posttoday

ชางชิ กับวันที่วัฒนธรรมเอเชียกลายเป็นกระแสนิยมบนแผ่นฟิล์ม(2) : ความหมายของศิลปะต่อสู้และจดหมายรักถึงหนังฮ่องกง

12 พฤศจิกายน 2564

นอกจากในด้านสังคมครอบครัวและการเป็นคนจีนอพยพแล้ว อีกสิ่งที่ภาพยนตร์ถ่ายทอดออกมาได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กันคือ เนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะต่อสู้และการคารวะหนังฮ่องกงรุ่นเก่าอย่างเข้มข้น แต่นั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ฉายในจีนด้วยเช่นกัน

Highlights

  • นอกจากด้านบริบททางสังคมแล้ว ในด้านฉากแอคชั่นและศิลปะการต่อสู้ภายในเรื่อง Shang-chi and the legend of ten rings ก็ทำออกมาได้สมกับเป็นหนังกังฟูเช่นกัน 
  • วิชาการต่อสู้ภายในเรื่องนอกจากดูสมเป็นวิทยายุทธ์แล้ว ยังเป็นไปตามหลักการของจีนมีทั้งมวยอ่อนและมวยแข็ง ก่อนหลอมรวมทั้งสองด้านเข้าด้วยกันตรงกับหลักการหยิน-หยางในลัทธิเต๋า
  • ด้วยทีมงานสตั๊นที่เคยร่วมงานกับเฉินหลง ทำให้สามารถออกแบบฉากต่อสู้ได้ออกมาสนุกสนานตื่นตาแก่ผู้รับชม รวมถึงการอ้างอิงฉากแอคชั่นจาก Rumble in the Bronx และ Rush hour2
  • นอกจากนี้ยังมีการอ้างอิงถึงหนังฮ่องกงรุ่นเก่าที่ผู้เคยรับชมต้องพากันคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นหนังแนวเจ้าพ่อ กำลังภายใน หรือเทพเซียน และที่ขาดไปไม่ได้คือการแสดงอันสุดยอดของเหลียงเฉาเว่ย
  • น่าเสียดายที่ในประเทศจีนภาพยนตร์เรื่องนี้กลับไม่มีโอกาสฉายในโรงภาพยนตร์

--------------------
          จากครั้งก่อนเราได้ทราบไปแล้วว่า Shang-chi and the legend of ten rings หยิบเอาบริบทสังคมจีนออกมาถ่ายทอดได้เป็นอย่างดี นำเสนอเรื่องราวของชาวจีนอพยพในต่างแดนออกมาได้ค่อนข้างตรงกับความเป็นจริง บอกเล่าเรื่องครอบครัวและสายเลือดออกมาได้พิเศษ วันนี้เราจึงมาพูดถึงส่วนอื่นที่แฝงไว้ในหนังบ้าง

 

          นอกจากในแง่สังคมและธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับครอบครัว อีกสิ่งที่ตัวหนังแสดงออกมาชัดไม่แพ้กันคือในด้านศิลปะการต่อสู้ ด้วยการนำเสนอออกมาเป็นภาพยนตร์กังฟูนับตั้งแต่ในตัวอย่าง ทำให้ผู้ชมหลายคนต่างคาดหวังฉากแอคชั่นภายในเรื่อง

          และตัวหนังก็ไม่ทำให้ผิดหวังจากฉากการต่อสู้ในรถบัสรวมถึงบนแคร่ไม้ไผ่ ด้วยการออกแบบท่วงท่าจาก Brand Allan และ Peng Zhang ผู้เคยร่วมงานกับ Andy Cheng ทีมสตั๊นของ Jackie Chan หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ เฉินหลง นั่นทำให้ฉากแอคชั่นออกมาสนุกสนานเร้าใจชวนให้คนดูตื่นตา

 

          อีกทั้งท่วงท่าการต่อสู้เหล่านั้นไม่ได้ไร้ความหมายแต่ออกแบบเป็นอย่างดีเพื่อสื่อความหมายถึงวัฒนธรรมจีนเช่นกัน
Brand Allan ผู้ออกแบบฉากแอคชั่นให้กับภาพยนตร์ชางชิที่เคยทำงานร่วมกับเฉินหลง

ความหมายของท่วงท่ากับศิลปะต่อสู้ การสืบทอด และหลักหยิน-หยาง
          ท่วงท่าการต่อสู้กับการกำกับฉากแอคชั่นในภาพยนตร์ นอกจากสร้างความตื่นเต้นแล้วยังแฝงความหมายไม่แพ้กัน โดยเฉพาะต้นตำรับความแข็งแกร่งภายในเรื่องอย่าง เหวินหวู่หรือพ่อของชางชิ จอมทัพผู้มีชีวิตเป็นอมตะทำให้เขาเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งและทักษะต่อสู้ของตัวเองเสมอมา

 

          สิ่งเหล่านี้ถ่ายทอดออกมาผ่านท่ามวยของเหวินหวู่เองที่ใช้งานผ่านมวยแข็ง ท่วงท่าการต่อสู้ที่มีลักษณะเด่นในด้าน เถรตรง รุนแรง รวดเร็ว แข็งแกร่ง และกำลัง เป็นท่ามวยสไตล์ผู้ชายที่เน้นใช้พละกำลังรวมถึงความแข็งแกร่งทางร่างกาย พึ่งพาความหนักหน่วงรุนแรงหรือการเผชิญหน้าโดยตรงจากความเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง

 

          ท่ามวยดังกล่าวถูกใช้งานให้เห็นผ่านการต่อสู้ของชางชิช่วงแรกเช่นกัน วิชาต่อสู้ของเขาได้รับการฝึกฝนรูปแบบมาจากพ่อทำให้ท่วงท่าเข้มแข็งพร้อมเข้าปะทะศัตรู สังเกตได้จากฉากต่อสู้บนรถบัสที่ชางชิมักใช้ท่วงท่ากระชับ เรียบง่าย และรวดเร็วคอยรับมือ แม้แต่ตอนถูกดาบฟันยังเลือกจะใช้เสื้อเข้าสกัดเพื่อตอบโต้ แสดงถึงความแข็งแกร่งทรงพลังของผู้ใช้

          ทางด้านคนจากเถาโหลวกลับมีมุมมองต่อความแข็งแกร่งในอีกทาง ทุกคนในหมู่บ้านต่างใช้วิชามวยอ่อนที่สืบทอดมา เป็นวิชามวยที่มีจุดเด่นด้านการหมุน ลื่นไหล เชื่องช้า ต่อเนื่อง และโอนอ่อน คล้อยตามสายน้ำและสายลมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ อาศัยเทคนิคความเข้าใจที่เหนือกว่า ใช้น้อยชนะมากตามหลักการสี่ตำลึงปาดพันชั่ง

 

          แน่นอนนี่เป็นท่ามวยที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานโดยผู้หญิงที่มีแรงน้อยกว่า ทำให้สามารถต่อกรกับผู้มีกำลังเข้มแข็งหรือเหนือกว่ากลับไปได้ จึงไม่น่าแปลกที่ท่วงท่าเหล่านี้ถูกใช้ผ่านแม่ของชางชิใช้ในการกำราบเหวินหวู่เสียอยู่หมัด แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและการตอบโต้ของสตรีในเชิงยุทธ์ด้วยเช่นกัน

 

          ท่วงท่าเหล่านี้ถือเป็นอีกวิชาที่ชางชิเคยได้รับการถ่ายทอดแต่วัยเยาว์ ก่อนได้เรียนรู้วิชาต่อสู้จริงจังจากพ่อเขาเสียอีก แต่ด้วยยังเด็กอีกทั้งโศกนาฎกรรมหลังจากนั้นทำให้ชางชิไม่ได้เรียนรู้หรือใช้งานวิชาเหล่านั้นนัก จนกระทั่งกลับมาเยือนเถาโหลวและได้รับการถ่ายทอดจากป้าโดยตรงอีกครั้ง เขาจึงมีความเข้าใจพอนำไปใช้งานในการต่อสู้จริง

 

          นี่จึงเป็นความหมายของตัวละครชางชิเอง จากการที่เขาได้รับสืบทอดมวยทั้งสองสายจากพ่อและแม่ ทั้งความแข็งแกร่งยอมหักไม่ยอมงอของพ่อ และความโอนอ่อนต่อเนื่องเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติของแม่ หลอมรวมทั้งสองสิ่งนำวิชามาใช้งานร่วมกันได้สำเร็จ ดังคำที่ป้าเขาบอกไว้ว่า “ชางชิเป็นมรดกของผู้ที่มาก่อน” ไม่ว่าเป็นสายเลือดจากพ่อหรือแม่ก็ตาม

 

          และยังเป็นไปตามหลักการหยิน-หยางผสานระหว่างสองด้านเข้าด้วยกัน อาศัยความแข็งแกร่งจากภายนอกหนุนเสริมด้วยความโอนอ่อนจากภายใน เป็นสัญลักษณ์แห่งลัทธิเต๋าของจีน คือหลักความสมดุล เสมอภาค และความพอดีของสรรพสิ่งอันยิ่งใหญ่ถูกยึดถือมายาวนาน กลายเป็นอีกสิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาในภาพยนตร์เช่นกัน

 

