posttoday

ในวันที่ตัวตลกไม่ตลก โจ๊กเกอร์ สัญลักษณ์แห่งความรุนแรงและบ้าคลั่ง

05 พฤศจิกายน 2564

โจ๊กเกอร์ คู่ปรับคลอดกาลชองแบทแมนกลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง ภายหลังเหตุสะเทือนขวัญในรถไฟใต้ดินใจกลางกรุงโตเกียว ที่มีชายแต่งตัวเป็นชุดโจ๊กเกอร์ไล่แทงผู้โดยสาร วันนี้เราจึงมาเท้าความสักนิดว่าเหตุใด โจ๊กเกอร์จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุนแรง

Highlights

  • โจ๊กเกอร์ คืออาชาญากรที่แต่งหน้าเป็นตัวตลก ถือเป็นหนึ่งในศัตรูคู่ฟ้าของแบทแมนที่ขับเคี่ยวกันมายาวนาน และโด่งดังจนมีภาพยนตร์ของตัวเองในชื่อ Joker(2019) ที่กวาดรายได้ไปทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • เดิมความหวาดกลัวตัวตลกถูกเรียกในชื่อ Coulrophobia มักพบอาการเหล่านี้ในเด็ก เกิดขึ้นจากการปลูกฝังของผู้ใหญ่และสื่อเกี่ยวกับภาพยนตร์สยองขวัญ รวมถึงฆาตกรต่อเนื่องตัวตลกอย่าง จอร์น เวย์น เกซี่
  • บทบาทโจ๊กเกอร์ถูกถ่ายทอดจากนักแสดงชั้นนำมากมาย ตั้งแต่ แจ็ค นิโคสัน, ฮีธ เล็ดเจอร์, จาเร็ต เล็ตโต้ และ วาคีน ฟินิกส์ ผลักดันตัวละครนี้ให้โด่งดังและกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุนแรง
  • แต่การตีความผิดที่ผิดทางของผู้ชมก่อให้เกิดแรงบันดาลใจผิดๆ จนตัวละครโจ๊กเกอร์กลายเป็นข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงหลายครั้งในสังคม ตั้งแต่เหตุกราดยิงในเมืองออโรร่าปี 2012 หรือการใช้มีดไล่แทงคนในรถไฟใต้ดินสถานีโตเกียวเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา

--------------------

          ในโลกภาพยนตร์คงไม่มีใครไม่รู้จักหนึ่งในฮีโร่ยอดนิยมตลอดกาล แบทแมน อัศวินรัตติกาลผู้กวาดล้างอาชญากรภายในเมืองก็อทแธม จากเนื้อหามืดหม่นและเข้มข้นเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว สร้างความประทับใจให้แก่แฟนคลับทั่วโลกมายาวนาน นั่นทำให้ตัวละครภายในเรื่องหลายตัวถูกผลักดันให้ได้รู้จักเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะคู่ปรับตลอดกาลอย่างโจ๊กเกอร์

 

          ความนิยมและโด่งดังของตัวละครโจ๊กเกอร์ทำให้เป็นที่พูดถึงไม่แพ้ตัวเอกอย่างแบทแมน ถึงขั้นมีการสร้างภาพยนตร์ Joker ในปี 2019 กวาดรายได้ไปกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯทั่วโลกจากทุนสร้างเพียง 55 ล้าน รวมถึงคะแนนในเว็บไซต์ IMDb อีก 8.4 เต็ม 10 ก็ยืนยันถึงการประสบความสำเร็จของหนังเป็นอย่างดี

          แต่ในปัจจุบันภาพลักษณ์ของโจ๊กเกอร์กลายเป็นสิ่งปนเประหว่างความชอบและเกลียด ภายหลังเหตุการณ์ร้ายหลายครั้งเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับตัวละครนี้ รวมถึงการแสดงอันยอดเยี่ยมภายในภาพยนตร์ทำให้ผู้คนรู้สึกคล้อยตาม ขยันฐานะของโจ๊กเกอร์จากตัวละครวายร้ายตัวฉกาจให้กลายเป็นตัวละครที่คนให้ความชื่นชอบนำไปเป็นแบบอย่าง

 

          ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องดีเมื่อแท้จริงโจ๊กเกอร์เป็นสัญลักษณ์แทนความรุนแรงและอาชญากรรม

