ชวนส่องนโยบายลด CO2 แต่ละประเทศ ยังเวิร์กไหม ทำถึงไหนแล้ว?
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศชี้ว่าแม้การปล่อย CO2 จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปีนี้ แต่เมื่อเทียบกับ 2021 แล้วยังถือว่าน้อยกว่ามาก เรามาลองดูกันดีกว่าว่าแต่ละประเทศเขามีนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไรกันบ้าง?
อาจเรียกได้ว่าเป็นข่าวค่อนข้างดี เพราะสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศชี้ว่าแม้การปล่อยคาร์บอนจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปีนี้ แต่เมื่อเทียบกับปี 2021 แล้วยังถือว่าน้อยกว่ามาก เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนและรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มถูกนำมาใช้มากขึ้น ทั้งยังมีแผนดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศต่างๆเข้ามาร่วม เรามาลองดูกันดีกว่าว่าแต่ละประเทศเขามีนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไรกันบ้าง?
ปริมาณ Co2 ปีนี้ยังสูง แต่ไต่ระดับขึ้นแบบช้าๆ
องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) กล่าวว่าหากเทียบกับปีที่แล้วการปล่อย CO2 จากเชื้อเพลิงฟอสซิลในปีนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1% หรือนับเป็นปริมาณเกือบ 300 ล้านเมตริกตัน โดยต้นเหตุหลักๆของการปล่อยก๊าซชนิดนี้มาจากภาคการบิน เนื่องจากการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว หลังจากหยุดชะงักไปนานในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19
แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้หลายประเทศต้องหันไปหาทางเลือกพลังงานใหม่ๆ จนทำให้การปล่อยก๊าซจากถ่านหินเพิ่มขึ้น 2% แต่ยังถือว่าไม่กระทบหนัก เพราะหลายประเทศเริ่มหันมาใช้พลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม จนทำให้ในปีนี้ยอดการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติกาล
ประเด็นเรื่องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ถือเป็นเรื่องปล่อยผ่านไม่ได้ในยุคนี้ จากข้อตกลงว่าด้วยเรื่องสภาพอากาศที่กรุงปารีสตั้งแต่ปี 2015 เราจำเป็นที่จะต้องควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ประเทศต่างๆเริ่มมีแผนในการควบคุมการปล่อยก๊าซออกมาให้เห็นกันบ้างแล้ว ซึ่งถ้าหากทำได้ตามเป้าจริง ปริมาณมลพิษจะลดลงราว 7% ภายในปี 2030
เดนมาร์กกับการเป็นเบอร์หนึ่งด้านสิ่งแวดล้อม
เดนมาร์กเป็นหนึ่งในประเทศตัวอย่างที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจก ได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม เป็นประเทศที่ใช้พลังงานหมุนเวียนได้ดีที่สุด โดยมีการใช้พลังงานลมสูงถึง46.8% เนื่องจากภูมิประเทศอยู่ติดชายฝั่ง ส่วนอีก 11.2% มาจากพลังงานชีวมวลและขยะเหลือใช้ ซึ่งพอคิดเลขรวมๆกันแล้ว ประเทศนี้สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติได้ถึง 67%
นอกจากนี้เดนมาร์กยังมีการรีไซเคิลขยะที่จริงจัง ซึ่งสถิติในปี 2019 เดนมาร์กรีไซเคิลขวดและกระป๋องได้ถึง 92% รัฐบาลของเดนมาร์กยังมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานลมให้ได้อีก 3 เท่า ภายในปี 2030 นี้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้สถิติการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นและยังช่วยมลภาวะและเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
‘งบประมาณคาร์บอน’ แผนจากสหราชอาณาจักร
ทางด้านสหราชอาณาจักรก็ได้ออกข้อกำหนดที่เรียกว่า “งบประมาณคาร์บอน (Carbon Budget)” เพื่อจำกัดการปริมาณการปล่อยคาร์บอนในประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่งบประมาณดังกล่าวครอบคลุมถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมการบิน และการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ ซึ่งข้อกำหนดนี้ถูกนำมาใช้ในยุคของรัฐบาลบอริส จอห์นสัน
เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายเก่าก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนกันไปบ้าง ภายใต้การดำเนินงานของนายกรัฐมนตรีหญิง ลิซ ทรัสส์ ที่ถึงแม้ว่าเธอจะถอนตัวลงจากเก้าอี้นายกแล้วในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ในช่วง 6 สัปดาห์ที่เธอดำรงตำแหน่ง มีนักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลของทรัสส์กำลังหน้ามืดจากวิกฤตเศรษฐกิจ ราคาพลังงานและอาหารต่างผันผวนสูงขึ้นมากในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ภายใต้การนำทัพของทรัสส์ รัฐบาลตกลงเดินหน้าขุดเจาะพลังงานฟอสซิลจาก Fracking Oil เพื่อสู้กับราคาน้ำมันที่กำลังพุ่งทะยานในตลาดโลก แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางสหราชอาณาจักรจะมีกฎเข้มด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดก็ตาม
สวีเดนเดินหน้า เมืองปลอดเชื้อเพลิงฟอสซิล
สวีเดนตั้งเป้าให้เป็นเมืองที่ปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแห่งแรกของโลกด้วยการนำแนวคิด Smart City เข้ามาใช้ จากความร่วมมือของรัฐ และภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน มีอาหารที่เพียงพอ มีระบบจัดการน้ำและขยะที่มีประสิทธิภาพ
ในด้านพลังงาน สวีเดนจะเน้นใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีชีวมวลเป็นแหล่งพลังงานหลักจากการแปลงขยะไปเป็นพลังงาน ในส่วนของการคมนาคมรัฐบาลยังผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ และส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานสัญจรเป็นหลัก รวมทั้งยังมีการจัดพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เพื่อรองรับความหนาแน่นของประชากร ส่งผลให้เมืองมีคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดี จนกลายเป็นสังคมเมืองที่ยั่งยืน
ไทยตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ในปี 2030
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้อยู่ภายใต้เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้เสนอไว้กับประชาคมโลก (National Determined Contribution – NDC) โดยภายในปี 2030 จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20 – 25 แต่ในช่วงสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าไทยจะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ถึง 40% โดยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานและการขนส่ง ภาคการจัดการของเสีย และภาคกระบวนการทางอุตสาหกรรม เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกๆ กลุ่มต้องร่วมมือกัน
จะสำเร็จได้ จีนคือตัวแปรหลัก
จีนเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก และในปัจจุบันยังเป็นประเทศที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งโลก เนื่องจากเป็นประเทศที่ใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลักมายาวนานหลายชั่วอายุคน การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในจีนต้องเปลี่ยนแปลงในชนิดที่ว่าถอนรากถอนโคน และหันไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นอย่างพลังงานนิวเคลียร์หรือพลังงานอื่นๆแทน
แม้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง รับปากว่าจะจำกัดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2030 จนเป็นศูนย์ให้ได้ แต่ยังไม่เคยมีการให้รายละเอียดที่แน่ชัดว่าจีนจะดำเนินการในรูปแบบใด
ปัจจุบันจีนยังใช้ถ่านหินเป็นพลังงานหลักและทวีการใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอีกกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ แม้ประธานสี จะบอกว่ากำลังค่อย ๆ ลดการใช้แล้วก็ตาม