นายกฯอิ๊งค์หายป่วยลงพื้นที่ร้อยเอ็ดตรวจโครงการมินิธัญญารักษ์
นายกฯแพทองธาร หายป่วยเดินทางไปปฎิบัติหน้าที่ราชการ ร้อยเอ็ด รับฟังปัญหาด้านการปราบปรามยาเสพติด ทำความรู้จัก โครงการโครงการมินิธัญญารักษ์ ขยายพื้นที่ลดความแออัดสำหรับผู้ป่วยคิดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีอาการดีขึ้นแล้วหลังเมื่อสองวันก่อน มีอาการเสียงแหบ สีหน้าเหนื่อยอิดโรย มีอาการป่วยไข้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30ตุลาคม 2567 พร้อมทั้งยกเลิกภารกิจตลอดวันที่ 31 ต.ค.2567 ก่อนที่จะปฏิบัติภารกิจตามปกติต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีและคณะ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน. 6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ตำบลหนองพอก อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
สำหรับการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อติดตามและรับฟังปัญหาด้านการป้องกัน ปราบปรามยาเสพติดและกระบวนการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในโครงการมินิธัญญารักษ์ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากจะเป็นการติดตามงานตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงนโยบายแล้ว ยังเป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดรับกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดในภูมิภาคอาเซียน ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศลาวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
โครงการโครงการมินิธัญญารักษ์ เป็นแนวคิดขยายพื้นที่บริการและเพิ่มการเข้าถึงของผู้ป่วยยาและสารเสพติดในเขตสุขภาพ ลดความแออัดสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพระยะยาวในโรงพยาบาลเฉพาะทางซึ่งมีจำนวนเตียงไม่เพียงพอสำหรับจำนวนผู้ป่วยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
ประกอบกับ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ได้มีการปรับระบบการบำบัดรักษาจากเดิม คือ ระบบสมัครใจ ระบบบังคับบำบัด และระบบต้องโทษ เป็นการสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567โดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยยึดหลัก “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย”
โครงการมินิธัญญารักษ์ สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยมี สธ. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ด้วยการพัฒนารูปแบบการเข้ารับบริการที่เชื่อมโยงตั้งแต่ศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของ สธ. จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เห็นผลภายใน 100 วัน (Quick win)
ทั้งนี้ มีเป้าหมายการดำเนินการ 3 เรื่อง คือ
1. จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะยาวให้ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลชุมชนที่ประสงค์จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ 146 แห่ง รองรับผู้ป่วยยาเสพติดได้ทั้งสิ้น 1,957 เตียง แบ่งเป็น รูปแบบ Intermediate Care 692 เตียง และ Long Term Care 1,265 เตียง โดยเปิดบริการผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในรูปแบบมินิธัญญารักษ์ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566
2. มีหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัด โดยปัจจุบันมีเตียงจิตเวช 7,796 เตียง หอผู้ป่วยจิตเวช (Ward) 69 แห่งใน 58 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 76.32 ของจังหวัดทั่วประเทศ
3. มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด 776 แห่ง มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดแล้ว 626 แห่ง (ร้อยละ 80.67) ที่เหลืออีก 150 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินการ