posttoday

ฮาโลวีน สัญลักษณ์แห่งความเชื่อและวันปล่อยผีสากล

30 ตุลาคม 2564

ฮาโลวีน วันเทศกาลปล่อยผีจากตะวันตกที่ให้เราแต่งตัวเลียนแบบภูตผีต่างๆ แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าพื้นเพของประเพณีนี้ แท้จริงมีอายุยืนยาวหลายพันปีและไม่ใช่แค่ตะวันตก แท้จริงมีร่องรอยของประเพณีนี้นี้อยู่ทั่วทุกมุมโลก

Highlights

  • ฮาโลวีนเป็นความเชื่อที่มีพื้นเพจากฝั่งตะวันออก ถือเป็นเทศกาลที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้แต่งตัวเป็นภูตีปีศาจ ร่วมสนุกในงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก
  • แท้จริงฮาโลวีนเริ่มต้นขึ้นจากพื้นเพความเชื่อของชาวเคลท์ เป็นเทศกาลหลังฤดูเก็บเกี่ยว สืบต่อกันมาในหมู่ของชาวสก็อตและไอริช ก่อนแพร่หลายไปทั่วโลกเมื่อเกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังสหรัฐฯ
  • ในความเชื่อทั่วโลกล้วนมีวันปล่อยผีหลังฤดูเก็บเกี่ยวของตัวเองทั้งสิ้น ในวัฒนธรรมเอเชียเองก็มีวันสารทจีน หรือแม้แต่ในไทยก็มีวันสารทเดือนสิบ สิบสองเป็ง จนถึงชิงเปรต
  • ปัจจุบันกลายเป็นเทศกาลงานฉลองแสดงความเป็นสากล ภาพแทนของงานเลี้ยงสังสรรค์ความสนุกสนานรื่นเริง แต่ก็มีบางส่วนที่ยังยึดติดขนบให้ความเคารพดวงวิญญาณอยู่

--------------------

ภาพฉลองเทศกาลฮาโลวีน           บรรจบหมุนเวียนกลับมาอีกครั้งกับช่วงเวลาปลายเดือนตุลาคม สิ่งแรกที่เรานึกถึงย่อมเป็นเทศกาลฮาโลวีนในวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปีหรือที่เรารู้จักกันในฐานะวันปล่อยผี เป็นเทศกาลรื่นเริงจากตะวันตกให้ผู้คนออกมาแต่งตัวเป็นภูตผีปีศาจทั้งหลาย


          ถือเป็นเรื่องแปลกตาสำหรับคนฝั่งตะวันออกอยู่ไม่น้อย ในด้านความเชื่อและการแต่งตัวเลียนแบบภูตีผีออกมาเป็นงานรื่นเริง กลายเป็นเทศกาลให้คนทุกเพศทุกวัยร่วมสนุก กลายเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมได้รับความนิยมไปทั่วโลก ดังนั้นวันนี้เราจะมาลงลึกรายละเอียดเกี่ยวกับความเชื่อนี้สักหน่อย เพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้และเข้าใจเรื่องราวสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเชื่อในวันปล่อยผีมากขึ้น

ฮาโลวีน สัญลักษณ์แห่งความเชื่อและวันปล่อยผีสากล ประวัติความเป็นมาของวันฮาโลวีน
          พื้นเพความเป็นมาเกี่ยวกับความเชื่อวันฮาโลวีนสันนิฐานว่าจะเริ่มมาจากวัฒนธรรมเคลติกของชาวเคลท์ ชนเผ่าโบราณที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบไอร์แลนด์ โดยในวันที่ 1 พฤศจิกายนถูกเรียกว่า Samhain ชื่อของเทพเจ้าแห่งความตายของพวกเขา โดยวันดังกล่าวถูกนับเป็นวันขึ้นปีใหม่ นั่นหมายถึงวันที่ 31 ตุลาคมคือวันสิ้นปีนั่นเอง


