posttoday

Les Paul นวัตกรผู้บุกเบิกตำนานกีตาร์ไฟฟ้าสมัยใหม่

03 กันยายน 2564

กีตาร์ทรง Les Paul เป็นกีตาร์ที่เคยผ่านตาผู้คนที่ชื่นชอบในดนตรีมาแล้วทั้งนั้น เพราะนอกจากยอดฝีมือจะนิยมใช้งานกันแล้ว ผู้สร้างตำนานอย่าง Les Paul เองก็เป็นแรงบันดาลใจและพลิกโฉมวงการดนตรียุคใหม่อีกด้วยเช่นกัน

          ถ้าพูดถึงกีตาร์ไฟฟ้ายอดฮิตที่คนนิยมใช้กันทั่วไปทุกวันนี้ก็คงหนีไม่พ้นกีตาร์จากสองแบรนด์ยักษ์อย่าง Fender และ Gibson ที่เป็นตำนานในวงการดนตรีกันทั้งคู่ ซึ่ง Fender นั้นสามารถผลิตกีตาร์สมัยใหม่แบบจำนวนมากออกสู่ตลาดได้ก่อน แต่จุดเริ่มต้นของความสำเร็จนั้นถูกจุดไฟขึ้นมาด้วยชายที่ชื่อว่า Les Paul ซึ่งชื่อของเขากลายมาเป็นชื่อรุ่นของกีตาร์ในตำนานของ Gibson นั่นเอง

 

          ในสมัยก่อนนั้นการเล่นกีตาร์ร่วมกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากไม่น้อย เพราะแรกเริ่มเดิมทีแล้วกีตาร์นั้นเป็นเครื่องดนตรีอะคูสติกที่เสียงเบาอย่างมากหากเทียบกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น เปียโน ทรัมเป็ต ฟลุต หรือกลองชุดเป็นต้น นั่นเป็นเพราะขนาดลำตัวของกีตาร์ที่มีขนาดเล็กรวมไปถึงวิธีเล่นที่สร้างความต่อเนื่องในการสั่นของเสียงได้น้อย ไม่ว่าจะเป็นการกดโน้ตแต่ละตัวหรือการเล่นคอร์ดเมื่อเทียบกับเครื่องสายเหมือนกันอย่างไวโอลินหรือวิโอลาที่มีขนาดเล็กกว่ามากแต่เล่นด้วยวิธีการสีและสามารถสร้างการสั่นสะเทือนได้อย่างต่อเนื่อง

 

          เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว  George Beauchamp จึงได้พัฒนาอุปกรณ์สำหรับขยายเสียงกีตาร์ด้วยไฟฟ้าขึ้นมาใช้กับกีตาร์แบบ Lap Steel ผลิตโดย Rickenbacker และในเวลาต่อมาก็ได้ถูกต่อยอดมาเป็นกีตาร์ไฟฟ้ายุคแรก ๆ ของโลก
 

กีตาร์เจ้ากรรมกับเสียง Feedback อันน่ารำคาญ
          เมื่อ Rickenbacker สามารถติดตั้งอุปกรณ์ขยายเสียงหรือที่เราเรียกกันว่า ‘ปิ๊กอัพ (Pickup)’ ให้กับกีตาร์ได้แล้ว การใช้งานของกีตาร์ในวงดนตรีก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสามารถในการพกพาที่ง่ายและเป็นเครื่องที่สามารถสร้างเสียงประสานได้ดีให้กับวง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นคู่ (Duo) วงสามชิ้น (Trio) หรือการเล่นในวงขนาดใหญ่ที่มีเครื่องดนตรีหลากหลายอย่าง Big Band ก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องกังวลว่าเสียงจะโดนกลบหายอีกต่อไป

 

