posttoday

“เครียดจัด-ซึมเศร้า” กลิ่นเหงื่อบอกได้ นวัตกรรมใหม่กรองปัญหาสุขภาพจิต

21 มิถุนายน 2566

ทีมวิจัยจุฬาฯ ผุดนวัตกรรมคัดกรองสุขภาพจิต “รู้ทันภาวะเครียด-ซึมเศร้า จากสารเคมีในกลิ่นเหงื่อ” โดยประสิทธิภาพมีความแม่นยำสูงถึง 90%

คนไทยราว 1.5 ล้านคนมีปัญหาสุขภาพจิตและแนวโน้มดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดย 49.36% หรือครึ่งหนึ่งในจำนวนดังกล่าวมีภาวะเครียดและซึมเศร้า อันเกิดมาจากการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีอาชีพเสี่ยงสูง ต้องรับผิดชอบความปลอดภัยของสาธารณะ หรือต้องตัดสินใจภายใต้แรงกดดันและความเร่งด่วน เช่น ตำรวจ ทหาร นักผจญเพลิง ฯลฯ 

“เครียดจัด-ซึมเศร้า” กลิ่นเหงื่อบอกได้ นวัตกรรมใหม่กรองปัญหาสุขภาพจิต

ซึ่งในครั้งนี้ อาจารย์ชฎิล กุลสิงห์  ภาควิชาเคมี  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ต่อยอดงานวิจัยร่วมกับแพทย์หญิงภัทราวลัย สิรินารา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อศึกษาหา “สารเคมีบ่งชี้ถึงความเครียดจากกลิ่นเหงื่อ” โดยนำร่องวิจัยกับนักผจญเพลิง 1,084 คนจากสถานีดับเพลิง 47 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สารเคมีในกลิ่นเหงื่อสามารถบ่งชี้สภาวะความเครียดของกลุ่มประชากรได้

“เครียดจัด-ซึมเศร้า” กลิ่นเหงื่อบอกได้ นวัตกรรมใหม่กรองปัญหาสุขภาพจิต

แพทย์หญิงภัทราวลัย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงข้อจำกัดในการดูแลสุขภาพจิตในกลุ่มผู้มีอาชีพเสี่ยงสูงว่า 

“การตรวจสุขภาพจิตปีละครั้งนั้นไม่น่าจะเพียงพอเพราะบางรายอาจมีอาการเครียดหรือซึมเศร้าระหว่างปี และการที่ทุกคนจะเข้าถึงจิตแพทย์ก็ยาก จากข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรด้านจิตเวชในประเทศไทย ขณะที่แนวทางการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยด้วยการสัมภาษณ์ยังขึ้นกับดุลยพินิจของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ทำให้ผลการวินิจฉัยอาจแตกต่างกันและไม่อาจสรุปได้อย่างแม่นยำ”

“เราจึงพยายามหาวิธีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพสูง ราคาไม่แพง เพื่อใช้ในการคัดกรองสภาวะทางจิตก่อนพบจิตแพทย์ ซึ่งเราพบว่าวิธีการตรวจหาสารเคมีจากกลิ่นเหงื่อเป็นวิธีที่น่าสนใจศึกษา เพราะเป็นวิธีที่ไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดให้เจ็บตัว และสามารถวัดผลจากสิ่งที่จับต้องได้จริง ๆ มีความคลาดเคลื่อนน้อย”

“เครียดจัด-ซึมเศร้า” กลิ่นเหงื่อบอกได้ นวัตกรรมใหม่กรองปัญหาสุขภาพจิต

โครงการวิจัยนี้เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบกลุ่มสารเคมีความเครียด (แบบระเหยง่าย) ในเหงื่อของคนกลุ่มใหญ่ที่ประกอบอาชีพเดียวกัน และเป็นความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการทำงานและในชีวิตประจำวันจริง ๆ ไม่ได้เป็นความเครียดที่เกิดจากการควบคุมหรือจำลองสถานการณ์ขึ้นเหมือนการศึกษาอื่น ๆ ที่ผ่านมา

โดยหลักการ ผู้ที่เป็นโรคเดียวกันมักจะมีสารเคมีหรือกลุ่มสารเคมีที่เหมือนกันกันอยู่ หากตรวจพบว่าใครที่มีสารเคมีกลุ่มนี้ในปริมาณที่เกินเกณฑ์หรือต่ำกว่าเกณฑ์ ทั้งหมดก็จะสามารถระบุได้ว่าคน ๆ นั้นมีความเครียดสูงหรืออาจเป็นซึมเศร้าได้ โดยความแม่นยำในการระบุผลจากกลุ่มตัวอย่างที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 90%

“เครียดจัด-ซึมเศร้า” กลิ่นเหงื่อบอกได้ นวัตกรรมใหม่กรองปัญหาสุขภาพจิต

ผศ.ดร.ชฎิล อธิบายขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเหงื่อว่า เราใช้ก้านสำลีที่สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว 2 ก้าน เหน็บใต้รักแร้ซ้าย-ขวา ทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วนำก้านสำลีที่มีเหงื่อไปใส่ในขวดปลอดเชื้อที่มีฝาปิด จากนั้น ส่งตัวอย่างมาห้องแล็บเพื่อตรวจด้วยเครื่องวิเคราะห์กลิ่นสารเคมี โดยฉีดอากาศในขวดเข้าไปในเครื่อง แล้วรอเครื่องวิเคราะห์ผลประมาณ 10-20 นาที ซึ่งผลจะแสดงออกมาในลักษณะบาร์โค้ดของสารเคมีในแต่ละตัวอย่าง

นอกจากนี้ ทางทีมวิจัยจะได้สะท้อนผลโดยภาพรวมให้ผู้บริหารของหน่วยงานนั้น ๆ ทราบด้วยว่าพนักงานในหน่วยงานมีความเครียดจัดกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่ว่าหน่วยงานจะได้ออกนโยบายหรือหาวิธีดำเนินการเพื่อลดความเครียดของพนักงานด้วย  

“เครียดจัด-ซึมเศร้า” กลิ่นเหงื่อบอกได้ นวัตกรรมใหม่กรองปัญหาสุขภาพจิต