Joker ภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นจากความนิยมของตัวร้ายรายนี้

ทำไมตัวตลกจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวาดกลัวน่าขนลุก
          ก่อนจะพูดถึงตัวละครที่เรารู้จักกันคงต้องพูดถึงตัวตลกโดยรวมก่อน เดิมเรามักพบเห็นตัวตลกได้ตามงานฉลอง เป็นคนที่คอยสร้างความสุขและเสียงหัวเราะแก่ผู้คน แต่บางครั้งตัวตลกอาจสร้างความหวาดกลัวมากกว่าความสนุกสนานได้เช่นกัน

 

          สิ่งนี้อ้างอิงจากอาการหวาดกลัวตัวตลกที่ถูกเรียกว่า Coulrophobia มักพบมากในเด็กและจะค่อยๆ ดีขึ้นตามการเติบโต สาเหตุความหวาดกลัวเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากหลายอย่าง ทั้งรูปลักษณ์ของตัวตลกรวมถึงการปลูกฝังจากสื่อหรือคนรอบข้าง

 

          กรณีแรกเกิดขึ้นมาจากรูปลักษณ์ตัวตลกเอง แม้ถูกแต่งแต้มใบหน้าให้ดูร่าเริงเต็มไปด้วยรอยยิ้มน่าจะเป็นมิตรก็จริง แต่เราปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามันดูแปลกประหลาด สร้างความรู้สึกไม่น่าไว้ใจหรือเข้าใกล้โดยเฉพาะกับเด็กๆ ยิ่งตัวตลกที่ได้รับการว่าจ้างต้องพยายามเข้าหาคอยสร้างเสียงหัวเราะ แต่สำหรับเด็กบางคนอาจอึดอัดจนขยายตัวเป็นความหวาดกลัวในที่สุด

 

          ส่วนสาเหตุความหวาดกลัวเป็นที่โจษจันในสหรัฐฯคือ คดีฆาตกรรมต่อเนื่องของ จอร์น เวย์น เกซี่ ฆาตกรต่อเนื่องผู้ฆ่าข่มขืนเด็กผู้ชายไปกว่า 33 ศพ โดยอาศัยการล่อลวงในรูปแบบต่างๆ และด้วยความที่ภาพลักษณ์ของคนร้ายคือชายผู้ใจบุญ มักจัดงานเลี้ยงแก่โรงพยาบาล ชอบแต่งเป็นตัวตลก ทำให้เขาถูกเรียกขานว่า ฆาตกรตัวตลก ไปโดยปริยาย 

          เรื่องราวของจอร์นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้สื่อจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือหนังสือในยุคต่อจากนั้นพากันหยิบเรื่องนี้มาอ้างอิง ทำให้ภาพลักษณ์ของตัวตลกหลังเหตุฆาตกรรมในคราวนั้น ถูกแทนที่ด้วยภาพลักษณ์ของฆาตกรและปีศาจร้าย อย่างที่ปรากฏในภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง It

 

          นั่นทำให้ตัวตลกที่น่าจะใจดีและเป็นมิตรกับเด็กๆ กลายเป็นสิ่งชวนหวาดกลัวน่าขนลุกในสายตาทุกคนไป

จอร์น เวย์น เกซี่ ฆาตกรตัวตลกที่โด่งดังในสหรัฐฯ เจ้าชายอาชญากรรมแห่งก็อทแธม - ตัวตลกแห่งความบ้าคลั่ง
          โจ๊กเกอร์ คู่ปรับตลอดกาลของแบทแมน ปรากฏตัวครั้งแรกในคอมมิค Batman#1 ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1940 โดยเริ่มต้นจากการเป็นอาชญากรทั่วไปที่โผล่มาให้แบทแมนจัดการ โดยในทีแรกไม่ได้มีประวัติหรือบุคลิกระบุไว้ชัดเจน เป็นแค่วายร้ายตามเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ฮีโร่ปราบไว้ทั่วไป

 

          ประวัติของโจ๊กเกอร์มีความคลุมเครือไม่ชัดเจน ถูกบอกเล่าออกมาหลายครั้งหลายรูปแบบ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรีเซ็ทจักรวาลเปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่องอยู่บ่อยครั้ง แต่อีกส่วนมาจากความชอบโกหกและอาการทางจิตของโจ๊กเกอร์เอง ทำให้แม้แต่ตัวเขายังไม่แน่ใจ ว่าชีวิตที่ผ่านมาก่อนครองบัลลังก์ราชาแห่งอาชญากรเป็นแบบไหน

 

          ส่วนนี้เป็นอิสระที่มอบให้ผู้แต่งสามารถนำตัวละครโจ๊กเกอร์ไปดัดแปลงแก้ไขได้ดังใจ แต่เนื้อหาต้นกำเนิดที่ผู้คนยอมรับกันมากที่สุดคือใน The man behind the red hood! และ The Killing Joke กับจุดกำเนิดของคนทั่วไปที่จับพลัดจับพลูมาเป็นโจร แต่หลังปะทะแบทแมนทำให้เขาตกบ่อสารเคมี ทำให้ผิวหนังกลายเป็นสีขาวซีดจนเสียสติไปในที่สุด

 

          นับจากสร้างตัวละครนี้โจ๊กเกอร์เคยปะทะกับแบทแมนมานับครั้งไม่ถ้วน สร้างความวุ่นวายและโกลาหลให้ก็อทแธมมากมาย รวมถึงบาดแผลต่อตัวแบทแมนเอง ตั้งแต่การทรมานโรบินคนที่ 2 อย่างเจสัน ทอดด์จนตาย หรือ การลักพาตัวพ่อบ้านคนสนิทที่เป็นเหมือนญาติผู้ใหญ่อย่างอัลเฟรด ถือเป็นศัตรูที่สร้างบาดแผลฉกรรจ์ให้แบทแมนมากที่สุด

 

          ในส่วนของฉบับภาพยนตร์คือต้นตอภาพลักษณ์ที่แสดงตัวตนของโจ๊กเกอร์ให้ทั่วโลกได้เห็น นับแต่เริ่มมีการสร้างภาพยนตร์แบทแมนขึ้นมาตัวละครนี้ถูกนำมาบอกเล่าแล้ว 4 ครั้ง โดยมีรูปแบบและแรงบันดาลใจแตกต่างกันไปตามการตีความ ทั้งจากตัวผู้กำกับหรือตัวของนักแสดงผู้รับบทบาทเอง

 

          คนแรกคือ แจ็ค นิโคสัน ในภาพยนตร์ Batman(1989) กับบทบาทของโจ๊กเกอร์ผู้ต้องการแสวงหาอำนาจและขึ้นเป็นผู้นำแก๊งค์อาชญากรรมภายในเมือง โดยเริ่มต้นจากการเป็นอาชญากรภายในเมืองจนยึดอำนาจขึ้นกลายเป็นผู้นำโลกเบื้องหลัง มีอาวุธคือสารพิษที่ทำให้คนหัวเราะอย่างบ้าคลั่งจนถึงแก่ความตาย

 

          ตามด้วยผู้สร้างกระแสโด่งดังให้แก่โจ๊กเกอร์ ฮีธ เลดเจอร์ ในภาพยนตร์ The Dark Knight(2008) กับการตีความโจ๊กเกอร์ในเชิงขบถและบ้าคลั่ง เป็นสัญลักษณ์แห่งอนาธิปไตย ผู้ยินดีเผาทุกอย่างในเมืองให้วอดจากความพอใจ พร้อมพาทุกคนไปแตะเส้นแบ่งแห่งศีลธรรม กลายเป็นจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจเชิงลบในชีวิตจริง

 

          คนที่สามคือ จาเร็ต เล็ตโต้ ในภาพยนตร์ Suicide Squad(2016) น่าเสียดายเราได้เห็นแง่มุมและบทบาทของเขาน้อยเกินไป นอกจากการเป็นคนวิกลจริตชอบทรมานผู้อื่นจนทำให้จิตแพทย์ที่รักษาตัวเองเป็นบ้าตาม เราก็ไม่ได้เห็นมุมมองหรือวิธีคิดของตัวละครนี้เท่าไหร่ แต่รูปลักษณ์ภายนอกอันโดดเด่นของโจ๊กเกอร์คนนี้นับว่าได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง

 

          มาถึงล่าสุดกับ วาคีน ฟินิกส์ ในภาพยนตร์ Joker(2019) จากเนื้อหาปมอาการทางจิตด้วยการเลี้ยงดูผิดวิธีนับแต่เด็ก วิถีชีวิตของคนจนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากรอบข้าง ขาดความรักความเอาใจใส่จากครอบครัว หล่อหลอมให้เขาผู้ต้องการเป็นที่ยอมรับจากรอบข้าง แม้ว่านั่นจะเป็นการก่อความรุนแรงขนาดใหญ่หรือทำให้ทั่วทั้งเมืองลุกเป็นไฟก็ตาม

