posttoday

โลกร้อนทำให้เราได้รักกัน จึงกำเนิดลูกผสมข้ามสายพันธุ์อย่าง ‘หมี Brolar ’

25 พฤศจิกายน 2565

ภาวะโลกร้อนนอกจากจะส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายจนหมีขั้วโลกได้รับผลกระทบจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่และอาหารแล้ว อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นยังส่งผลให้หมีกริซลีย์ต้องอพยพหนีไปยังถิ่นที่อุณหภูมิเย็นกว่า และนี่คือจุดกำเนิดที่ทำให้สัตว์ทั้งสองสายพันธุ์ได้เจอกัน

          ในปี 2006 นายพรานคนหนึ่งได้ล่าหมีที่รูปลักษณ์ดูต่างจากทั่วไป เมื่อนำ DNA ไปตรวจพบว่าเจ้าหมีตัวนี้ดันมียีนครึ่งหนึ่งที่มาจากหมีกริซลีย์ (Grizzly Bear หรือ Brown Bear) ส่วนอีกครึ่งหนึ่งมาจากหมีขั้วโลก (Polar Bear) เจ้าหมีลูกผสมข้ามสายพันธุ์ตัสนี้จึงถูกเรียกว่า ‘หมีพิซลีย์ (Pizzlies Bear) หรือ หมีโบรลาร์ (Brolar Bear)’

โลกร้อนทำให้เราได้รักกัน จึงกำเนิดลูกผสมข้ามสายพันธุ์อย่าง ‘หมี Brolar ’

เมื่อโลกร้อนนำเรามาเจอกัน

          ดังที่เราเคยเห็นกันมา ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ย่อมทำให้พื้นที่ต่างๆเกิดความเปลี่ยนแปลง สัตว์ท้องถิ่นจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้รับกับการเปลี่ยนแปลง การที่หมีกริซลีย์เริ่มอพยพไปยังสถานที่ที่เย็นกว่าอย่างทางตอนเหนือ จนทำให้มีโอกาสพบกับหมีขั้วโลก นักวิทยาศาสตร์มองว่าแน่นอน นี่คือหนึ่งในผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

          แทนที่การเจอกันของสองสายพันธุ์ที่แตกต่างจะนำมาซึ่งความวิวาท นักวิทยาศาสตร์กลับมองว่าในช่วงฤดูผสมพันธุ์ของทั้งหมีกริซลีย์และหมีขั้วโลกมีช่วงที่คาบเกี่ยวกันอยู่ จึงทำให้พวกมันเลือกที่จะสืบพันธุ์แทนการเปิดศึก จนให้กำเนิดลูกผสมข้ามสายพันธุ์อย่าง ‘หมีพิซลีย์ (Pizzlies Bear) หรือ หมีโบรลาร์ (Brolar Bear)’

          การถือกำเนิดขึ้นของลูกผสมข้ามสายพันธุ์ในช่วงแรกพบแค่ในแถบอเมริกาเหนือ แต่ตอนนี้นักวิจัยจากไซบีเรียได้ออกโรงเตือนว่า ลูกผสมข้ามสายพันธุ์อาจแพร่ไปทั่วพื้นที่อาร์กติก

          Innokentiy Okhlopkov นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซียประจำไซบีเรียให้ความเห็นว่า เดิมที หมีขั้วโลกและหมีกริซลีย์ได้แยกสายพันธุ์กันมาเกือบ 50,000 ปีแล้ว แต่เราเริ่มเห็นหมีกริซลีย์ในภูมิประเทศที่มีสภาพอากาศแบบทุนดราหรือ ภูมิอากาศแบบอาร์กติกมากขึ้น ซึ่งเป็นที่ที่หมีขั้วโลกอาศัยอยู่ และคาดว่าในอนาคตเราคงได้เห็นลูกผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างหมีกริซลีย์และหมีขั้วโลกเพิ่มขึ้น

โลกร้อนทำให้เราได้รักกัน จึงกำเนิดลูกผสมข้ามสายพันธุ์อย่าง ‘หมี Brolar ’

          งานวิจัยบางชิ้นเผยให้เห็นว่า ในปี 2100 หรืออีก 80 ปีข้างหน้า ประชากรหมีขั้วโลกบางส่วนอาจเข้าใกล้คำว่าสูญพันธุ์ จนเหลือเพียงไม่กี่ตัวในเขตอาร์กติกเนื่องจากแหล่งที่อยู่และแหล่งอาหารหายไป  มิหนำซ้ำการผสมข้ามสายพันธุ์กับหมีกริซลีย์ จนให้กำเนิด ‘หมีพิซลีย์ หรือ หมีโบรลาร์’ ยิ่งเป็นการทำให้ประชากรมีขั้วโลกสายพันธุ์แท้ลดลงในระยะเวลาอันรวดเร็ว

          สำหรับพฤติกรรมการกินของเจ้าหมีสองสายพันธุ์นี้แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว หมีกริซลีย์จะกินทุกอย่างที่พวกมันจับได้ ในขณะที่หมีขั้วโลกจะกินสัตว์ที่อุดมไปด้วยไขมันเป็นส่วนใหญ่ พฤติกรรมการกินนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้พวกมันสามารถปรับตัวได้ในอนาคตจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

โลกร้อนทำให้เราได้รักกัน จึงกำเนิดลูกผสมข้ามสายพันธุ์อย่าง ‘หมี Brolar ’

หมีโบรลาร์กับทิศทางในอนาคต

          ส่วนใหญ่แล้วลูกผสมข้ามสายพันธุ์ของสัตว์นานาชนิดมักอ่อนแอกว่าพ่อและแม่ที่เป็นพันธุ์แท้ แต่สำหรับเคสของหมีโบรลาร์นั้นมีความแตกต่างออกไป นักชีววิทยามองว่าในปัจจุบันพวกลูกผสมมีความทนต่อสภาพอากาศพอสมควร นอกจากนี้ทั้งกริซลีย์และหมีขั้วโลกต่างเคยมีบรรพบุรุษร่วมกันก่อนแยกย้ายกันไปพัฒนาสายพันธุ์จนแตกต่าง

          แม้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าหมีโบรลาร์จะกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ออกลูกแพร่กระจายไปทั่วหรือไม่ แต่ลูกผสมข้ามสายพันธุ์จากเจ้าหมีกริซลีย์และหมีขั้วโลก อาจก่อให้เกิดยีนใหม่ๆที่ช่วยให้พวกมันสามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ในแถบอาร์กติก

          ซึ่งถ้าหากเป็นดังที่นักวิจัยตั้งสมมติฐานจริง ในอนาคตอีกหลายสิบปี เราจะยังสามารถพบเห็นหมีขั้วโลกได้ แต่ลักษณะอาจไม่ใช่แบบที่เราคุ้นเคย

 

ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.sciencealert.com/hybrid-brolar-bears-could-spread-through-the-arctic-as-the-planet-warms