          แต่ถึงอย่างนั้นปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นมาเป็นเงาตามตัว เสียง Feedback หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ‘หอน’ อย่างเช่น กีตาร์หอน หรือไมค์หอนเวลาไปยืนใกล้ลำโพงหรือเครื่องขยายเสียงมากเกินไปก็กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องแก้ ซึ่งเมื่อรวมกับลักษณะทางกายภาพของกีตาร์ในสมัยนั้นที่เป็นอะคูสติกต้องมีช่องกลวงเพื่อให้สะท้อนเสียงด้วยแล้ว อาการ ‘หอน’ ที่เกิดขึ้นก็ยิ่งดังโหวกเหวกไปกันใหญ่ และด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีรวมถึงสถานที่ การที่มือกีตาร์จะยืนห่างจากเครื่องขยายเสียงหรือแอมป์ก็ยิ่งทำได้ยากเพราะจะไม่อาจได้ยินเสียงที่ตัวเองเล่นได้เลยเวลาต้องเล่นร่วมกับเครื่องดนตรีเสียงดังอื่น ๆ ผลที่เกิดขึ้น คือ แม้ว่ากีตาร์จะเสียงดังขึ้นแต่ก็ไม่อาจเสียงดังได้มากเท่าที่ต้องการเพราะต้องเฝ้าระวังเสียงหอนที่จะเกิดขึ้นจากการสะท้อนเสียงไปมาระหว่างแอมป์และปิ๊กอัพนั่นเอง

 

          ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มือกีตาร์ต่างได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า เรียกว่าเป็นปัญหาสามัญในสมัยนั้นก็ว่าได้ เมื่อปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื้อรังผู้คนจึงพยายามหาทางออกให้กับเสียงรบกวนไม่พึงประสงค์นี้ และมือกีตาร์คนหนึ่งก็ได้เปิดประตูบานใหม่สำหรับกีตาร์ขึ้นมา นั่นก็คือ ‘Les Paul’

 

Les Paul มือกีตาร์/นวัตกรผู้ไม่ยอมเลี่ยงปัญหา
          ‘Lester William Polsfuss’ หรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า ‘Les Paul’ เป็นมือกีตาร์แจ็ซ (Jazz) คนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาหาทางเอาชนะปัญหาน่ารำคาญนี้ Les Paul ได้ทดลองแก้อาการหอนที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา ยิ่งทำมากเท่าไหร่ยิ่งเห็นได้ชัดว่าความแข็งหรือการที่ยิ่งมีช่องว่างน้อยเท่าไหร่ในลำตัวหรือคอกีตาร์ รวมถึงวิธีการยึดสายเข้ากับกีตาร์นั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการลดเสียงหอน 


The Log กีตาร์ต้นแบบสำหรับกีตาร์ไฟฟ้ายุคใหม่

          เมื่อตระหนักได้ชัดเจน Les Paul ไม่รอช้ารีบออกแบบแนวคิดสำหรับกีตาร์ต้นแบบทันที สิ่งที่คิดออกเป็นอย่างแรก คือ ไม้สักชิ้นที่มีความหนาพอสมควรและมีรูปทรงใกล้เคียงกับกีตาร์ ซึ่งเขานึกถึงไม้หมอนสำหรับรองรางรถไฟที่มีลักษณะตรงกับความต้องการอย่างพอดิบพอดี และแล้ว Les Paul ก็นำไม้สนขนาด 4x4 มาติดเข้ากับคอของกีตาร์แบรนด์ Epiphone และปิ๊กอัพทำเองจากอุปกรณ์ที่หาได้ จากนั้นจึงติดตั้งสะพานกีตาร์หรือ บริดจ์ (Bridge) ลงไปพร้อมกับ Vibrola Tailpiece เพื่อยึดสาย จากนั้นจึงกลายเป็นตัวต้นแบบของกีตาร์ที่ชื่อว่า ‘The Log’ หรือขอนไม้ซึ่งเป็นต้นแบบของกีตาร์สมัยใหม่ ด้วยการดัดแปลงไมโครโฟนของโทรศัพท์และวิทยุให้กลายเป็นเครื่องขยายเสียงเพื่อทำการทดสอบ ผลลัพธ์ตอกย้ำชัดว่าความหนาแน่นและแข็งแรงจากไม้หมอนนั้นทำให้สายกีตาร์สั่นอย่างต่อเนื่องได้นานกว่าเดิมและที่สำคัญไม่มีเสียงหอนให้รำคาญใจอีกต่อไป

 

          แต่ด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นเหมือนเครื่องดนตรีหลังวันโลกาวินาศของ The Log ทำให้ Les Paul ตัดสินใจไปที่โรงงาน Epiphone เพื่อเลื่อยตัวกีตาร์ที่ใช้ในสมัยนั้นออกเป็นสองส่วนและยึดเข้ากับแกนกลางที่ทำเสร็จ ชิ้นส่วนที่ติดเข้าไปจึงเหมือนเป็นปีกให้กับ The Log และทำให้ดูภายนอกไม่แตกต่างจากกีตาร์สมัยนั้น ซึ่งแน่นอนว่ามันทำให้ผู้คนสามารถเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น

 

          นอกเหนือจากการสร้าง The Log ซึ่งต้นแบบของกีตาร์ตัวตัน (Solid Body) แล้ว Les Paul ยังเป็นคนที่พาอุตสาหกรรมดนตรีโดยเฉพาะการบันทึกเสียงก้าวข้ามไปยังยุคใหม่อีกด้วย เช่น แนวคิดการบันทึกเสียงแบบ Multi-Track แบบ 8 แทร็ก ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับบริษัท Ampex จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้การบันทึกเสียงสามารถทำได้ง่ายขึ้น หรือการพัฒนาเอฟเฟกต์แต่งเสียงอย่าง Delay ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันก็มีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดของ Les Paul เช่นกัน

Les Paul และกีตาร์ Gibson Les Paul และเครื่องบันทึกเสียง 8 Track

          ความสำเร็จของ Les Paul ในการสร้างสิ่งใหม่ ๆ นั้นไม่ได้มาจากพรสวรรค์ แต่เป็นความต้องการอันแรงกล้าและการไม่โอนอ่อนให้กับสิ่งที่ ‘ไม่ใช่’ หรือไม่ตรงกับความต้องการของตัวเอง ในบางครั้งคนส่วนมากมักยอมปล่อยผ่านให้กับปัญหาที่มองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือปัญหาที่ ‘ใคร ๆ ก็เจอ’ แต่ไม่ใช่สำหรับ Les Paul ผู้ที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกใจเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงหอนของกีตาร์ การบันทึกเสียงที่ยุ่งยาก หรือแม้การเปลี่ยนเสียง Reverb แบบ Concert Hall ขมุกขมัวพร่าเลือนให้กลายเป็นเสียงสะท้อน (Echo) ซ้ำ ๆ ที่ควบคุมได้ที่นักดนตรีต่างหยิบมาใช้กันจนเป็นเรื่องธรรมดา


Les Paul กับกีตาร์ที่เขาดัดแปลงเพิ่มเติมด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเขา           แม้ว่า Les Paul จะจากโลกนี้ไปแล้วในปี 2009 ความทุ่มเทของ Les Paul นั้นได้รับการยอมรับและถูกจดจำในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรางวัล National Medal of Arts ปี 2007 รางวัล Grammy Award ปี 2005 และปี 1976 ในปี 1988 ชื่อของ Les Paul ได้ถูกจารึกลงในหอเกียรติยศร็อคแอนด์โรลซึ่งถือเป็นหมุดหมายแห่งตำนานอีกจุดหนึ่งในโลกของดนตรี นอกจากนี้ชื่อของ Les Paul ยังถูกรำลึกถึงในฐานะกีตาร์รุ่นยอดฮิตที่สุดรุ่นหนึ่งของกีตาร์ไฟฟ้าซีรีย์ Les Paul ที่เขาเป็นคนพัฒนาขึ้นมาสำหรับแบรนด์ Gibson และ Epiphone จนทุกวันนี้อีกด้วย
 

ทศธิป สูนย์สาทร

ผู้หลงใหลในเสียงดนตรี ความงาม และเทคโนโลยี

--------------------

ที่มา:
https://www.les-paul.com/
https://www.guitarguitar.co.uk/news/141019/
https://www.britannica.com/biography/Les-Paul