 

          เห็นได้ชัดว่าตัวตนของโจ๊กเกอร์ในแบทแมนหรือโลกภาพยนตร์ไม่เคยเป็นในทางดี เขาคือสัญลักษณ์ความชั่วร้ายที่ถูกสร้างให้หวือหวา มีสีสัน และน่าสนใจจากการตีความของผู้กำกับมากฝีมือรวมถึงพลังจากนักแสดงออสการ์ ซึ่งมันคงไม่ได้เป็นปัญหาร้ายแรงหากทั้งหมดนี้จบลงแค่ในฐานะภาพยนตร์

ในวันที่ตัวตลกไม่ตลก โจ๊กเกอร์ สัญลักษณ์แห่งความรุนแรงและบ้าคลั่ง จากภาพยนตร์สู่ชีวิตจริง เหตุการณ์อาชญากรรมสะเทือนขวัญของโจ๊กเกอร์
          ตัวตนของโจ๊กเกอร์ถูกนำเสนออย่างยิ่งใหญ่ภายใต้ความนิยมของ The Dark Knight(2008) ทำให้ผู้คนเริ่มให้ความสนใจเป็นที่พูดถึง จากเนื้อหาเข้มข้นจริงจังด้วยการกำกับของ คริสโตเฟอร์ โนแลน และการแสดงอันทรงพลังของ ฮีธ เล็ดเจอร์ จนผู้คนต่างพากันคลั่งไคล้ชื่นชอบในตัวละครนี้

 

          ความเข้มข้นจากเนื้อหาในภาพยนตร์ทำให้ผู้คนคาดหวังกับภาคต่ออย่าง The Dark Knight Rises(2012) แต่กลับเกิดเหตุสะเทือนขวัญขึ้นเมื่อมีเหตุชายบุกเข้าไปกราดยิงภายในโรงหนัง ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2012 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 12 ราย และบาดเจ็บอีกมากถึง 70 คน ในโรงภาพยนตร์ เซนจูรี่ 16 เมืองออโรรา มลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา

 

          เมื่อสามารถจับกุมตัวชายผู้ก่อเหตุได้จึงทราบว่า คนร้ายคือนาย เจมส์ โฮล์ม อดีตนักศึกษาแพทย์วัย 24 ปี ที่วางแผนก่อเหตุในครั้งนี้ยาวนานถึง 2 เดือน จัดหาอาวุธปืน 4 กระบอก แก๊สน้ำตา รวมถึงเครื่องกระสุนอีกกว่า 6,000 นัด และยังกล่าวอ้างว่าตัวเองคือ โจ๊กเกอร์ ตามแบบวายร้ายในภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่

 

          นอกจากอาวุธปืนที่นำมาใช้ก่อเหตุแล้ว ภายในที่พักของคนร้ายยังเต็มไปด้วยวัตถุระเบิด โดยภายในมีการขึงลวดกับดักผูกติดกับวัตถุระเบิดที่หน้าประตู รวมถึงวัตถุระเบิดชนิดอื่นทางด้านในอีกมากกว่า 30 ลูก และน้ำมันเบนซินอีกนับ 100 ลิตร ทำให้การเข้าไปเก็บหลักฐานในครั้งนี้ต้องอพยพคนออกมาจากทั้งอาคารเพื่อความปลอดภัย

 

          นี่คือเหตุสะเทือนขวัญครั้งแรกที่มีการกล่าวอ้างถึงโจ๊กเกอร์ กลายเป็นโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ภายในวงการภาพยนตร์ แน่นอนว่าผู้คนต่างพากันประณามการกระทำที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้กำกับอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่กล่าวประณามการกระทำดังกล่าวก่อนแสดงความเสียใจต่อผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

 

          ภายหลังศาลตัดสินในวันที่ 27 กรกฎาคม 2015 ให้จำคุกคนร้ายตลอดชีวิต แต่นั่นไม่ได้ดับกระแสความร้อนแรงของหัวข้อสนทนา หลังเคยเป็นที่พูดถึงจากการเสียชีวิตของ ฮีธ เลดเจอร์ ก่อนภาพยนตร์เข้าฉายจากการเสพยาเกินขนาด จนเริ่มมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความรุนแรงจากตัวละครโจ๊กเกอร์

