posttoday

  “ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ “นิด้าโพล” ไม่สะท้อนความเป็นจริง

30 ธันวาคม 2567

  “ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ การเมืองไทยระบบอุปถัมภ์ การจัดทำ “นิด้าโพล” ความนิยมผู้นำทางการเมืองชี้นำประชาชน ไม่สะท้อนความเป็นจริง

 วันที่ 30 ธันวาคม 2567  สืบเนื่อง ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 4/2567” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-24 ธันวาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,000 หน่วยตัวอย่าง

 

 

เกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมือง เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ พบว่า บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้

 

อันดับ 1 ร้อยละ 29.85 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (พรรคประชาชน) เพราะ มีความมุ่งมั่นในการสานต่ออุดมการณ์ของพรรคและมีบทบาทที่เข้ากับคนรุ่นใหม่,

 

อันดับ 2 ร้อยละ 28.80 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจ เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีพลังและมุมมองทันสมัย 

 

อันดับ 3 ร้อยละ 14.40 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, อันดับ 4 ร้อยละ 10.25 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และมีภาพลักษณ์ ของผู้นำที่เข้าถึงง่าย,อันดับ 5 ร้อยละ 6.45 นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ มีความสามารถในการบริหารงาน และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศ 

 

ส่วนพรรคการเมือง ที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.30 พรรคประชาชน อันดับ 2 ร้อยละ 27.70 พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 10.60 พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 4 ร้อยละ 8.20 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 5 ร้อยละ 5.15 พรรคภูมิใจไทย อันดับ 6 ร้อยละ 3.40 พรรคประชาธิปัตย์ อับดับ 7 ร้อยละ 3.05 พรรคพลังประชารัฐ อับดับ 8 ร้อยละ 2.50 พรรคไทยสร้างไทย อับดับ 9 ร้อยละ 1.00 พรรคประชาชาติ

ล่าสุด ดร.ณัฎฐ์ ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม มือกฎหมายมหาชนคนดัง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า  การจัดทำผลโพลไม่ว่าจะสำนักโพลใด โดยเฉพาะผลโพลนิด้าล่าสุด ไม่สะท้อนในความเป็นจริง โดยเฉพาะบริบทความนิยมทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการเมือง และพรรคการเมือง ย่อมแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตามบริบทของสังคม ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้

 

เพราะการเมืองไทยนั้นแตกต่าง จากการเมืองในต่างประเทศเพราะการเมืองไทยเป็นระบบการเมืองอุปถัมภ์ เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระหว่างนักการเมืองกับประชาชนเจ้าของอำนาจ ลักษณะใกล้ชิดเหมือนกับบุคคลในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการเมืองท้องถิ่นหรือการเมืองระดับชาติ ดังนั้น เมื่อเวลาเปลี่ยน กาลเวลาเปลี่ยน บริบททางสังคมเปลี่ยน ความนิยมทางการเมืองต่อผู้นำทางการเมือง(หัวหน้าพรรค)หรือพรรคการเมืองต่างๆ ย่อมเกิดขี้นได้โดยฉับพลัน 

 

 แม้วิธีการจัดทำโพล เป็นการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่ปัญหาวิธีการสุ่มตัวอย่างและจัดเก็บ ประมวลผลในยุคปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต เพราะวิธีการจัดเก็บตัวอย่างในยุคดิจิทัล ปัจจุบันจัดเก็บตัวอย่างผ่านระบบออนไลน์ ลักษณะเป็นการชี้นำ ตั้งธงล่วงหน้า โดยจะเห็นข้อพิรุธของ นิด้าโพล ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

 

แสดงว่า ผู้จัดเก็บตัวอย่างและบุคคลผู้ให้สัมภาษณ์ต้องเป็นบุคคลที่รู้จักกันมาก่อน ขาดความเป็นกลาง เพราะมิฉะนั้น ผู้จัดเก็บตัวอย่างไม่อาจเข้าถึงข้อมูลทางโทรศัพท์ของผู้สัมภาษณ์ได้ แม้ระบุขอบเขตทุกภาคของประเทศ จำนวน 2,000 ตัวอย่างก็ตาม ผลโพลจึงมีความน่าเชื่อถือในระดับน้อย  เพราะไม่ได้เกิดจากได้ข้อมูลที่แท้จริงและไม่เป็นไปตามธรรมชาติ 

 

 

 

ส่งผลให้ผลโพลของนิด้าโพล มีระดับความน่าเชื่อถือน้อย ไม่สามารถอ้างอิงผลโพลได้  ดังจะเห็น ภาพรวมการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 4/2567” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-24 ธันวาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เมื่อเปิดเผยผลโพลสู่สาธารณะ มีลักษณะเป็นการชี้นำประชาชน ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ

 

ไม่สะท้อนความเป็นจริงในสังคมไทย เพราะคะแนนนิยมไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการเมือง หรือพรรคการเมือง อยู่ที่ปัจเจกชนเหล่านั้น จะชื่นชอบในตัวบุคคลหรือพรรคการเมืองใด มีตัวแปรอื่นๆ ประกอบกระบวนการตัดสินใจของบุคคล  หากพิจารณาในแง่ สำนักโพล ต้องพึ่งพิงแหล่งทุนในการจัดทำวิจัย ย่อมต้องเอาใจนายทุน  แม้สำนักโพลเหล่านั้น จะระบุชื่อสำนักโพลต่อด้วยชื่อสถาบันการศึกษาให้เกิดความน่าเชื่อถือก็ตาม 

 

ที่ผ่านมา ตนเห็นหลายสำนักโพล ทำนายทายทักผิดพลาด และไม่ตรงต่อความเป็นจริง หน้าแหกไปตามๆกัน โดยเฉพาะความนิยมทางการเมือง จะพบปรากฎการณ์ เห็นได้จาก กลุ่มแอพพลิเคชั่นไลน์ต่างๆ มีการนำข้อความสุ่มตัวอย่างมาลง แล้วชี้นำเพื่อให้สมาชิกในกลุ่ม กรอกข้อความและกดความนิยมของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่กำหนดธงไว้ล่วงหน้า  แล้วจะสะท้อนความนิยมทางการเมืองต่อผู้นำทางการเมืองและพรรคการเมืองตามความเป็นจริงได้อย่างไร

 

ดังนั้น ผลโพลที่ปรากฏของนิด้าโพล ยังไม่สะท้อนถึงความนิยมของผู้นำทางการเมืองและพรรคการเมืองอย่างแท้จริง เพราะขาดตรรกะและวิธีวิจัยที่ถูกต้อง ยังไม่สะท้อนภาพรวมความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะวิธีการสุ่มตัวอย่างและกลุ่มบุคคล การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เฉพาะบุคคล เป็นลักษณะการนั่งเทียน แตกต่างจากอดีตที่วิธีการจัดเก็บตัวอย่างจากประชาชนภาคลงสนามด้วยการสอบถามพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้นได้จริง ตนให้ความรู้แก่ประชาชนอีกแง่มุมหนึ่ง อันเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ  ดังนั้น ผลโพลของนิด้าโพล ล่าสุด ยังไม่สามารถสะท้อนถึงความนิยมบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี และไม่สะท้อนความนิยมในพรรคการเมืองนั้นได้ เป็นเพียงวิธีการชี้นำประชาชนในทางการเมืองเท่านั้น  ทั้งนี้ ผลนิด้าโพลยังไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในทางการเมืองต่อรัฐบาลปัจจุบัน