posttoday

ทำไมลัทธิแปลกถึงยังมีคนนับถือ? เมื่อความเชื่ออธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยา

09 สิงหาคม 2565

แม้โลกจะพัฒนาไปไกลมากแค่ไหน แต่สิ่งที่เรายังเห็นได้คือการเกิดขึ้นของลัทธิใหม่อยู่เสมอ แล้วทำไมถึงยังมีคนเชื่อในเรื่องพวกนี้และเข้าร่วมอยู่อีก? ปรากฎการณ์นี้สามารถอธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยาไหม? มาร่วมไขคำตอบกัน

          หลายครั้งที่บนโลกของเราเกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้น แต่พอสืบสาวราวเรื่องไปแล้วกลับพบเบื้องหลังว่าแรงจูงใจเกิดจากความเชื่อบางอย่าง(ที่อาจจะแปลกๆ) ซึ่งหากจะบอกว่าโดนไซโคจาก ‘เจ้าลัทธิ’ ก็คงไม่ผิดนัก ในมุมมองคนนอกอย่างเราอาจคิดว่าทำไมลัทธิพวกนี้ถึงยังมีคนนับถืออยู่? แล้วทำไมบรรดาสาวกถึงคล้อยตามและยอมทำทุกอย่างแบบไร้ซึ่งความกังขา? เราลองไปขุดลึกกันว่าปรากฏการณ์เหล่านี้สามารถอธิบายด้วยหลักจิตวิทยาได้อย่างไร เผื่อจะเข้าใจมุมมองของเพื่อนมนุษย์ได้มากขึ้นโดยไม่ด่วนไปตัดสินอะไรในตัวพวกเขา

ทำไมลัทธิแปลกถึงยังมีคนนับถือ? เมื่อความเชื่ออธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยา

 

ลัทธิคืออะไร? แตกต่างจากศาสนาไหม?

 

          ทุกวันนี้บนโลกของเรามีลัทธิเกิดขึ้นนับพัน ซึ่งสองสิ่งสำคัญที่เราควรรู้ไว้คือ ‘ไม่ใช่ทุกลิทธิที่เกี่ยวข้องกับศาสนา’ บางส่วนอาจเกี่ยวข้องกับการเมือง การบำบัด เน้นการพัฒนาตนเอง หรืออื่นๆ และในทางกลับกัน ‘ทุกศาสนาที่เกิดใหม่ ไม่ได้เป็นลิทธิ’ ถ้าอย่างนั้นแล้วคำจำกัดความของ ‘ลัทธิ’ คืออะไรกันแน่? Janja Lalich นักเขียนชาวอเมริกันและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาให้คำจำกัดความไว้อย่างกว้างๆว่า ลัทธิคือกลุ่มหรือขบวนการที่มีความมุ่งมั่นร่วมกันต่ออุดมการณ์สุดโต่ง โดยจะเปลี่ยนเอกลักษณ์ที่แท้จริงของบุคคลนั้นๆและแทนที่ด้วยตัวตนใหม่ ซึ่งปกติแล้วมักถูกชักจูงจากผู้นำที่พื้นฐานเป็นคนมีเสน่ห์ดึงดูด

ทำไมลัทธิแปลกถึงยังมีคนนับถือ? เมื่อความเชื่ออธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยา

ลัทธิสุดโต่ง กับอิทธิพลในการโน้มน้าว

 

          หากจะพูดถึงลัทธิสุดโต่งที่เคยสร้างเหตุสะเทือนใจครั้งใหญ่ไปทั่วโลก คงหนีไม่พ้นลัทธิ โบสถ์มวลชน หรือ The Peoples Temple ที่มีผู้นำกลุ่มอย่าง จิม โจนส์ (Jim Jones) หว่านล้อมให้สาวกกว่า 900 คน ดื่มยาพิษเพื่อสังหารหมู่ โดย 1 ใน 3 ของจำนวนสาวกนั้นยังเป็นเยาวชน

 

 