 

          หัวข้อสนทนานี้เป็นที่พูดถึงอีกครั้งเมื่อภาพยนตร์ Joker(2019) เข้าฉาย มีญาติของผู้เสียชีวิตให้สัมภาษณ์ว่าโฆษณาของหนังทำให้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์เลวร้าย เกิดข้อถกเถียงเป็นวงกว้างจนผู้กำกับอย่าง ทอดด์ ฟิลิปส์ ต้องออกมาชี้แจงเกี่ยวกับเนื้อหาในภาพยนตร์ อีกทั้งยังทำให้กองทัพสหรัฐฯและตำรวจต้องเฝ้าระวังตลอดช่วงเวลาที่ภาพยนตร์ออกฉาย

 

          ล่าสุดเหตุสะเทือนขวัญเกิดขึ้นอีกครั้งโดยคราวนี้เป็นในรถไฟใต้ดินในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 31 ตุลาคม 2021 ได้มีชายใช้มีดไล่แทงผู้โดยสารคนอื่นในขบวนจนได้รับบาดเจ็บไป 17 คน  จากนั้นจึงราดน้ำมันที่พกมาแล้วจุดไฟสร้างควันตลบอบอวลไปทั่ว จนผู้โดยสารต้องแตกตื่นหนีตายจ้าละหวั่น

 

          หลังเกิดเหตุคนร้ายไม่ได้หลบหนีแต่กลับนั่งสูบบุหรี่ภายในขบวนรถไฟ เฝ้ารอการมาจับกุมของตำรวจโดยไม่มีท่าทีขัดขืนการจับกุมใดๆ ก่อนได้รู้ว่าคนร้ายเป็นชายชื่อ ฮัตโตริ อายุ 24 ปี พบของกลางทั้งมีด กรด และอุปกรณ์วางเพลิง โดยได้ให้การกับทางตำรวจว่าเขามาก่อเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้เพราะจะได้ถูกตัดสินประหารชีวิต

 

          แรงบันดาลใจของคนร้ายเกิดจากความล้มเหลวในชีวิตการงานและความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ จึงได้แต่งกายเลียนแบบโจ๊กเกอร์ตัวละครที่เขาชื่นชอบมาก่อเหตุ โดยผ่านการไตร่ตรองวางแผนไว้ล่วงหน้า ทั้งยังศึกษาคดีไล่แทงคนมาตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมเพื่อให้การก่อเหตุครั้งนี้ประสบความสำเร็จ โดยมีจุดหมายเพียงอย่างเดียวคือเพื่อจะได้รับโทษประหาร

 

          แน่นอนว่าพฤติกรรมของโจ๊กเกอร์ไม่ว่าในเวอร์ชั่นไหน ทั้งหมดล้วนนำเสนอออกมาในแง่มุมความเลวร้าย ไม่เว้นแม้แต่ภายในหนังที่มีโจ๊กเกอร์เป็นตัวเอก ที่บอกเล่าเรื่องราวของ อาเธอร์ เฟล็ค ชายผู้มีปัญหาทางจิตที่นอกจากไม่ได้ดูเท่ยังให้ความรู้สึกน่าเศร้าและหดหู่ยามรับชม

 

          ภาพสะท้อนของโจ๊กเกอร์เปลี่ยนไปตามการตีความและยุคสมัย แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือนี่ไม่ใช่ตัวตนสะท้อนถึงความดีงาม กลับกันมันคือความเลวร้าย ปลายทางของผู้สิ้นหวังในชีวิตจนระเบิดทุกอย่างออกมาด้วยความรุนแรง ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่ตัวตนที่สมควรหยิบมาเป็นแรงบันดาลใจหรือแบบอย่าง น่าจะเกิดจากการตีความผิดพลาดของผู้รับสารมากกว่า

 

          เพราะแม้แต่ในภาพยนตร์ยังแสดงออกชัดเจนว่าต่อให้โจ๊กเกอร์จะก่อเหตุร้ายแรงแค่ไหน คนที่ได้การยอมรับและเชิดชูจากรอบข้างสุดท้ายก็ยังเป็นแบทแมนอยู่ดี

--------------------

ที่มา: