ครป. จี้ "นายกฯ" เร่งสอบปมประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติ หวั่นละเลย ม.157
เครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ (ครป.) บี้ "นายกฯ" เสี่ยง ม.157 หากอุ้มประธาน กสทช. ต่อ เข้าข่ายร่วมกันกระทำผิด อาจถึงขั้นหลุดจากตำแหน่ง
เนื่องในวันสตรีสากล ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ (ครป.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง "ทุนผูกขาดกับการแทรกแซงองค์กรภาครัฐ: ชำแหละ กสทช. และข้อเสนอจากภาคประชาชน" โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้:
ย้อนรอยคดี "พิรงรอง" ชี้ฟ้องปิดปาก
ในงานเสวนาได้มีการพูดถึงกรณีที่ "พิรงรอง รุ่งโรจน์" กรรมการ กสทช. ถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
หลายองค์กรภาคประชาชนมองว่าคดีนี้เป็นการฟ้องเพื่อปิดปาก "พิรงรอง" ซึ่งเป็นผู้ที่ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน พวกเขาวิเคราะห์ว่า
คำพิพากษาฉบับเต็มมีข้อบกพร่องและอาจเป็นการคุกคามการทำงานขององค์กรอิสระ
ครป. บี้ "นายกฯ" สอบประธาน กสทช.
นางลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธาน ครป. กล่าวว่า "พิรงรอง" เป็นกรรมการ กสทช. หญิงเพียงคนเดียวที่ต้องเผชิญกับการต่อสู้
และอาจมีชะตากรรมคล้ายกับ "สุภิญญา กลางณรงค์" อดีตกรรมการ กสทช. ที่เคยถูกกดดันจนต้องพ้นจากตำแหน่ง
นางลัดดาวัลย์ตั้งข้อสังเกตถึง ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ว่าอาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติมาตั้งแต่ต้น
โดย ครป. เคยยื่นเรื่องให้วุฒิสภาตรวจสอบแล้ว และผลการตรวจสอบของกรรมาธิการวุฒิสภาก็ชี้ว่า นพ.สรณ ยังเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยและรับเงินเดือนจากเอกชน
ขณะได้รับการแต่งตั้งเป็น กสทช. แม้ว่า ครป. จะยื่นเรื่องต่อนายกฯ ให้เร่งดำเนินการแล้ว เรื่องก็ยังเงียบ ซึ่งสะท้อนถึงการแทรกแซงองค์กรอิสระโดยกลุ่มทุน
แฉเบื้องหลัง หวังเขี่ย "พิรงรอง" พ้น กสทช.
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กล่าวว่า ความพยายามกำจัด "พิรงรอง" เป็นความร่วมมือของกลุ่มทุนผูกขาด ทุนการเมือง และเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน กสทช. เอง
เนื่องจากกังวลว่าข้อมูลที่ไม่โปร่งใสจะถูกเปิดเผยโดย "พิรงรอง"
เธอชี้ว่า การที่บริษัทเอกชนรีบฟ้องร้องและพยายามให้ศาลสั่ง "พิรงรอง" หยุดปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการผลักดันให้ถึงขั้นจำคุกโดยไม่รอลงอาญา
เป็นความพยายามที่จะให้ "พิรงรอง" พ้นจากตำแหน่ง
น.ส.รสนา กล่าวต่อว่า มีการ "ถ่วงเวลา" ในทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ประธาน กสทช. หลุดจากตำแหน่ง แม้ผลตรวจสอบคุณสมบัติจะชัดเจนแล้ว
แต่ฝ่ายการเมืองก็ยังคงดึงเรื่องไว้เพื่อเป้าหมายบางอย่าง
หากประธาน กสทช. ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติ สิ่งที่ประธานทำมาทั้งหมดอาจเป็นโมฆะ โดยเฉพาะการอนุมัติควบรวมกิจการสื่อสารเมื่อเดือนมีนาคม 2566
ซึ่งการลงมติในครั้งนั้นเสียงก้ำกึ่ง และประธาน กสทช. ต้องใช้สิทธิ "ดับเบิ้ลโหวต" ถึงสองครั้ง หากประธานพ้นตำแหน่ง ผลการโหวตควบรวม "ทรู-ดีแทค" อาจถูกกระทบ
นี่คือเหตุผลที่กลุ่มทุนและนักการเมืองพยายามยื้อเวลาให้ประธานอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพื่อช่วงชิงทรัพยากรของชาติ
"อิฐบูรณ์" เชื่อ มีธง ขจัด "พิรงรอง" พ้นทาง
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลทำให้สังคมเคลือบแคลงใจ โดยเฉพาะการที่ศาลมองว่าข้อต่อสู้ของ "พิรงรอง" ซึ่งเป็นถึงศาสตราจารย์
เป็นข้ออ้างลอยๆ ทั้งที่การประชุม กสทช. มีที่มาที่ไป เขามองว่า การฟ้อง "พิรงรอง" มี "ธง" ไว้แล้ว เพราะ "พิรงรอง" ขัดขวางผลประโยชน์ของผู้ที่ต้องการฉกฉวยเนื้อหาคอนเทนต์ไปหาประโยชน์
บี้ นายกฯ เสี่ยง ม.157 หากอุ้มประธาน กสทช. ต่อ
นายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ (ครป.) กล่าวว่า มาตรา 20 พ.ร.บ. กสทช. กำหนดให้นายกฯ มีอำนาจตรวจสอบคุณสมบัติประธาน กสทช.
เมื่อมีข้อร้องเรียน นายกฯ ต้องเร่งดำเนินการ การที่รองนายกฯ อ้างว่านายกฯ ทราบเรื่องแล้ว แต่ยังไม่ดำเนินการใดๆ ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157
และอาจเข้าข่ายร่วมกันกระทำผิดปกปิดและก้าวล่วงพระราชอำนาจ หากนายกฯ ยังปล่อยให้ประธาน กสทช. ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยไม่ดำเนินการตรวจสอบ
อาจถูกร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และอาจถึงขั้น "หลุดจากตำแหน่ง" ได้