ไม่มีที่ไหนปลอดภัย! ‘สารเคมีชั่วนิจนิรันดร์’ ปนเปื้อนน้ำฝนทั่วโลก
ฟังดูแล้วอาจเป็นเรื่องที่ไม่สร้างความหฤหรรษ์นัก แต่นอกจากภัยร้ายที่มองไม่เห็นจากไมโครพลาสติกแล้ว ตอนนี้โลกเรายังเผชิญกับ ‘สารเคมีชั่วนิจนิรันดร์ หรือ Forever chemicals’ ที่ปนเปื้อนมากับน้ำฝนทั่วโลกจนเกินขีดระดับปลอดภัยเช่นกัน
โลกที่เต็มไปด้วยความมั่งคั่งธรรมชาติ ความเขียวชอุ่มสุดลูกหูลูกตา ‘ปฐมบทก่อนการกำเนิดขึ้นของมวลมนุษย์’ สีเขียวคงเป็นสีที่เปรียบเหมือนแหล่งกำเนิดทุกสรรพสิ่งมีชีวิต เมื่อการมีอยู่ของมนุษย์ถือกำเนิดขึ้น การถูกโอบล้อมด้วยเฉดสีเพียงโทนเดียวนั้นอาจสร้างความหน่ายในห้วงอารมณ์ได้ไม่น้อย มนุษย์แต่งแต้มสีสันให้โลกนี้ด้วยสิ่งประดิษฐ์และปริมาณขยะพลาสติกมากมาย บ้างอาจมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ บ้างอาจสลายแต่ไม่หายไปจากสิ่งแวดล้อม
เราอาจพอทราบกันอยู่บ้างว่าไมโครพลาสติก คือชิ้นส่วนพลาสติกที่เล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าที่ปนเปื้อนลงไปในสิ่งแวดล้อม นอกจากส่งผลร้ายมหาศาลกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์ต่างๆแล้ว ยังส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ด้วยเช่นกัน เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าอากาศที่เราสูดเข้าไป อาหารหรือผลิตภัณฑ์แต่ละอย่างที่เราใช้ปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากน้อยแค่ไหน แต่มีตัวเลขที่น่าตกใจจากรศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายให้เห็นภาพว่า “ปัจจุบันจากการที่มีการคำนวณการกินอาหารต่างๆ โดยเฉลี่ยคนเราน่าจะมีไมโครพลาสติกอยู่ในกระเพาะอาหารมากกว่า 10,000 ชิ้น”
ฟังดูแล้วอาจเป็นเรื่องที่ไม่สร้างความหฤหรรษ์นัก แต่นอกจากภัยร้ายที่มองไม่เห็นจากไมโครพลาสติกแล้ว ตอนนี้โลกเรายังเผชิญกับ ‘สารเคมีชั่วนิจนิรันดร์ หรือ Forever chemicals’ ที่ปนเปื้อนมากับน้ำฝนทั่วโลกจนเกินขีดระดับปลอดภัยเช่นกัน
สารเคมีชั่วนิจนิรันดร์ คืออะไร? มาจากไหน?
‘สารเคมีชั่วนิจนิรันดร์’ แท้จริงแล้วคือสาร ‘PFAS (พีฟาส)’ หรือ Per- and Polyfluoroalkyl Substances เป็นกลุ่มสารเคมีขนาดใหญ่ที่ใช้แพร่หลายในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เป็นสารประกอบฟลูออรีนที่มีอยู่ประมาณ 4,500 ชนิด ที่สามารถพบได้ทุกที่บนโลก และถูกใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตบรรจุภัณฑ์ต่างๆมากมายเพราะป้องกันความชื้นและไขมันได้ดี เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องครัวเทฟลอน กาว กระดาษ หรือแม้กระทั่งเสื้อกันฝน เจ้าสาร PFAS นี้มีความพิเศษในเรื่องของความทนทาน ยากแก่การทำลายหรือย่อยสลาย ซึ่งเมื่อปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อมแล้วจะคงอยู่ได้นานนับพันๆปี จึงถูกเรียกว่าเป็น ‘สารเคมีชั่วนิจนิรันดร์’ หรือ forever chemicals’
การปนเปื้อนในน้ำฝนทั่วโลกจนเกินระดับปลอดภัย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ด้วยอนุภาคที่เล็กของสาร PFAS จะถูกลมพัดพาขึ้นไปในอากาศก่อนจะปะปนไปกับความชื้นและตกลงมาพร้อมกับน้ำจากฟ้า ซึ่งในขณะนี้ปริมาณการแพร่กระจายของสาร PFAS ได้ปนเปื้อนไปกับน้ำฝนในทั่วทั้งโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งพื้นที่ห่างไกลจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์มากที่สุด อย่างทวีปแอนตาร์กติกา
ทีมนักวิจัยชี้ให้เห็นถึงความอันตรายไว้ว่า การเจือปนในตอนนี้เกินระดับความปลอดภัยของน้ำดื่มที่รัฐบาลสหรัฐฯกำหนดไว้มาก หากประชาชนมีความจำเป็นที่ต้องบริโภคน้ำฝนควรเพิ่มขั้นตอนการกรองเข้าไปด้วย แต่ก็ต้องเป็นกระบวนการกรองในระดับการบำบัดน้ำโรงงานถึงจะปลอดภัยต่อร่างกาย ซึ่งแน่นอนว่าราคาไม่มีความเป็นมิตรภาพเอาเสียเลย
แม้ระดับการปนเปื้อนจะไม่เหมือนในฉากหนังสิ้นโลกที่สัมผัสโดนผิวปุ๊บ จะล้มหายตายจากกันไปในชั่วพริบตา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระดับการปนเปื้อนของสารชนิดนี้หากสะสมในร่างกายมากๆเข้าก็ย่อมสร้างผลเสีย แถมในปัจจุบันการจะกำจัดเอาสาร PFAS ออกไปจากสิ่งแวดล้อมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเจือปนสะสมไปในดิน น้ำ อากาศ รวมถึงสัตว์ต่างๆที่มนุษย์เรานำมาทำเป็นอาหารไปหมดแล้ว ซ้ำในอนาคตยังมีแนวโน้มว่าเจ้าสารเคมีชั่วนิจนิรันดร์ยังจะเพิ่มปริมาณการปนเปื้อนมากกว่านี้ เนื่องจากทางรัฐบาลสหรัฐฯมีการผ่อนปรนข้อกฎหมายเรื่องการใช้สารเคมี ส่วนในประเทศเราเองก็ยังไม่ได้มีกฎหมายควบคุมสารดังกล่าวออกมาเป็นรูปเป็นร่างภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เช่นกัน
ผลกระทบจากสารเคมีชั่วนิจนิรันดร์อันตรายแค่ไหน?
การศึกษาเรื่องผลกระทบของสารเคมีชั่วนิจนิรันดร์บางส่วนได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว บางส่วนยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ในส่วนของงานวิจัยที่ได้รับการรับรองและเป็นที่น่าจับตาคือการเจือปนของสาร PFAS ในน้ำนมแม่ ‘PFAS in Breast Milk: Concerning Trends for Current-Use PFAS’ ใน Environmental Science & Technology โดยทีมนักวิทยาศาสตร์กลุ่ม Toxic-Free Future จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน และสถาบันวิจัยเด็กซีแอตเทิล ซึ่งพบว่ามีสารที่ว่านี้เจือปนในน้ำนมแม่เพิ่มขึ้นทั่วโลกและมากขึ้นเป็น 2 เท่าในทุก 4 ปี แสดงให้เห็นว่าสารเคมี PFAS ถูกใช้อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน และกลายเป็นสารสะสมอยู่ในร่างกายของคนเรา แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ต่างๆจะยืนยันมาเสมอว่าสารเคมี PFAS ไม่มีทางสะสมอยู่ในร่างกาย
การเจือปนของ PFAS นอกจากจะกระทบต่อสุขภาพคุณแม่แล้ว น้ำนมแม่ที่สมควรเป็นแหล่งโภชนาการชั้นดีเมื่อเกิดการเจือปนก็ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กที่อาจทำให้พัฒนาการช้ากว่าปกติด้วยเช่นกัน
การศึกษา ‘Toxicological Profile for Perfluoroalkyls’ ยังพบความเชื่อมโยงของสารเคมี PFAS ที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพในหลายแง่มุม ทั้งระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง ระดับคลอเรสเตอรอลที่สูงขึ้น ความดันโลหิตสูงในสตรีมีครรภ์ การทำลายตับ ภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลง ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่อมไทลอยด์เพิ่มขึ้น และการเกิดโรคมะเร็ง แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงในระยะยาวแค่ไหน แต่ทั้งหมดทั้งมวล คือ ต้องได้รับในปริมาณที่มากเอาเรื่องเหมือนกัน ส่วนผลกระทบอื่นๆที่คาดว่ามีมากกว่านี้ยังคงอยู่ในช่วงของการศึกษาเพิ่มเติม และก็นับเป็นเรื่องสุดแสนเศร้าที่ ‘โลก’ อันเปรียบเสมือนบ้านของสิ่งมีชีวิตนับร้อยนับพัน กลับไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัยอีกต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง:
- https://www.sciencealert.com/it-s-raining-forever-chemicals-and-some-researchers-argue-there-s-no-going-back
- https://www.sdgmove.com/2021/05/19/pfas-forever-chemicals-found-in-breast-milk/