          ในคติของชาวเคลท์ช่วงเวลาขึ้นปีใหม่ถือเป็นการเริ่มต้นฤดูหนาว ทำให้ผู้คนต้องเริ่มเตรียมพร้อมรับสภาพอากาศอันเลวร้าย เป็นช่วงเวลาสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวทั้งในด้านเพาะปลูกหรือล่าสัตว์ นำเอาผลผลิตที่ได้มาหลังการเก็บเกี่ยวอันยากลำบากมากักตุนให้ผ่านพ้นฤดูหนาว อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาญาติพี่น้องอยู่พร้อมหน้า จึงกลายเป็นที่มาของงานฉลองและพิธีกรรมต่างๆ

 

          หนึ่งในนั้นรวมถึงพิธีเกี่ยวกับดวงวิญญาณด้วยความเชื่อทางศาสนา ดังที่บอกไปว่าวันปีใหม่ของพวกเขาถูกเรียกขานกันด้วยชื่อเทพเจ้าแห่งความตาย ทำให้วันฉลองดังกล่าวจึงเป็นวันที่ประตูนรกเปิดออก เชื่อมต่อระหว่างโลกคนเป็นและคนตายเข้าด้วยกัน เป็นเหตุให้ดวงวิญญาณมากมายออกมาเพ่นพ่าน

 

          ตามความเชื่อของพวกเขาในช่วงเวลานี้วิญญาณของผู้เสียชีวิตในแต่ละปีจะเดินทางไปสู่ปรโลก ขณะเดียวกันคนที่จากไปก็จะหาทางกลับมาเยี่ยมเยียนญาติมิตร ครอบครัว หรือเพื่อนฝูงของพวกเขา รวมถึงบรรดาภูตผีวิญญาณร้ายต่างๆ ที่พากันออกมาหาสิงสู่คนเป็นเพื่อกลับไปมีชีวิตรวมทั้งทำร้ายคนเป็น สร้างความหวาดกลัวแก่ผู้คนนำไปสู่การคิดหาทางป้องกัน

          นั่นทำให้ชาวเคลท์มีพิธีจุดคบไฟบนยอดเขา ถือว่านั่นเป็นไฟศักดิ์สิทธิ์ไว้สำหรับปัดเป่าวิญญาณร้าย นำผลผลิตที่ได้มาจากการเก็บเกี่ยวล่าสัตว์มาบวงสรวงบูชายัญ ส่งเสียงดังสนั่นเพื่อขับไล่ หรือแม้แต่การแต่งกายเลียนแบบภูตผี เพื่อหลอกวิญญาณร้ายว่าที่นี่ไม่มีมนุษย์อาศัย เป็นความเชื่อที่เกิดจากการบูชาธรรมชาติและดวงวิญญาณในแบบของพวกเขา


          แม้ในภายหลังอารยธรรมเคลท์ถูกรุกรานปกครองด้วยเงื้อมือโรมันประเพณีนี้ก็ไม่หายไป ทางโรมันได้เพิ่มเทศกาลเฟราเรียเพื่อระลึกถึงแก่ผู้ที่จากไป อีกทั้งยังเป็นการบวงสรวง โพโมนา เทพธิดาแห่งการเก็บเกี่ยวและความอุดมสมบูรณ์ของพวกเขาอีกด้วย

 

          ต่อมาในยุคคริสตจักรความแพร่หลายของศาสนาคริสต์ต้องการปรับตัวเข้าหาวัฒนธรรมพื้นถิ่น ทำให้เกิดแนวคิดในการย้ายวัน All Saints Day วันรำลึกถึงนักบุญและผู้เสียชีวิต จากเดิมวันที่ 13 พฤษภาคม ไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายนแทน แต่การเฉลิมฉลอง Halloween ยังคงฝังลึกในวัฒนธรรมชาวสก็อต ไอริช รวมถึงชนพื้นเมืองบางกลุ่ม

 

