'ทักษิณ'เมินโพลนิด้า ไม่เป็นไปตามหลักวิชา Research Methodology
ไขความลับ ทำความเข้าใจ Research Methodology หลัง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯระบุเป็นอาจารย์สอนเอง เมินผลนิด้าโพล ไปช่วยหาเสียงเลือกตั้งอบจ.เชียงใหม่ เชียงราย ไม่มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเลือกผู้สมัครพรรคเพื่อไทย
กรณีนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ทักษิณปราศรัยเชียงใหม่ เชียงราย …แล้วเราควรตัดสินใจอย่างไร” ระบุว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย ไปปราศรัยช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกอบจ.เชียงใหม่และเชียงราย
ต่อมา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า “จริงหรอ โพลเรามันตรงข้าม ผมไม่รู้ว่าทำไมเดี๋ยวนี้โพลมันตรงข้ามกัน เพราะโพลใช้มาตั้งแต่ผมอยู่พรรคไทยรักไทย จนถึงเดี๋ยวนี้ แต่ทำไมโพลของนิด้า ออกมาเที่ยวนี้ถึงตรงข้าม และเจาะจงเรื่อยๆ เจาะจงมากเลย”
เมื่อถามว่า จะต้องทำการบ้านให้หนักขึ้นหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า สบายมากเลย ผมเป็นอาจารย์สอน Research Methodology เพราะฉะนั้นรู้อะไรหลายหลายๆอย่าง สบายๆ“
สำหรับ Research Methodology ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นอาจารย์สอน ว่าด้วยเรื่อง ระเบียบวิธีวิจัย สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า คือ กระบวนการที่เป็นระบบในการดำเนินการวิจัย ตั้งแต่การกำหนดปัญหาการวิจัย การออกแบบวิธีการศึกษา การเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล จนถึงการสรุปผลและเผยแพร่ผลการวิจัย
Research Methodology ประกอบด้วยทฤษฎี หลักการ และขั้นตอนต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั้งด้านโลกทัศน์ (World view) หรือกระบวนทัศน์ (Paradigm) และการเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับลักษณะของการวิจัยนั้น ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้หรือผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ต่อไป จากความหมายที่เราได้อ่านมานั้นได้พิจารณาจากความหมายต่าง ๆ ที่นักวิจัยให้หลักแนวคิดไว้ดังนี้
รัตนะ บัวสนธ์ (2551) ได้ให้ความหมายของระเบียบวิธีวิจัยว่าเป็นการรวมกันของโลกทัศน์ (World view) หรือกระบวนทัศน์ (Paradigm) ทฤษฎี หลักการ และขั้นตอนการดำเนินงาน ที่ครอบคลุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดปัญหาการวิจัยจนถึงการนำผลวิจัยไปเผยแพร่และใช้ประโยชน์
พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2555) ให้คำนิยามของวิธีวิทยาการวิจัย (research methodology) ว่าเป็นศาสตร์เกี่ยวกับวิธีการวิจัยที่ใช้ในการศึกษาและค้นคว้าเพื่อแสวงหาความรู้หรือการประดิษฐ์นวัตกรรม และระเบียบวิธีวิจัยนี้สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท เช่น วิธีทดลองและไม่ทดลอง หรือการวิจัยเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ และเชิงผสม
ชำนาญ ปาณาวงษ์ (2567) เสริมว่า ระเบียบวิธีวิจัยคือกระบวนการที่นักวิจัยใช้ในการดำเนินการวิจัยตั้งแต่การกำหนดปัญหาจนถึงการเผยแพร่ผลวิจัย
ระเบียบวิธีวิจัย แบ่งออกเป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะของการวิจัย ซึ่งหลัก ๆ จะแบ่งเป็น
1. Basic กับ Applied
การวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) การวิจัยที่มุ่งเน้นการเพิ่มพูนความรู้พื้นฐานโดยไม่คำนึงถึงการนำไปใช้ในทางปฏิบัติในทันที เช่น การศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างของ DNA เพื่อทำความเข้าใจลักษณะทางพันธุกรรม
การวิจัยประยุกต์ (Applied Research) การวิจัยที่มุ่งเน้นการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในทางปฏิบัติหรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น การวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีนใหม่สำหรับโรคเฉพาะ
2. Qualitative VS Quantitative
การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) การวิจัยที่เน้นการศึกษาและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ผ่านข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวเลข เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกตพฤติกรรม การวิเคราะห์เนื้อหา
การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) การวิจัยที่เน้นการเก็บรวบรวมข้อมูลในรูปแบบของตัวเลขและการใช้สถิติในการวิเคราะห์ เช่น การสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม การทดสอบสมมติฐาน
3. Field กับ Documentary
การวิจัยภาคสนาม (Field Research) การวิจัยที่ดำเนินการในสถานที่จริงที่ปรากฏการณ์เกิดขึ้น เช่น การสัมภาษณ์หรือการสังเกตพฤติกรรมในสถานที่ทำงานหรือชุมชน
การวิจัยจากเอกสาร (Documentary Research) การวิจัยที่อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารที่มีอยู่แล้ว เช่น หนังสือ รายงาน บันทึกทางประวัติศาสตร์
4. Cross-sectional กับ Longitudinal
การวิจัยภาคตัดขวาง (Cross-sectional Research) การวิจัยที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเพื่อทำการเปรียบเทียบหรือวิเคราะห์ข้อมูล ณ ช่วงเวลานั้น
การวิจัยระยะยาว (Longitudinal Research) การวิจัยที่ติดตามกลุ่มตัวอย่างเดียวกันในช่วงเวลาหลายปีหรือหลายช่วงเวลา เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการของกลุ่มตัวอย่างนั้น
5. Experimental กับ Non-experimental
การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) การวิจัยที่มีการควบคุมตัวแปรและสภาพแวดล้อมการทดลอง เพื่อทดสอบสมมติฐานและศึกษาผลกระทบของตัวแปรอิสระต่อตัวแปรตาม เช่น การคิดค้นวัคซีน
การวิจัยที่ไม่ใช่เชิงทดลอง (Non-experimental Research) การวิจัยที่ไม่มีการควบคุมตัวแปรหรือสภาพแวดล้อมการทดลอง แต่ศึกษาและสังเกตปรากฏการณ์ตามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
6. Quasi-experiment
การทดลองกึ่งทดลอง (Quasi-experiment) การวิจัยที่มีการควบคุมตัวแปรบางอย่าง แต่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมดเหมือนในการทดลองเชิงทดลอง มักใช้ในสถานการณ์ที่การสุ่มกลุ่มตัวอย่างไม่สามารถทำได้
7. Inductive กับ Deductive
วิธีการวิจัยเชิงอุปนัย (Inductive Research) วิธีการที่เริ่มจากการสังเกตปรากฏการณ์เฉพาะเจาะจงและพัฒนาเป็นทฤษฎีหรือข้อสรุปทั่วไป
วิธีการวิจัยเชิงนิรนัย (Deductive Research) วิธีการที่เริ่มจากทฤษฎีหรือข้อสรุปทั่วไปแล้วใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเฉพาะเจาะจงเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของทฤษฎีนั้น
8. Descriptive กับ Explanatory
การวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) การวิจัยที่มุ่งเน้นการอธิบายหรือพรรณนาปรากฏการณ์หรือลักษณะของสิ่งที่กำลังศึกษาโดยไม่มีการทดลองหรือทดสอบสมมติฐาน
การวิจัยเชิงอธิบาย (Explanatory Research) การวิจัยที่มุ่งเน้นการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรหรือเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ เพื่อให้เข้าใจกลไกหรือสาเหตุของปรากฏการณ์นั้น ๆ
ระเบียบวิธีวิจัย มีองค์ประกอบสำคัญดังต่อไปนี้
- การกำหนดปัญหาวิจัย เป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัย โดยระบุประเด็นที่ต้องการศึกษาให้ชัดเจน
- การทบทวนวรรณกรรม ศึกษางานวิจัยและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างพื้นฐานความเข้าใจและกรอบแนวคิด
- การออกแบบการวิจัย เลือกวิธีการที่เหมาะสมในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล
- การเลือกกลุ่มตัวอย่าง กำหนดประชากรและวิธีการเลือกตัวอย่างที่เหมาะสม
- การสร้างเครื่องมือวิจัย พัฒนาเครื่องมือที่มีความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้
- การเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการเก็บข้อมูลตามแผนที่วางไว้
- การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้วิธีการที่เหมาะสมกับประเภทของข้อมูลและวัตถุประสงค์การวิจัย
- การสรุปและอภิปรายผล ตีความผลการวิเคราะห์และเชื่อมโยงกับทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
ที่มา สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร