เปิดไทม์ไลน์"เขากระโดง" สมบัติของแผ่นดินหรือที่เอกชน
ไล่เรียงไทม์ไลน์ เขากระโดง หลังมติ คณะกก.สอบสวนไม่เพิกถอนโฉนดที่ดิน5,000 ไร่ โยนพิสูจน์สิทธิชั้นศาล ไขปมปริศนา เป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดินหรือที่เอกชน
15 สิงหาคม 2464 พระราชบัญญัติจัดวางทางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464
27 กันยายน 2465 ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีการจัดทำแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กม.375-650
ปี 2542-2548 การรถไฟฯ ติดตามตรวจสอบ และดำเนินการขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
13 กุมภาพันธ์ 2552 "ชวรัตน์ ชาญวีรกุล" รมว.มหาดไทยขณะนั้นและ"อนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ"อธิบดีกรมที่ดิน มีหนังสือตอบ รฟท.ว่า ที่ดินเขากระโดงไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์เป็นที่ดินการรถไฟ ที่สงวนหวงห้ามตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยไว้
16 กุมภาพันธ์ 2553 การรถไฟฯมีหนังสือเลขที่ 1/1021/2553 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อขอยืนยันกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง
10 มิถุนายน 2553 กรมที่ดินมีหนังสือที่ มท.1516.2(4)/17926 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2553 ถึงการรถไฟฯแจ้งว่า กรมที่ดินได้พิจารณาเป็นที่ยุติแล้ว จึงไม่อาจนำมาพิจารณาใหม่ได้
14 กันยายน 2554 ประธาน ป.ป.ช.มีหนังสื่อที่ ปช.0081/1085 ลงวันที่ 15 กันยายน 2554 ถึงผู้ว่าการรฟท.ให้ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ
8 กุมภาพันธ์ 2555 การรถไฟฯได้ทำหนังสือ ลับ ที่ 1/665/2555 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 แจ้งให้กรมที่ดิน ออกคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ ตามมติ ป.ป.ช.
12 เมษายน 2555 กรมที่ดินได้มีหนังสือ ที่ มท 0516.2(3)/ 593 ลงวันที่ 12 เมษายน 2555 ถึงการรถไฟฯ แจ้งว่า การรถไฟฯไม่สามารถจัดส่งรูปแผนที่กำหนดแนวเขตทางรถไฟฯมาประกอบการพิจารณาได้ และพยานหลักฐานอื่นๆที่การรถไฟฯส่งมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ไม่อาจรับฟังได้ แต่เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้กรมที่ดินพิจารณาเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง กรมที่ดินจะได้นำเรื่องส่งให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน
13 มีนาคม 2557 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พิพากษายกฟ้องราษฎร 35 ราย ฟ้องการรถไฟฯและกรมที่ดิน เพื่อขอออกโฉนดให้โจทก์ทั้ง 35 ราย รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้การรถไฟฯ ทั้งให้ชำระค่าเสียหายกับการรถไฟฯเป็นรายเดือนจนกว่าจะรื้อถอนและขนย้ายออกไป
24 กันยายน 2558 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พิพากษายกฟ้องคดีราษฎร ฟ้องการรถไฟฯและกรมที่ดิน เพื่อขอออกโฉนดโดยอ้างว่า มี หนังสือรับรองขอทำประโยชน์ (น.ส.3ข.) ที่ซื้อมาจากนายช. โดยพิพากษาว่า ที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ให้โจทก์ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พร้อมย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้การรถไฟฯ ทั้งให้ชำระค่าเสียหายกับการรถไฟฯเป็นรายเดือนจนกว่าจะรื้อถอนและขนย้ายออกไป
13 มีนาคม 2559 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีราษฎร 35 ราย เป็นโจทก์ ยืนตามศาลชั้นต้น ที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ให้เพิกถอนสิ่งก่อสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน
25 กรกฎาคม 2559 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีราษฎรอ้าง น.ส.3 ข.ของนายช. ไปขอออกโฉนด โดยศาลพิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้น ว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ให้เพิกถอนสิ่งก่อสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน
6 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลฎีกาพิพากษาคดีราษฎร 35 ราย เป็นโจทก์ฟ้องเพื่อขอออกโฉนดว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ไม่สามารถออกโฉนดได้ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน
22 พฤศจิกายน 2561 ศาลฎีกาพิพากษาในคดีที่ราษฎร นำ น.ส.3 ข. ที่ซื้อจากนายช. ขอให้ออกโฉนด โดยพิพากษายืนที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ไม่สามารถออกโฉนดได้ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินกับบริวารออกจากที่ดิน
ต่อมา รฟท.ได้เข้าไปสำรวจที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง และพบว่า ที่ดินบริเวณส่วนกิโลเมตรที่ 4+540 ถึงกิโลเมตรที่ 8+000 มีชาวบ้านเข้ามาปลูกที่อยู่อาศัย และบางส่วนได้จัดทำเป็นสนามฟุตบอล และสนามแข่งรถ รวมทั้งมีหน่วยงานของรัฐได้มีการขอเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน โดยปัจจุบัน กรมที่ดิน มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในที่ดินของ รฟท. บริเวณแยกเขากระโดงเต็มพื้นที่เป็นจำนวน 4,150 ไร่ 47 ตารางวา จากที่ดินทั้งหมด 5,083 ไร่ 80 ตารางวา
23 มิ.ย.2564 รฟท. ได้มีหนังสือถึงกรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน โดยขอให้กรมที่ดินดำเนินการตรวจสอบที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่ดินของ รฟท. และศาลยุติธรรมเองได้มีการวินิจฉัยรับรองว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท. ทั้งหมด แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ
เดือน ธ.ค.2564 รฟท. ได้ยื่นฟ้องกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และอธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครองกลาง กรณีไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินรถไฟฯ ‘เขากระโดง’
30 มี.ค. 2566 ‘ศาลปกครองกลาง’ สั่ง ‘อธิบดีกรมที่ดิน’ ตั้ง ‘คณะกรรมการสอบสวน’ ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดิน 772 แปลง ที่ออกทับที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’ ภายใน 15 วัน
28 พค. 2566 นายชยาวุธ จันทร ‘อธิบดีกรมที่ดิน’ แจงศาลปกครองเซ็นคำสั่งตั้ง ‘คณะกรรมการสอบสวนฯ’ 2 ชุด เดินหน้าเพิกถอน โฉนด-เอกสารสิทธิ ที่ออกทับที่ดินรถไฟ แล้ว
ตุลาคม 2566 ทนายความของตระกูลชิดชอบ ยื่นข้อมูลคัดค้านการเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวต่อคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน โดยยกข้อต่อสู้ว่า ข้อกล่าวอ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นความเท็จทั้งสิ้น และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นคำวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
22 ตุลาคม 2567 ‘คณะกรรมการสอบสวนฯ’ มีมติไม่เพิกถอนโฉนดที่ดิน ‘เขากระโดง’ 5,000 ไร่ เหตุ ‘รฟท.’ ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันเป็นที่ยุติว่า ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง เป็นของ ‘รฟท.’ ชี้หากเห็นว่ามีสิทธิ์ในที่ดินดีกว่า ก็ให้ไปพิสูจน์สิทธิ์ในศาลฯ