          กระทั่งเริ่มเกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานไปสู่แผ่นดินใหม่สู่ทวีปอเมริกา โดยเฉพาะในช่วงการอดอยากครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ที่คร่าชีวิตประชากรไปนับล้าน ทำให้ชาวไอริชจำนวนมากอพยพไปตั้งถิ่นฐาน นำเอาวัฒนธรรมพื้นถิ่นของพวกเขาติดตัวไปแพร่หลาย จนได้รับความนิยมกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสหรัฐฯ ก่อนกระจายกลับมายุโรปและเป็นงานเทศกาลดังทั่วทุกมุมโลก

ชาวเคลท์ อารยธรรมต้นกำเนิดฮาโลวีน วันปล่อยผี วัฒนธรรมที่มีร่องรอยอยู่ทั่วโลก
          แน่นอนว่าพิธีกรรมเพื่ออุทิศแก่ดวงวิญญาณผู้ล่วงลับไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่แทรกซึมอยู่ในหลากหลายวัฒนธรรมที่มีความเชื่อเกี่ยวกับดวงวิญญาณ เป็นวัฒนธรรมที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปโดยเฉพาะในซีกโลกตะวันออกที่มีความผูกพันต่อบรรพบุรุษ นั่นทำให้ในสายตาบ้านเราฮาโลวีนเป็นเทศกาลรื่นเริงทั่วไป

 

          สำหรับในประเทศไทยเทศกาลระลึกถึงคนตายเหล่านี้ถูกเรียกว่า วันสารทเดือนสิบ จัดขึ้นในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 พิธีกรรมส่วนมากเกี่ยวพันกับวัด เริ่มตั้งแต่การทำบุญตักบาตรตามธรรมเนียมท้องถิ่น อุทิศบุญกุศลให้ญาติพี่น้องและบรรพบุรุษที่จากไป เพื่อให้บุญกุศลที่ทำในวันนี้พาพวกเขาไปสู่ภพภูมิที่ดีกว่า รวมถึงเป็นการแสดงความขอบคุณพระแม่โภสพ ผีไร่ ผีนาทั้งหลายที่ช่วยให้พืชผลต้นข้าวเจริญงอกงาม

 

          พื้นเพของธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อเรื่องดวงวิญญาณในไทย โดยเป็นการแสดงความเคารพอุทิศแก่บรรพบุรุษ รวมถึงการบวงสรวงภูตผีและธรรมชาติไปพร้อมกันตามความเชื่อของสังคมเกษตรกรรม ด้วยในช่วงเดือน 10 เป็นเวลาที่ต้นกล้ากำลังเจริญงอกงามรอการเก็บเกี่ยว ทำให้ชาวนามีเวลาพอจัดพิธีรื่นเริงเหล่านี้เพื่อเป็นการขอบคุณดวงวิญญาณ

 

          ความเชื่อเหล่านี้กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของไทย ในภาคเหนือจะเรียกว่า ประเพณีสิบสองเป็ง เป็นวันที่พญายมปล่อยดวงวิญญาณในนรกให้ออกมารับส่วนบุญในวันนี้ ทำให้มีการเข้าวัดทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณ

 

          ประเพณีสิบสองเป็งนี้มีความเชื่อใกล้เคียงกับวันสารทจีน โดยมีพื้นฐานทางความคิดจากการที่ประตูนรกเปิดออกทำให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษมีโอกาสกลับมาหาลูกหลาน จึงมีการเตรียมของคาวหวาน ผลไม้ ขนม จนถึงเครื่องดื่มไว้เซ่นไหว้แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ อีกทั้งมีการเผากงเต๊กเป็นการส่งข้างของเครื่องใช้และเงินทองไปให้ผู้ล่วงลับอีกด้วย

ของเซ่นไหว้ในประเพณีวันสารทเดือนสิบ เทศกาลฮาโลวีนในปัจจุบัน
          ภายหลังถูกจุดกระแสกลายเป็นงานรื่นเริงไปทั่วโลก ฮาโลวีนจึงกลายเป็นเทศกาลรื่นเริงที่ผู้คนจะออกมาเฉลิมฉลองกัน โดยมีการแต่งชุดเลียนแบบภูตผี ปีศาจ สิ่งมีชีวิตสยองขวัญต่างๆ ตามยุคสมัย หลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นในหลายท้องที่ ไม่ว่าจะเป็นแม่มด ตัวตลก ซอมบี้ หรือล่าสุดอย่างผู้คุมเกมในซีรีย์ดังอย่าง Squid game ก็ตาม

 

          ในปัจจุบันฮาโลวีนจึงเป็นเทศกาลงานฉลองเปี่ยมไปด้วยสีสัน ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในหมู่ของเด็กและวัยรุ่นเพราะสามารถแต่งตัวเลียนแบบภูตผีได้ รวมถึงมีห้างสรรพสินค้า ร้านรวง สวนสนุกมากมายตกแต่งสถานที่ให้เข้ากับบรรยากาศ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเล่นสนุกหรือต้องการความสยองขวัญทั้งหลาย

 

          อีกการละเล่นประจำเทศกาลที่มองข้ามไปไม่ได้คือ Trick or Treat การละเล่นที่เดิมเป็นการขอขนมสำหรับบวงสรวงดวงวิญญาณ แต่ถูกนำมาดัดแปลงให้เป็นกิจกรรมของเด็กๆ ในการแต่งตัวเลียนแบบภูตผี และเคาะประตูตามบ้านเพื่อร้องขอขนมจากเจ้าของบ้านเหล่านั้น โดยหากไม่ให้ก็จะมีการกลั่นแกล้งโดยแลบลิ้นปลิ้นตาเล็กๆ น้อยๆ สร้างสีสันให้เทศกาลแทน

 

          นอกจากมีการเลี้ยงฉลอง งานปาร์ตี้ รวมถึงการเล่นทริกออร์ทรีตแล้ว แต่ละท้องที่ยังมีกิจกรรมการละเล่นเฉพาะถิ่น เช่น เกม Snap apple ของไอร์แลนด์ ที่ให้ผู้เล่นกัดลูกแอปเปิ้ลที่ถูกแขวนบนต้นไม้ หรือสต็อกแลนด์ที่มีกิจกรรมรับลูกแอปเปิ้ลด้วยปาก ไปจนการจัดขบวนพาเหรดแฟนตาซีใหญ่โตเน้นชุดแต่งกายน่ากลัวสมจริงอลังการแบบสหรัฐฯ

 

          นอกจากงานรื่นเริงแล้วมีอีกหลายประเทศเช่นกันที่ยังนิยมจัดในบรรยากาศครอบครัว เพื่อเป็นการระลึกถึงผู้ที่จากไปอย่างออสเตรีย ที่มีการตั้งโต๊ะบูชาโดยจุดเทียนและวางขนมปังกับเครื่องดื่มไว้บนโต๊ะก่อนเข้านอน ประดับประดาหลุมศพคนที่รัก รวมถึงการสวดมนต์แก่คนที่จากไป หรือพิธีการใหญ่โตที่ผสมผสานความเชื่อพื้นถิ่นไว้อย่าง Dia de los Muertos ของเม็กซิโก เป็นต้น

การแต่งตัวของเด็กๆ ในวันฮาโลวีน           สำหรับชาวเอเชียเราวัฒนธรรมฮาโลวีนเป็นได้แค่เทศกาลแต่งตัวเลียนแบบผีสร้างความสนุกสนาน น้อยประเทศที่จะสืบทอดแนวคิดด้านนี้จริงจังนอกจากฟิลิปปินส์ที่เคยถูกสหรัฐฯปกครอง ส่วนหนึ่งมาจากการที่นี่เป็นวัฒนธรรมต่างถิ่นจากทางตะวันตก แต่อีกส่วนเป็นเพราะชาติในเอเชียก็มีความเชื่อเกี่ยวกับดวงวิญญาณและวันปล่อยผีอยู่แล้วนั่นเอง

 

          ดังนั้นสำหรับชาวไทยนี่จึงเป็นเทศกาลสร้างสีสันและความสนุกสนานให้เราได้ร่วมสนุกอย่างเต็มตัว

-------------------
ที่มา: