posttoday

Timeline แฉ งบประกันสังคม พบพิรุธเพียบ! ส่อ “ฉ้อราษฎร์บังหลวง”

14 มีนาคม 2568

Timeline "ไอซ์ รักชนก-สหัสวัต" แฉ งบประกันสังคม พบพิรุธเพียบ! ซื้อตึก 7,000 ล้าน แถมหนี้สิน ดูงานถลุงเงินกองทุนฉ่ำ! ส่อ “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” หลักพันล้าน

กลายเป็นประเด็นร้อนหลังสองสส.พรรคประชาชน น.ส.รักชนก ศรีนอก และ นายสหัสวัต คุ้มคง ออกมาเปิดเผยความผิดปกติ ของงบประกันสังคม ที่หากเป็นเรื่องจริง อาจเรียกได้ว่าถูกนำไปถลุงใช้อย่างฟุ่มเฟือย ในขณะที่คนจ่ายเงินอย่างผู้ประกันตนได้รับสิทธิ์เสมือนมาขอใช้บริการฟรี

 

พรรคประชาชน เคยเปิดเผยว่า กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีความมั่งคั่งรวมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ทั้งหมดมาจากการสมทบร่วมจ่ายของลูกจ้าง-นายจ้าง-รัฐบาล เพื่อสร้างสวัสดิการดูแลคนทำงาน แต่ข่าวคราวที่ผ่านมาของกองทุนมีแต่เรื่องที่ชวนให้กังวลใจ ทั้งผลประโยชน์ตอบแทนผู้ประกันตนที่ถูกตั้งคำถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ ความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ และสถานะกองทุนที่ถูกคาดการณ์ว่าเสี่ยงล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า

 

สองสส.พรรคประชาชน ตั้งข้อสังเกตการถลุงใช้งบประกันสังคม จนนำไปสู้การตั้งคณะกรรมการสอบสวน โพสต์ทูเดย์ได้เรียบเรียงไทม์ไลน์สรุปไว้ดังนี้

5 กุมภาพันธ์ 2568

น.ส.รักชนก โพสต์ข้อความวิจารณ์การใช้เงินกองทุนประกันสังคม กรณีอนุมัติ 7,000 ล้านบาท ซื้อตึกที่ไม่ได้ใช้งาน และตั้งคำถามถึงการบริหารกองทุน

 

15 กุมภาพันธ์ 2568

น.ส.รักชนก โพสต์ข้อสังเกต 6 ประเด็น ที่ส่อถึงการใช้จ่ายไม่คุ้มค่าและขาดความโปร่งใส พร้อมเรียกร้องให้ทบทวนการใช้งบประมาณ

1.การดูงานต่างประเทศ

2.งบภาพรวม

3.งบอบรมสัมนา

4.งบประชาสัมพันธ์

5.เทคโนโลยีสารสนเทศ

6.พื้นฐานประกันสังคม

16 กุมภาพันธ์ 2568

น.ส.รักชนก ขยี้ต่อ เปิดข้อมูลงบประมาณประกันสังคม พร้อมตั้งคำถามถึงความไม่คุ้มค่า ประสิทธิภาพ และความไม่โปร่งใส โดยยก 3 ประเด็นหลักน่าจับตา

1.ทริปดูงานฟุ่มเฟือย 6 วัน 5 คืน งบ 2.2 ล้านบาท

2.งบภาพรวมรายจ่าย สปส. เพิ่มขึ้นทุกปี

3. ขั้นตอนเข้าถึงประกันสังคมเข้าใจยาก

 

23 กุมภาพันธ์ 2568

กระแสสังคมเริ่มแรงขึ้น จนมีการเปรียบเทียบว่า สิทธิประกันสังคมด้อยกว่าสิทธิบัตรทอง ทั้งที่จ่ายเงินมากกว่า ทางสำนักงานประกันสังคม จึงได้ออกมาชี้แจง อ้างสิทธิประโยชน์ 7 อย่าง พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ด้อยกว่าสิทธิอื่น

1.เจ็บป่วย

2.ทุพพลภาพ

3.เสียชีวิต

4.คลอดบุตร

5.สงเคราะห์บุตร

6.ชราภาพ

7.ว่างงาน

 

25 กุมภาพันธ์ 2568

คณะกรรมการประกันสังคม เปิดประชุมเป็นครั้งแรก หลังจากเกิดกระแสร้อนเกี่ยวกับเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณและการทำงานของสำนักงานประกันสังคม โดยวาระที่ต้องจับตา คือ แนวทางปฏิรูปประกันสังคมออกจากระบบราชการ และการปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพของผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 ใหม่

 

27 กุมภาพันธ์ 2568

กรรมาธิการติดตามงบประมาณฯ เชิญ สำนักงานประกันสังคม และบอร์ด 3 ฝ่าย ร่วมประชุมกรณีความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ โดยเริ่มจากโครงการเว็บแอป 850 ล้านบาท

 

ตัวแทนบอร์ดฝั่งนายจ้าง ระบุว่า โครงการนี้มีความสำคัญและไม่ต้องตรวจสอบ เพราะทุกอย่างเปิดเผยโปร่งใสอยู่แล้ว และตัวแทนฝ่ายนายจ้างไม่ยินดีให้ข้อมูลกับกรรมาธิการฯ

 

28 กุมภาพันธ์ 2568

น.ส. รักชนก ได้ตั้วคำถามต่อ บอร์ดประกันสังคม ถึงสาเหตุที่ไม่เปิดเผยเอกสารงบประมาณ โครงการเว็บแอป 850 ล้านบาท ว่า "กลัวอะไร ถ้าโปร่งใสต้องตรวจสอบได้" และถามหาความจริงใจของสำนักงานประกันสังคมและบอร์ดทุกบอร์ด ว่ามีความจริงใจหรือไม่ในการให้ผู้ประกันตนได้รู้ว่าเงินของเขาถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง

4 มีนาคม 2568

น.ส.รักชนก และ นายสหัสวัต  ส.ส. พรรคประชาชน เข้าพบนางมารศรี ใจรังสี เลขาธิการ สปส. เพื่อขอความโปร่งใสในการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม

 

โดยสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเงินกองทุนประกันสังคม และข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโดย สปส. ด้านเลขาธิการ สปส. รับปากว่าจะเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดภายใน 1 สัปดาห์

 

10 มีนาคม 2568

น.ส.รักชนก แฉต่อ ปมกองทุนประกันสังคม "เล่นแร่แปรธาตุ" จ่าย 7,000ล้าน ซื้อตึกราคา 3,000ล้าน พร้อมตั้งคำว่าถามว่า มีการเก็บส่วนต่างเป็นทุนทรัพย์ในการเลือกตั้งหรือไม่

 

ด้าน นายสหัสวัต  ชี้ ควรตั้งกรรมการสอบสวนย้อนหลัง พร้อมเผยข้อมูลลับว่า มีเจ้ากระทรวงใช้อำนาจตั้งเด็กหน้าห้องทำดีลจัดซื้อ

 

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน กระทรวงแรงงานมีมติให้ ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับเรื่องนี้ และมีข้อกำหนดว่าจะต้องรายงานผลภายใน 90 วัน เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างโปร่งใส

 

11 มีนาคม 2568

น.ส.รักชนก และ นายสหัสวัต ปูดข้อมูลใหม่ ตึกที่กองทุนประกันสังคม ซื้อในราคา 7,000 ล้าน มาพร้อมหนี้อีก 2,000 ล้าน เตรียมยื่น 

 

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกุล ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทุจริตของการใช้งบประกับสังคม ขีดเส้นรายงานผลใน 90 วัน

 

14 มีนาคม 2568 

ล่าสุดคณะกรรมการสอบสวนเริ่มทำงานตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการต่างๆ ของ สปส. เช่น โครงการซื้ออาคาร 7,000 ล้านบาท และโครงการพัฒนาแอปพลิเคชัน SSO+

 

ทางด้านส.ส. พรรคประชาชน เตรียมเสนอให้มีการปรับปรุงระบบบริหารกองทุนประกันสังคม เพื่อลดปัญหาการรั่วไหลของงบประมาณและให้มีการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