          ภายหลังการใช้วิชาของแม่รวมถึงยอมรับตัวตนและวิชาของพ่อนำวิชาทั้งสองมาใช้สู้ ชางชิจึงยกระดับความแข็งแกร่งจนสามารถเอาชนะพ่อผู้แข็งแกร่งครอบครองอาวุธทรงพลังอย่างเท็นริงส์ หยุดยั้งการทำลายล้าง ทำให้เหวินหวู่ยอมรับความผิดพลาดรวมถึงการจากไปของภรรยา จนยินยอมให้ลูกชายสืบทอดแหวนสิบวงนี้ต่อไปในที่สุด

 

          มองอีกมุมแล้วการต่อสู้ของคู่พ่อลูกภายในเรื่องคือการที่ชางชิต้องการก้ามข้ามและให้พ่อยอมรับตัวเองด้วยเช่นกัน

หลักหยิน-หยางแห่งความสมดุลตามความเชื่อแห่งลัทธิเต๋า จดหมายรักถึงหนังฮ่องกงบนแผ่นฟิล์มฮอลลีวู้ด
          สำหรับแฟนภาพยนตร์จีนในปัจจุบันหากได้มารับชมภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่รู้สึกอะไรนัก แม้จะบอกว่าอ้างอิงถึงวัฒนธรรมจีนแต่หากให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่มารับชม พวกเขาอาจไม่ได้ชื่นชมหรือเข้าถึงภาพยนตร์เรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะแท้จริงแหล่งอ้างอิงหลักที่ถูกนำมาคารวะในเรื่อง ล้วนเป็นภาพยนตร์ฮ่องกงที่คุ้นตาชาวจีนโพ้นทะเลเสียมากกว่า

 

          เริ่มจากฉากแอคชั่นภายในเรื่องที่เคยร่วมงานกับทีมงานของดารารุ่นเก๋าอย่าง เฉินหลง นั่นทำให้หลายฉากต่างอ้างอิงภาพยนตร์ดังของเฉินหลงเป็นการคารวะทั้งสิ้น ทั้งการต่อสู้บนรถบัสที่ชางชินำเสื้อมาใช้รับมือมีดที่อ้างอิงมาจาก Rumble in the Bronx หรือฉากการต่อสู้บนไม้ไผ่ที่ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ Rush hour2 ที่ล้วนเป็นภาพยนตร์ดังของเฉินหลงแทบทั้งสิ้น

 

          เช่นเดียวกับฉากการแสดงของเหลียงเฉาเว่ยเอง บทบาทของเขาผ่านตัวละครเหวินหวู่ในช่วงเวลาคิดถึงภรรยาที่จากไป ชวนให้ระลึกถึงผลงานภาพยนตร์เก่าของเขา โดยเฉพาะภาพยนตร์จากฝีมือของผู้กำกับหว่องกาไว ที่มักให้เหลียงเฉาเว่ยได้เล่นบทบาทเปี่ยมอารมณ์และพลังการแสดงอยู่เสมอ

 

          นอกจากหยิบจับเอาฉากจากภาพยนตร์และดาราดังที่ผู้ชมภาพยนตร์ฮ่องกงรุ่นเก่าคุ้นตา แนวทางการดำเนินเรื่องต่างๆ ล้วนมีกลิ่นอายภาพยนตร์จีนยุคเก่าอยู่มาก ทั้งในฉากฝึกฝนการต่อสู้ของชางชิ สังเวียนใต้ดิน ทางเข้ามิติลับที่ต้องผ่านถ้ำใต้น้ำตก หรือแม้แต่การประลองของพ่อลูกในช่วงท้ายเรื่อง ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของหนังกังฟูกำลังภายในยุคก่อน

 

          เนื้อเรื่องภรรยาของเหวินหวู่และแม่ของชางชิ ส่วนนี้สามารถมองได้ว่าเป็นเนื้อหาในหนังกำลังภายในคลาสสิก จากจอมยุทธ์ผู้เก่งกล้าวางมือละทิ้งยุทธภพเพื่อใช้ชีวิตครอบครัว แต่ฉากต่อจากนั้นกลับชวนให้นึกถึงหนังเจ้าพ่อด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะฉากการต่อสู้ในร้านอาหารที่ชวนให้นึกถึงฉากยิงล้างแค้นในหนังมาเฟียยุคเก่า

 

          มิติพิเศษอย่างเถาโหลวบ้านเกิดแม่ชางชิเอง ตั้งแต่เส้นทางการเข้าไปในพื้นที่ลับแล พลังพิเศษเหนือธรรมชาติ การปรากฏออกมาในทุกวันเช็งเม้ง สัตว์วิเศษในจินตนาการมากมายที่ได้พบ รวมถึงตำนานปีศาจล้างโลกแล้ว นี่คือการอ้างอิงหนังแนวเทพเซียน เถาโหลวคือแดนเซียนฉบับเข้าใจง่ายไม่อ้างอิงเทพเจ้ามากนัก เช่นเดียวกับผู้คนในนั้นที่สามารถนับเป็นเซียนได้ในความเชื่อของจีน จากการใช้พลังแห่งมังกรและธรรมชาติรอบตัวในการต่อสู้ได้นั่นเอง

 

          ส่วนนี้อ้างอิงมาจากคอมมิคของมาร์เวลด้วยเช่นกัน เพราะเถาโหลวในฉบับหนังสือการ์ตูน แท้จริงคือแดนเซียนที่สถิตของเทพเจ้าจีนปรากฏใน Thor#301 โดยเนื้อหามีการอ้างอิงพูดถึงเทพเจ้าในลัทธิเต๋า แต่ในภาพยนตร์ถูกนำมาดัดแปลงให้เข้ากับเนื้อเรื่องและวัฒนธรรมจีนที่ต้องการนำเสนอแทน

 

          ดังที่ได้เห็นภาพยนตร์ Shang-chi and the legend of ten rings อัดแน่นไปด้วยองค์ประกอบภาพยนตร์ยุคเก่ามากมาย ชัดเจนว่าผู้สร้างผ่านการรับชมภาพยนตร์ฮ่องกงรุ่นเก่า อยากนำสิ่งเหล่านั้นมาถ่ายทอดคารวะบนแผ่นฟิล์มที่ตัวเองสร้าง ทำให้โลกได้ประจักษ์ว่าวัฒนธรรมและโลกที่เขาเติบโตเป็นแบบไหน แสดงความเป็นชาวตะวันออกให้โลกได้รับชม

 

          จึงสามารถบอกได้เต็มปากว่าแท้จริงภาพยนตร์เรื่องนี้คือจดหมายรักของผู้กำกับฮอลลีวู้ดต่อหนังฮ่องกงรุ่นเก่านั่นเอง

เหลียงเฉาเว่ย ดารารุ่นเก๋าที่ทำให้เราระลึกถึงภาพยนตร์ฮ่องกงรุ่นเก่ามากมาย ถ่ายทอดวัฒนธรรมจีนอย่างดีเยี่ยมแต่กลับไม่มีโอกาสให้ชาวจีนได้รับชม?
          น่าเสียดายภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้รับการอนุญาตให้ฉายในจีน ทั้งที่เนื้อหาอัดแน่นและเชิดชูวัฒนธรรมจีนอย่างชัดเจน แต่กลับไม่มีโอกาสเข้าฉายหรือจัดจำหน่วยเป็นทางการ ทำให้เราไม่อาจรู้ได้ว่าในสายตาคนจีนแผ่นดินใหญ่ พวกเขาจะรู้สึกเช่นไรจากการรับชมหนังเรื่องนี้

 

          สาเหตุในการถูกสั่งห้ามยังเป็นปริศนา บางส่วนคาดเดาว่าอาจมาจากนักแสดงนำ ซีมู หลิว ผู้เล่นบทชางชิเคยให้สัมภาษณ์กับทาง CBC ว่าพ่อแม่พวกเขาหนีออกมาจากการปกครองของคอมมิวนิสต์ บอกว่าจีนเป็นประเทศโลกที่สาม และมีผู้คนมากมายต้องล้มตายจากความอดอยาก อาจเป็นสาเหตุให้ทางการจีนไม่ปลื้มจนนำไปสู่การระงับฉายในที่สุด

 

          บางทีอาจมาจากเนื้อหาภายในภาพยนตร์เองที่มีส่วนเกี่ยวผันความเชื่อจีน กับประเทศที่ไม่ยอมรับการบิดพลิ้วหรือตีความใหม่ทางวัฒนธรรม การตีความสัตว์ในตำนานของพวกเขาแตกต่างไปจากเดิม แม้ในสายตาคนนอกอย่างเราจะเล็งเห็นถึงความเคารพและยิ่งใหญ่ แต่อาจไม่เป็นที่ถูกใจของกองเซ็นเซอร์ในประเทศมากนัก

 

          หรืออาจเป็นเรื่องเรียบง่ายเกี่ยวกับเนื้อเรื่องของคนจีนอพยพ ทั้งตัวชางชิ เซี่ยหลิน และเคที่ล้วนเป็นคนจีนที่ไปมีชีวิตสุขสบายภายนอกแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะชางชิที่หลบหนีจากพ่อบังเกิดเกล้าไปสู่ชีวิตที่เรียบง่ายสุขสบายในสหรัฐฯ การเชิดชูคนหลบหนีจากบ้านเกิดเมืองนอนอาจเป็นการแสดงภาพลักษณ์ที่ทางการจีนไม่ต้องการให้ประชาชนได้เห็นก็เป็นได้

 

          แต่ไม่ว่าอย่างไรสำหรับชาวไทยเราผู้ชื่นชอบหนังฮ่องกงรุ่นเก่าและแฟนคลับเหลียงเฉาเว่ย นี่คือภาพยนตร์ที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

--------------------
ที่มา