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จ.ขอนแก่น (อ.ชุมแพ)
อุดรธานี (อ.ศรีธาตุ)
กาฬสินธุ์ (อ.เมืองฯ ร่องคำ ฆ้องชัย ยางตลาด กมลาไสย สามชัย ท่าคันโท หนองกุงศรี สหัสขันธ์)
ร้อยเอ็ด (อ.ธวัชบุรี โพนทอง เสลภูมิ)
ยโสธร (อ.เมืองฯ ป่าติ้ว ค้อวัง มหาชนะชัย)
อุบลราชธานี (อ.เมืองฯ วารินชำราบ ม่วงสามสิบ เดชอุดม ตระการพืชผล เขื่องใน เหล่าเสือโก้ก ตาลสุม ดอนมดแดง)
ภาคกลาง
ปราจีนบุรี (อ.ประจันตคาม กบินทร์บุรี)
ทั้งนี้ ขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ ระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ อันตรายจากกระแสไฟฟ้าโดยเฉพาะบริเวณน้ำท่วมแนวสายไฟฟ้า เสาไฟฟ้า หรือวัตถุสื่อนำกระแสไฟฟ้า รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังการขับขี่พาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านทาง เพื่อความปลอดภัยควรงดการท่องเที่ยวในพื้นที่ถ้ำที่มีน้ำท่วมขัง และน้ำตกที่น้ำไหลเชี่ยว
ภาคกลาง
จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพมหานคร
ภาคใต้
จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล