พลิกโฉมพยากรณ์อากาศด้วย “ผานกู่” AI ใหม่จาก Huawei
Huawei เปิดตัว “ผานกู่ โมเดล 3.0” AI รูปแบบใหม่พร้อมปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมทั้ง พยากรณ์อากาศ พัฒนาสูตรยา ไปจนถึงตรวจจับข้อมูลทางการเงิน โชว์ศักยภาพปัญญาประดิษฐ์จากการพัฒนาของธุรกิจจีน
Huawei เปิดตัว “ผานกู่ โมเดล 3.0” (Pangu Model 3.0) ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI รูปแบบใหม่ และบริการคลาวด์ ภายใต้ชื่อ “แอสเซนด์ AI” (Ascend AI) เพื่อมอบความสามารถทางเทคโนโลยีให้กับลูกค้าภาคอุตสาหกรรม และพันธมิตร รวมทั้งเดินหน้าปลดล็อคศักยภาพปฏิวัติวงการ AI
“ผานกู่ โมเดล 3.0” (Pangu Model 3.0) เป็นระบบที่ผ่านการเรียนรู้เบื้องต้น และสามารถปรับทักษะของตัวเองให้เข้ากับความต้องการในรูปแบบเฉพาะและซับซ้อนของแต่ละภาคอุตสาหกรรมได้จากการประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก โดยจะประกอบไปด้วยศักยภาพหลักในการทำงาน 3 ด้าน ซึ่งสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วด้วยการฝึกอบรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งการพยากรณ์อากาศ การพัฒนาสูตรยา รวมไปถึงการรองรับการใช้งานในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่มีความเฉพาะทาง เช่น ตรวจจับข้อมูลทางการเงิน การตรวจสอบไฟล์ข้อมูล หรือพยากรณ์คลืนลมทางทะเล
ทางด้านวารสาร Nature ซึ่งเป็นวารสารด้านวิทยาศาสตร์ ยังได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าปัญญาประดิษฐ์จะมีบทบาทมากขึ้นในการพยากรณ์อากาศ ซึ่งผานกู่ สามารถพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศทั่วโลกโดยใช้ AI ได้อย่างแม่นยำผ่านการใช้แค่คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะธรรมดา และสามารถคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้าได้ในไม่กี่วินาที
ในส่วนของความแม่นยำนั้น ผานกู่ สามารถคำนวนได้แม่นยำมากกว่าการพยากรณ์อากาศในรูปแบบเดิมถึง 20% ในระยะเวลาที่เร็วกว่าถึง 10,000 เท่า รวมถึงสามารถบอกได้ถึงระดับความชื้น ความเร็วลม อุณหภูมิ และระดับน้ำทะเลได้
ระบบพยากรณ์อากาศจากผานกู่ จะสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาลในหลายภูมิภาคและหลายประเทศทั่วโลกที่มักได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความแปรปรวนของสภาพอากาศ เช่น ช่วยประเทศไทยพยากรณ์วิกฤตการทางสภาพอากาศและช่วยลดผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
นอกจากนี้ ผานกู่ โมเดล 3.0 ยังสามารถนำมาใช้เพื่อกำกับขั้นตอนการทำงานและความปลอดภัยในอุตสาหกรรมเหมืองอีกด้วย อุตสาหกรรมเหมืองในรูปแบบดั้งเดิมนั้น ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง รวมทั้งต้องใช้กำลังคนจำนวนมาก และมีความท้าทายทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหมืองได้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน โดยเมื่อมีการนำข้อมูลจำนวนมหาศาลเข้าไปในระบบเพื่อเป็นการเรียนรู้เบื้องต้นแล้ว ผานกู่จะสามารถเรียนรู้สถานการณ์ต่างๆ ของอุตสาหกรรมเหมืองได้กว่า 1,000 สถานการณ์ย่อยด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีผู้ควบคุม ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการขุดเจาะเหมือง ไปจนถึงการควบคุมเครื่องมือ การขนส่ง และการสื่อสาร ประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ากับการทำงานของทุกภาคส่วนในกระบวนการทำเหมืองถ่านหิน