‘ก้นบีเวอร์’ ทางเลือกใหม่หากวานิลลาสูญพันธุ์จากโลกร้อน?
เคยลองนึกภาพกันเล่นๆไหมว่า ถ้าหากสักวันหนึ่งในอนาคต โลกของเราไม่มีวานิลลาให้ได้เก็บเกี่ยวอีกต่อไป จะเป็นอย่างไร? แล้วจะมีสิ่งไหนมาทดแทนเจ้ากลิ่นสุดหอมหวนชนิดนี้ได้?
ทั้งอาหารคาวหวาน เครื่องสำอาง หรือแม้กระทั่งน้ำหอม วานิลลาถือเป็นกลิ่นยอดนิยมที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในแทบจะทุกวงการ และคาดว่าคงเป็นกลิ่นโปรดของใครหลายๆคนด้วยเช่นกัน แต่เคยลองนึกภาพกันเล่นๆไหมว่า ถ้าหากสักวันหนึ่งในอนาคต โลกของเราไม่มีวานิลลาให้ได้เก็บเกี่ยวอีกต่อไป จะเป็นอย่างไร?
วิกฤตวานิลลาเสี่ยงสูญพันธุ์
ในขณะที่รอบตัวเรารายล้อมไปด้วยผลิตภัณฑ์กลิ่นวานิลลา รู้หรือไม่ว่าในอนาคตเจ้าเครื่องเทศแสนหอมชนิดนี้กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์จากวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศหรือ Climate Change
โดยปกติแล้ววานิลลาสามารถเพาะปลูกได้แค่ในเขตร้อน ต้องทำการผสมเกสรด้วยมือ และต้องใช้เวลาราว 4 ปี จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ วานิลลาจัดเป็นเครื่องเทศที่แพงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากหญ้าฝรั่น
ประเทศที่ส่งออกวานิลลามากที่สุดในโลกคือมาดากัสการ์ โดยในปี 2020 ส่งออกไปแล้วกว่า 1,675 ตัน มูลค่ากว่า 512 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือนับเป็น 80% ของวานิลลาทั้งหมดบนโลก แต่ในปี 2021 ที่ผ่านมาผลผลิตกลับลดลงกว่า 30% จากสภาพอากาศที่ฝนตกน้อยกว่าปกติ และพายุไซโคลนที่พัดถล่ม
Dr Bárbara Goettsch นักวิจัยจาก Plants People Planet พบว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ พวกแมลงหรือศัตรูพืชสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่พืชผลต่างๆไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อดินแบบเต็มๆ ทั้งค่าความเค็มของดิน ระดับเกลือในดิน ปริมาณน้ำที่ระเหยมากกว่าปกติ การเติบโตที่ยั่งยืนของพืชพันธุ์เริ่มหายไป และสิ่งนี้กำลังจะนำเราไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหารในอนาคต
สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลก และขึ้นบัญชีแดงกล้วยไม้พื้นเมืองในอเมริกาใต้ 8 สายพันธุ์ที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และแน่นอนว่าพันธุ์กล้วยไม้เหล่านั้นคือต้นกำเนิดของกลิ่นวานิลลาที่เราหลงไหลนั่นเอง
กลิ่น‘ก้นของบีเวอร์’ อาจเป็นทางเลือกใหม่?
ก็ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้มีกลิ่นวานิลลาสังเคราะห์ ถูกผลิตขึ้นมาขายกันเกลื่อนกลาดไปหมด ซึ่งส่วนใหญ่กลิ่นสังเคราะห์ที่ได้มาจากการสกัดสารเคมี ไม่ได้มาจากธรรมชาติแบบวานิลลาแท้ๆ แต่หนึ่งในกลิ่นวานิลลาสังเคราะห์ที่สามารถรับประกันได้ว่าปลอดภัยแน่เพราะมาจากธรรมชาติ คือกลิ่นวานิลลาจากก้นเจ้าบีเวอร์! เจ้าสัตว์โลกฟันแทะแสนน่ารัก
กลิ่นหอมจากก้นเจ้าบีเวอร์เกิดจากสารที่ชื่อว่า Castoreum ที่พบบริเวณกระดูกเชิงกราน และโคนหาง มีลักษณะเหนียวและกลิ่นหอม โดยเจ้าบีเวอร์มักปล่อยกลิ่นนี้เพื่อทำเครื่องหมายสร้างอาณาเขต
สำหรับการสกัดกลิ่นวานิลลาจากก้นบีเวอร์ นักนิเวศวิทยาสัตว์จากมหาวิทยาลัย Southern Illinois กล่าวว่า ต้องให้บีเวอร์ดมยาสลบจนหลับไปเสียก่อน จึงสามารถทำการรีดออกมาได้ คล้ายกับการรีดนมวัว สาร Castoreum จากก้นบีเวอร์นี้มีความปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้สารดังกล่าวเจือปนในอาหารได้
แม้ฟังดูแล้วเราอาจมีทางเลือกใหม่ในการทดแทนกลิ่นวานิลลา หากมันสูญพันธุ์ขึ้นมาจริงๆ แต่ช้าก่อน กลิ่นจากก้นบีเวอร์นี้ก็ถือเป็นหนึ่งในของหายาก เพราะทุกวันนี้ประชากรบีเวอร์ก็ไม่ได้หาง่ายๆเช่นกัน แถมวิธีการสังเคราะห์กลิ่น แม้จะปลอดภัยต่อมนุษย์ แต่ก็มองได้สองมุมว่าเป็นการบังคับทรมาณสัตว์หรือไม่?
วานิลลาจากพลาสติก ทางเลือกใหม่แห่งอนาคต
ในเมื่อก้นบีเวอร์อาจไม่ใช่ทางออกที่เริ่ดหรูสักเท่าไหร่ แต่ความต้องการใช้กลิ่นวานิลลาของมนุษย์ยังไม่มีที่สิ้นสุด ทางเลือกใหม่ๆก็ต้องเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และการค้นพบล่าสุดถือเป็นหนึ่งวิธีการสังเคราะห์สุดว้าวเมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถแปลงขยะพลาสติกให้กลายเป็นกลิ่นวานิลลาได้จากการใช้แบคทีเรียดัดแปลงพันธุกรรม แถมยังสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกได้ไปในตัวด้วย!
สำหรับกรรมวิธีในการสกัดกลิ่นวานิลลาจากพลาสติก จะต้องแยกขวดพลาสติกที่ทำจากโพลีเอทิลีนเทเรพทาเลต ให้เป็นหน่วยย่อยพื้นฐานที่เรียกว่า " กรดเทเรฟทาลิก " ก่อน จากนั้นก็ทำการดัดแปลงแบคทีเรีย E. Coli เพื่อเปลี่ยนกรดเทเรฟทาลิกให้เป็นวานิลลิน หรือสารที่มีกลิ่นวานิลลานั่นเอง
การพัฒนาในระยะแรกเชื่อว่าจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารก่อน และอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรกว่าจะรับประกันได้ว่าส่วนประกอบนั้นบริสุทธิ์และปลอดภัยสำหรับการบริโภค แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในก้าวที่ดีสำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาพลาสติกในปัจจุบัน ปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญอยู่
แม้ว่าจะมีทางเลือกมากมายเพื่อมาแก้ไขวิกฤตเสี่ยงสูญพันธุ์ของวานิลลา แต่ถึงอย่างนั้นหากเราพยายามช่วยควบคุมอุณหภูมิโลก หรือทำอะไรเพื่อช่วยกอบกู้วิกฤตสิ่งแวดล้อมแบบไม่เหนือบ่ากว่าแรงได้บ้าง คงเป็นอะไรที่ส่งผลดีได้ไม่น้อย ช่วยกันคนละนิดละหน่อยก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปจนเราไม่สามารถกอบกู้อะไรได้อีกเลย