          จิม โจนส์เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ด้านวาทศิลป์ ประกอบกับการเติบโตขึ้นในชุมชนเคร่งศาสนา ทำให้เขามีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระคริสต์และเริ่มท่องจำไบเบิ้ลตั้งแต่อายุเพียง 8 ปี จนกระทั่งอายุได้แค่ 12 ขวบปี จิมสามารถเดินเทศน์สั่งสอนเด็กในระแวกบ้านได้แทบไม่ต่างอะไรจากนักบวชจริง เวลาล่วงผ่านไปยังช่วงปี 1950 ในช่วงเวลานั้น บทบาทของคนดำในสหรัฐฯยังถือว่าค่อนข้างถูกริดรอนอยู่พอสมควร การเข้ามาของจิมที่เริ่มเผยแพร่การเทศน์โดยเน้นเนื้อหาต่อต้านการเหยียดผิว ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม ให้อาหาร ให้ที่พัก จึงทำให้เขามีสาวกคนดำเริ่มติดตามเป็นจำนวนมาก 

 

 

 

          หลังจากผู้ศรัทธาเริ่มเพิ่มทวีคูณ จิมเริ่มมีเส้นสายกับคนดังและนักการเมืองเพิ่มขึ้น และริเริ่มการสร้างดินแดนในฝัน ‘โจนส์ทาวน์ (Jonestown)’ ขึ้นมา โดยการซื้อที่ดินกว่า 300 เอเคอร์ในประเทศกายอานา (Guyana) และย้ายสาวกทั้งหมดมาอยู่ในดินแดนแห่งนี้ แต่พออยู่ไปไม่เท่าไหร่สาวกส่วนใหญ่ก็เริ่มรู้สึกตัวว่าที่นี่ไม่ใช่แดนสวรรค์ดั่งคำเคลม ทุกคนต้องทำงานในไร่ชนิดที่ว่าตัวเป็นเกลียว หัวเป็นน็อต ใครขัดขืนก็จะโดนลงโทษ จะหนีออกไปขอความช่วยเหลือจากโลกภายนอกยิ่งดูเป็นไปได้ยากเข้าไปอีก ซึ่งมีรายงานว่าในช่วงนี้เองจิมเริ่มมีอาการจิตหลอน เพราะมีการใช้สารเสพติดอย่างหนักหน่วง เขาตกอยู่ในสภาวะจิตเสื่อม และคิดไปเองว่ารัฐบาลกำลังส่งคนมากำจัดเขา ซึ่งด้วยเหตุนี้ ‘โศกนาฎกรรมหมู่ White Night’ จึงเกิดขึ้น จากการที่ตัวจิมบังคับให้บรรดาสาวกซ้อมฆ่าตัวตายหมู่ผ่านการดื่มน้ำที่ผสมไซยาไนด์เอาไว้ โดยเริ่มจากเด็กเล็กก่อนเพราะจะได้ไม่ส่งเสียงงอแงจนวุ่นวายในภายหลัง ส่วนใครที่คิดขัดขืนก็ต้องโดนยัดเยียดความตายให้ผ่านกระสุนปืนอยู่ดี เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 900 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ราว 300 ศพ ทางด้านเจ้าลัทธิก็ชิงเป่าขมับตัวเองตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งจากผลการชันสูตรพบว่าร่างกายของจิมนั้นเต็มไปด้วยสารเสพติดจำนวนมาก 

 

          มีหลายปัจจัยมากมายที่ทำให้เจ้าลัทธิกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด แต่แก่นหลักๆแล้วคำโน้มน้าวมักไปจี้ถูกจุดเปราะบางของคนที่ได้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรอยร้าวในครอบครัว ปัญหาจากการถูกเลี้ยงดูในวัยเด็กที่อาจถูกทอดทิ้ง ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ช่องโหว่ทางการศึกษา ปัญหาสุขภาพและการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวร้ายๆจากประสบการณ์ที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิตไปโดยสิ้นเชิง

ทำไมลัทธิแปลกถึงยังมีคนนับถือ? เมื่อความเชื่ออธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยา

พื้นที่ที่เปิดรับตัวตนของพวกเขา

 

          ผู้เชี่ยวชาญด้านลัทธิอย่าง ด็อกเตอร์สตีเวน ฮัสสัน (Steven Hassan, Ph.D.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเบื้องหลังลัทธิผ่านแนวคิดด้านจิตวิทยาไว้ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ที่เข้าไปร่วมกับลัทธิต่างๆมักไม่ได้เข้าไปด้วยความสมัครใจแบบ 100 เปอร์เซ็น แต่เพราะพวกเขาถูกชักจูงผ่านการจี้จุดเปราะบางในชีวิตเหมือนที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้น นอกจากนี้แล้ว ‘ความรู้สึกแปลกแยกจากสังคม’ ยังเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้พวกเขาหันหน้าเข้าหาลัทธิอีกด้วย เพราะสิ่งที่พวกเขาได้จากการเข้าร่วมคือการเจอกลุ่มคนที่รู้สึกเหมือนกัน มีความคล้ายกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและการได้รับการยอมรับจึงเกิดขึ้นในความรู้สึกของพวกเขา

 

          ในกรณีของ The Peoples Temple ก็เช่นเดียวกัน หลายๆคนนึกสงสัยว่าทำไมบรรดาสาวกถึงเชื่อมั่นในตัวของจิม โจนส์มากขนาดนั้น คำตอบคือจิมใช้เรื่อง ‘ความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ’ มาเป็นพอยต์หลักของการเทศน์ สมาชิกคนผิวดำจำนวนมากที่มาเข้าร่วมก็เห็นได้ชัดว่าพวกเขาได้รับแรงกดดันจากสังคมภายนอกมาจนบอบช้ำ การหันหน้าเข้าหาจิม โจนส์ก็เหมือนการรักษาแผลใจที่ถูกกดทับจากโลกภายนอก ทุกอย่างอธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยา

 

          ยกตัวอย่างอีกหนึ่งกรณีเผื่อจะได้เห็นภาพกันได้ชัดเจนยิ่งขึ้นกับ ‘ลัทธิครอบครัวแมนสัน (Manson Family)’ ที่นำโดยชาลส์ แมนสัน (Charles Manson) ปูมหลังของเขาเป็นเด็กที่ไม่มีใครต้องการ เคยถูกแม่แท้ขายเพื่อแลกกับเบียร์ไม่กี่ขวด เข้าออกทั้งคุกและสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเป็นว่าเล่น จนกระทั่งในยุคที่ฮิปปี้รุ่งเรือง และตัวเขาเองก็เพิ่งพ้นโทษ แมนสันเริ่มสร้างลัทธิผ่านทักษะทางดนตรี เขาเชื่อว่าจะเกิดสงครามเชื้อชาติระหว่างคนขาวและคนดำขึ้น ท้ายที่สุดคนดำจะเป็นฝ่ายชนะแต่เพราะพวกเขาไม่ฉลาดพอ (แมนสันพูดแบบนี้ออกมาจริงๆ) จะทำให้พวกเขาปกครองกันไม่ได้ พวกเขาในฐานะคนขาวจะเป็นคนที่เข้ามาเปลี่ยนขั้วอำนาจและปกครองให้เป็นโลกที่น่าอยู่ไปตลอดกาล สาวกของแมนสันมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดล้วนบำเพ็ญพิธีกรรมผ่านการใช้สารเสพติด เซ็กส์หมู่ และฝึกฆ่าก่ออาชญากรรมจนนำไปสู่คดีฆาตกรรมที่น่ากลัวที่สุดในแผ่นดินสหรัฐฯ

 

          จากการสังเกตการและวิเคราะห์ของนักจิตวิทยา สาวกแต่ละคนที่เข้าลัทธิครอบครัวแมนสัน หากไม่มีปูมหลังที่ครอบครัวแตกแยก ก็มักมีปัญหาหนีออกจากบ้าน และเข้าออกคุกเป็นว่าเล่นไม่แพ้กัน นี่เลยเป็นปมลึกยั่งรากในจิตใต้สำนึกที่แต่ละคนล้วนต้องการที่พึ่งทางใจ คนที่ผ่านเรื่องราวมาเหมือนกับพวกเขา และใช่! นั่นคือแมนสันและสิ่งมึนเมา

ทำไมลัทธิแปลกถึงยังมีคนนับถือ? เมื่อความเชื่ออธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยา

 

เพราะโลกแห่งความจริงมันเจ็บปวด

 

          นอกจากความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีคนที่เข้าใจแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ลัทธิหยิบยื่นให้กับผู้เข้าร่วมคือทางออก ไม่ว่าจะเป็นการหยิบยื่นยานานาชนิดให้กับเหล่าผู้กลัวความตาย หยิบยื่นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงโลก หรือแม้กระทั่งหยิบยื่นสิ่งอื่นใดที่เหนือความเป็นไปได้ 

 

          Heaven’s Gate คือหนึ่งในลัทธิที่มีความเชื่อว่าพวกเขาสามารถหลบหนีออกจากโลกอันโสมมนี้ได้ผ่านวิวัฒนาการการปล่อยจิตวิญญาณออกจากร่างเมื่อดาวหางเฮลบอปป์(Comet Hale–Bopp)โคจรใกล้โลกมากที่สุด แน่นอนว่าสาวกเกือบทั้งหมดจบชีวิตที่การฆ่าตัวตายหมู่ด้วยความเชื่อที่เจ้าลัทธิฝังหัวไว้ Janja Lalich อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านลัทธิและสังคมวิทยา ให้ความเห็นกับการจบชีวิตในครั้งนี้ว่า สมาชิกแต่ละคนล้วนพูดตามคำสอนของเจ้าลัทธิแบบเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว เห็นได้ชัดว่าคนกลุ่มนี้ต้องการที่พึ่งพาทางจิตใจมากขนาดไหน

ทำไมลัทธิแปลกถึงยังมีคนนับถือ? เมื่อความเชื่ออธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยา ต้องทำยังไงเมื่อคนใกล้ตัวหันไปเข้าร่วมกับลัทธิแปลก?

 

          สำหรับการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมตามคำแนะนำของ Janja Lalich เธอบอกว่าคนรอบข้างต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อจับตาพฤติกรรมพวกเขาอย่างใกล้ชิด เราไม่ควรพูดจาในเชิงกล่าวโทษตัวลัทธิหรือเกลี้ยกล่อมให้พวกเขาถอนตัวออกมา ไม่ว่าคุณจะเป็นห่วงพวกเขาสักแค่ไหน อย่าพยายามบังคับให้พวกเขาต้องออกจากลัทธิมาเดี๋ยวนั้น

 

          วิธีที่คาดว่าดีที่สุดในปัจจุบันคือ ‘การอยู่ให้คำปรึกษาเพื่อร่วมหาทางออก (exit counseling) ’ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งเพื่อน ครอบครัว คนสนิท และนักบำบัด Lalich เล่าว่าตัวเธอเองเคยเข้าร่วมกับกลุ่มหัวรุนแรงมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์ ซึ่งในตอนนี้เธอมองว่าเป็นลัทธิหนึ่ง ในช่วงที่เธอเข้าร่วมมีบางอย่างตงิดอยู่ลึกๆภายในใจเธอเสมอ แต่เธอก็คิดว่าคงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร จนกระทั่งวันเวลาผ่านเลยไป วิถีปฎิบัติและแนวคิดภายในกลุ่มเริ่มทำให้เธอตั้งคำถามและเกิดความกังวลขึ้น  “ณ จุดๆหนึ่ง สิ่งเหล่านี้จะเริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ และความตงิดภายใต้จิตใจที่มีมาตั้งแต่แรกก็เหมือนได้ปะทุออกมา ณ เวลานั้นแหละที่เราจะรู้สึกตัวว่าควรพอได้แล้ว เราต้องเอาตัวเองออกจากตรงนี้” Lalich ให้ความเห็นจากประสบการณ์ตรงของตัวเธอเอง

 

          เธอแนะนำว่าสิ่งที่คนใกล้ตัวควรทำมากที่สุด คือพยายามให้แนวความคิดบางอย่างที่พวกเขาสามารถนำไปฉุกคิดเองได้ ให้อิสระกับพวกเขาทั้งทางกายและจิตใจ  ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยมากที่สุด หรือจะใช้เทคนิค "good cop, bad cop" ที่คนสนิทฝั่งหนึ่งเล่นบทโหด แต่อีกฝั่งเล่นบทมนุษย์สุดอบอุ่นแสนใจดี ก็อาจช่วยให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากผู้ที่เข้าลัทธิด้วยเช่นกัน บางรายอาจใช้เวลานานถึง 5 ปี กว่าจะเริ่มคิดได้ และกลับมาเป็นตัวของตัวเองอีกครั้ง เพราะฉะนั้นให้เวลาและปฎิบัติกับพวกเขาด้วยความอ่อนโยน

 

          แม้โลกจะวิวัฒนาการไปมากแค่ไหน แต่เชื่อว่าสิ่งที่เรายังสามารถเห็นได้คือการเกิดขึ้นของลัทธิใหม่อยู่เสมอ สิ่งนี้อาจสะท้อนถึงปัญหาสังคมที่คนคนนึงถูกกดทับไว้มากมายซึ่งหากเรายื่นมือเข้าไปช่วยอะไรได้บ้างก็อาจเป็นสิ่งที่น่าทำ ตราบใดที่ความเชื่อของบุคคลอื่นไม่ส่งผลร้ายต่อสังคม การพยายามทำความเข้าใจและไม่ด่วนตัดสินก็อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้นและเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

 


 

ข้อมูลอ้างอิง: