เปิดประวัติทางข้ามถนน จาก The Beatles สู่ทางม้าลายแห่งอนาคต
เหตุการณ์หมอกระต่ายประสบอุบัติเหตุถูกบี๊กไบค์ชนเสียชีวิตถูกหยิบมาพูดถึงเป็นวงกว้าง พร้อมประเด็นเกี่ยวกับทางม้าลายและคนเดินเท้ากลายเป็นประเด็นอีกครั้ง แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกวันนี้เราจึงพาย้อนชมประวัติและสิ่งที่เคยเกิดกับทางม้าลายกัน
Highlights
- เหตุการณ์พญ. วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ประสบอุบัติเหตุถูกบี๊กไบค์ชนเสียชีวิต สร้างกระแสวิพากวิจารณ์เป็นวงกว้างภายในสังคม โดยเฉพาะเมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบนทางม้าลาย
- ทางม้าลายเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษในปี 1951 แต่ที่ทำให้โด่งดังไปทั่วโลกเกิดจากการเป็นฉากหลังในอัลบั้ม Abbey Road ของวง The Beatles
- รถชนบนทางม้าลายจนมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นหลายร้อยคนต่อปี ผ่านการเป็นข่าวดังมาหลายครั้ง แต่กลับไม่เคยได้รับการตอบสนองจากภาครัฐอย่างจริงจัง
- มีแนวทางการพัฒนาทางม้าลายมากมายในหลายประเทศ เพื่อรับมือปัญหารถไม่ยอมชะลอให้คนเดินเท้าข้ามถนน ก่อให้เกิดแนวคิดหลากหลายแขนงเพื่อรับมือปัญหา
- แต่ตราบที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาด้านจิตสำนึกหรือสร้างวินัยจราจรได้อย่างจริงจัง เกรงว่านี่จะเป็นปัญหาเรื้อรังสืบไป
--------------------
ถือเป็นข่าวใหญ่สำหรับอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ที่หน้าสถาบันไตภูมิราชนรินทร์ ถนนพญาไท ในวันที่ 21 มกราคม 2022 ทำให้ พญ. วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย บาดเจ็บสาหัสจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งที่เธอกำลังเดินข้ามถนนบนทางม้าลายอย่างถูกต้อง จนกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคม
หลายคนพากันเฉยเมยรู้สึกว่านี่คือเรื่องที่เกิดได้ทั่วไปไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องแปลก พูดให้ถูกคือเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนกลายเป็นชินชา หลายคนถึงกับหลงลืมไปแล้วว่า การสร้างทางทางม้าลายขึ้นมามาบนท้องถนนนั้น แท้จริงมีจุดประสงค์และความหมายเช่นไร
ทางม้าลายมาจากไหน? ทำไมจึงถูกเรียกว่าทางม้าลาย?
การเกิดขึ้นของทางม้าลายเริ่มต้นมาจากความพยายามในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นแนวคิดที่มีการริเริ่มที่อังกฤษ ในช่วงแรกไม่ได้มีการเขียนพื้นถนนแบบที่เรารู้จักกัน เพียงการอาศัยเสาบอกสัญญาณแบบเดียวกับทางรถไฟในปี 1868 แต่ด้วยการใช้ตะเกียงแก๊สเป็นตัวบอกสัญญาณสีนั้นอันตราย สุดท้ายนี่จึงเป็นนวัตกรรมที่ถูกยกเลิกไปในที่สุด
ความพยายามในการสร้างสัญญาณหยุดรถเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1930 ในทีแรกยังไม่มีการตีเส้นขีดเขียนพื้นถนนแต่อาศัยการฝังหมุดเหล็กขนาดเล็กเพื่อให้คนขับรถรู้สึกตัว แล้วใช้สัญญาณไฟเป็นตัวบอกเพื่อให้สัญญาณแก่คนเดินเท้า แต่ด้วยความยากในการสังเกตจึงเริ่มมีการพัฒนาโคมไฟบอกสัญญาณ และเปลี่ยนแนวคิดมาเป็นทาสีบนพื้นถนนแทน
ตัวเลือกในการใช้สีทาแรกสุดคือสี เหลือง-ฟ้า กับ ขาว-แดง โดยมีการทดลองใช้งานในปี 1949 แต่หลังผ่านการใช้งานในปี 1951 ทางรัฐบาลอังกฤษจึงเปลี่ยนมาใช้สี ขาว-ดำ แทนเพราะช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนกว่า ทางข้ามถนนสายแรกในเมืองสโลฟจึงถูกสร้างขึ้น และจากคำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรี เจมส์ คัลลาฮาน ว่า “เห็นแล้วนึกถึงม้าลาย” จึงกลายมาเป็นชื่อ ทางม้าลาย(Zebra Crossing)ในที่สุด
ส่วนที่ทำให้ทางม้าลายโด่งดังได้รับความนิยมไปทั่วโลกมาจากวงดนตรีแห่งตำนาน The Beatles จากปกอัลบั้ม Abbey Road โดยเป็นภาพของสมาชิกทั้ง 4 ของวงกำลังเดินข้ามถนน ทำให้ทางม้าลายเส้นนี้โด่งดังกลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวของอังกฤษไปในที่สุด
ทางม้าลาย เส้นทางข้ามถนนที่ไม่ได้ช่วยความปลอดภัยในชีวิต
จุดประสงค์ดั้งเดิมของทางม้าลายคือการให้คนสามารถข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงแม้มีทางม้าลายคุณภาพชีวิตของคนเดินเท้าก็ไม่ได้ดีขึ้นมากนัก ในเมื่อหลายครั้งเรายังพบเห็นข่าวอุบัติเหตุในท้องถนนที่เกิดบนทางม้าลายเอง ที่เคยเป็นประเด็นและถูกประโคมข่าวอยู่หลายครั้งแต่กลับไม่ได้รับความใส่ใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
อุบัติเหตุเกิดจากการข้ามถนนบนทางม้าลายเกิดขึ้นมากมาย ทั้งอุบัติเหตุหน้าอาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ ผู้เคราะห์ร้ายถูกรถบรรทุกขนาดเล็กชนลากร่างไกลไปถึง 5 เมตร ในวันที่ 18 ธันวาคม 2013, เหตุการณ์บริเวณแยกกรมโยธาและผังเมือง ถนนพระราม9 รถกระบะชนนักศึกษาจบใหม่เริ่มทำงานวันแรก ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2019 หรือ อุบัติเหตุหน้าวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานีที่มีนักศึกษาถูกชนจนเสียชีวิต ในวันที่ 14 เมษายน 2021
ข่าวเหล่านี้เกิดขึ้นและโด่งดังมายาวนานกลับไม่เคยได้รับความสนใจแก้ไขปัญหาจริงจัง ไม่มีมาตรการเพิ่มความเข้มงวดหรือแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน ทำให้สถิติคนเดินเท้าเสียชีวิตบนท้องถนนมีจำนวนกว่า 740 คนต่อปี ในจำนวนนี้ 250 คนยังอยู่ในเขตกรุงเทพฯ อีกทั้งไม่เคยมีนโยบาบออกมาสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ
นอกจากนี้ประเทศไทยยังถูกจัดให้เป็นถนนที่อันตรายสุดติดอันดับ โดยการจัดอันดับจากองค์กรอนามัยโลก(WHO) ไทยถือเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตอันดับ 2 ในปี 2015 และ เป็นอันดับ 9 ในปี 2016 อีกทั้งเมื่อเทียบกับประเทศภายในภูมิภาคอาเซียน ไทยยังเป็นประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดอีกด้วย
ผู้คนพากันชาชินกลายเป็นความไม่ใส่ใจโดยเฉพาะคนเดินเท้า การผิดกฎจราจรของผู้ขับขี่ยานพาหนะหลายครั้งมักจบลงด้วยชีวิตของพวกเขา นั่นทำให้คนเดินเท้าถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเปราะบางบนท้องถนน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่กำลังเดินข้ามทางม้าลายนี่เอง ที่บอกได้ยากยิ่งว่าวันดีคืนดีจะถึงคราวของเราเมื่อใด
แนวทางการเพิ่มความปลอดภัยให้ทางม้าลายในประเทศต่างๆ
แน่นอนว่าไทยเองก็ไม่ได้ประสบปัญหานี้อยู่ที่เดียว ในหลายประเทศต่างเกิดการไม่ยอมจอดหรือชะลอรถยามมีคนใช้ทางม้าลาย ทำให้เริ่มมีการพัฒนาแนวทางการใช้งานทางม้าลายมากขึ้น เพื่อสร้างถนนที่ปลอดภัยแก่คนเดินเท้า จนเกิดเป็นทางม้าลายอัจฉริยะในหลายประเทศ เช่น
1. อังกฤษ
ต้นกำเนิดแห่งทางม้าลายที่คราวนี้เปลี่ยนจากทาสีเป็นการฉายแสง LED ลงบนพื้นแทน โดยทางม้าลายจะปรากฏขึ้นมาโดยอัตโนมัติจากระบบคอมพิวเตอร์เมื่อมีคนมายืนอยู่ในจุดที่กำหนด รวมถึงมีระบบเตือนคนเดินเท้าเมื่อมีการพุ่งออกมากะทันหันอีกด้วย
2. ฝรั่งเศส
ด้วยปัญหาการใช้งานทางม้าลายแต่รถกลับไม่ยอมหยุดเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้มีแนวคิดพัฒนาทางม้าลายที่สามารถยกขึ้นมาเป็นแผงกั้น ไว้ใช้ขวางเส้นทางจราจรทำให้คนเดินเท้าสามารถเดินผ่านได้อย่างปลอดภัย แม้เป็นเพียงแนวคิดยังไม่สามารถนำมาใช้งานจริงได้แต่นับว่าน่าสนใจมากทีเดียว
3. จีน
มีการออกแบบทางม้าลายให้มีเซ็นเซอร์ตรวจจับอัจฉริยะ โดยการใช้ไฟส่องสว่างทั่วทั้งพื้นถนนให้สว่างขึ้น รวมถึงป้ายไฟคอยกระพริบเป็นสัญญาณบอกเมื่อมีคนกำลังข้ามถนน อาศัยไฟความสว่างสูงมีคุณสมบัติสามารถส่องให้มองเห็นได้จากระยะทางไกลถึง 500 เมตร อีกทั้งมีสัญญาณเตือนแบบเสียงเพื่อช่วยให้คนขับและคนเดินเท้ารู้ตัวยามมีรถขับมา และติดตั้งกล้องวงจรปิดเอาไว้อีกด้วย
4. ไอซ์แลนด์
ต่างจากแบบอื่นที่มีการติดตั้งอุปกรณ์หลากหลาย คราวนี้ยังคงอาศัยการพ่นสีขาวบนพื้นถนนเช่นเดิม เพิ่มเติมคือการระบายทางม้าลายให้มีลักษณะเป็น 3 มิติ หรือดูนูนขึ้นมาเพื่อให้มองเห็นได้ชัดขึ้น คาดหวังให้ผู้ขับขี่ชะลอความเร็วยามได้เห็นเพื่อลดอุบัติเหตุ
5. ไทย
ในประเทศไทยเองก็มีการหยิบเอาแนวคิดทางม้าลายอัจฉริยะมาใช้งาน ตั้งแต่การติดตั้งหมุดโซลาร์เซลส์บนพื้น เพื่อให้เวลากลางคืนมันจะส่องสว่าง ติดตั้งเอาไว้บนแขวงทางหลวงประจวบคีรีขันธ์ หรือ การทาสีทางม้าลายให้เป็นรูปแบบ 3 มิติ ในตำบล พระลับ อ.เมือง จังหวัดขอนแก่น ด้วยเช่นกัน
ฟังดูน่าทึ่งเมื่อได้ยินว่ามีการใช้งานทางม้าลายปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น น่าเสียดายที่ทั้งหมดเป็นเพียงการทดลองใช้งานในเขตเทศบาลหรือพื้นที่ขนาดเล็ก ไม่มีการกระจายให้แพร่หลายปรับปรุงเป็นวงกว้างเพื่อให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของคนในประเทศดีขึ้น และยากจะคาดเดาได้ว่าจะมีการปรับปรุงเกิดขึ้นเมื่อใด
อันที่จริงปัญหาบนท้องถนนไทยเกิดขึ้นในหลายมิติ นอกจากปัญหาด้านคนเดินเท้ากับทางม้าลายแล้ว ยังมีประเด็นการเมาแล้วขับ การฝ่าฝืนกฎจราจรเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายครั้งล้วนเป็นข่าวดังระดับโลก เช่นเหตุการณ์นักปั่นจักรยานระดับโลกเสียชีวิตในปี 2013, 2015 และ 2018 หรือนักวิ่งระดับโลกชาวญี่ปุ่นที่ถูกรถชน ล้วนเป็นข่าวพาดหัวดังมานับครั้งไม่ถ้วน
น่าเสียดายจากวันนั้นจนวันนี้ ทั้งวิธีการแก้ปัญหาของภาครัฐ, จิตสำนึกบนท้องถนน หรือแม้แต่วินัยจราจร ล้วนเป็นสิ่งห่างไกลจนหาได้ยากจากวิถีชีวิตเราเหลือเกิน
--------------------
ที่มา
- https://www.easycompare.co.th/articles/driver-lifestyle/history-crosswalk
- https://urbancreature.co/city-zebra-crossing/
- https://news.trueid.net/detail/Mpw6YkbDKVjX
- https://www.dailygizmo.tv/2019/07/10/smartpass-smart-pedestrian-crossing/
- https://www.nationtv.tv/news/378813225
- https://www.posttoday.com/world/521288
- https://www.sanook.com/news/1752233/
- https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1730525