ลุยเมืองเก่าสุโขทัยเดินหน้าถอดรหัสอัตลักษณ์ ปั้น 20 “ผลิตภัณฑ์แห่งการให้โอกาส”
ไตรภาคี กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงยุติธรรม กองทุนหมู่บ้านฯ ลุยเมืองเก่าฯ สุโขทัย เดินหน้าถอดรหัสอัตลักษณ์ ปั้น 20 “ผลิตภัณฑ์แห่งการให้โอกาส” ตั้งเป้ากระตุ้นรายได้ชุมชนกว่า 10 ล้านบาท เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 1,800 ล้านบาท
กระทรวงอุตสาหกรรม ประสานความร่วมมือ กระทรวงยุติธรรรม และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย เร่งถอดรหัสอัตลักษณ์ชุมชน เพื่อการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ พร้อมร่วมส่งเสริมวิชาชีพผู้ต้องขัง ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ดึงอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ ขยายผลต่อเนื่องจากจังหวัดชัยนาท มายังจังหวัดสุโขทัย โดยมี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งจับจุดเด่นเป็นจุดขาย โดยการพัฒนามาสคอตเพื่อเป็นตัวแทนของภาพจำในพื้นที่และการจับจุดใหม่ โดยใช้จุดเดิม ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมผ่านองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 20 ชิ้นงานต่อยอดการผลิตในเรือนจำ เป็น “สินค้าแห่งการให้โอกาส” พร้อมจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 10 ล้านบาท สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 1,300 ล้านบาท
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศจะลดลงเป็นที่น่าพอใจ ทว่าผลกระทบยังไม่เบาบางเท่าที่ควร การส่งเสริมประชาชนให้สามารถมีรายได้จึงเป็นแนวทางสำคัญที่รัฐบาลเร่งขับเคลื่อน ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ได้หารือกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นแม่งานหลักในการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มต้นแล้วในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ผ่านกระบวนการสนับสนุนการพัฒนาสินค้าของฝากให้เป็นสินค้าที่สามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้เลือกซื้อหาเมื่อเดินทางมาถึง
โดยจังหวัดสุโขทัย ถือเป็นอีกหนึ่งจุดหมายสำคัญที่ถือได้ว่า มีความพร้อมในแง่ของสถานที่ท่องเที่ยว หากได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จะสามารถสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก โดยกระทรวงยุติธรรม พร้อมสนับสนุนแรงงานจากผู้ต้องขังที่มีฝีมือที่ได้รับการฝึกอาชีพจนมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งในเรือนจำจังหวัดสุโขทัย และเรือนจำอำเภอสวรรคโลก มีแรงงานผู้ต้องขังจำนวนกว่า 350 คน สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าได้กว่า 940,000 บาท ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ในการจ่ายเงินผลพลอยได้ จากการฝึกวิชาชีพให้กับผู้ต้องขัง ร้อยละ 70 ของรายได้ทั้งหมด ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญสำหรับผู้ที่เคย ก้าวพลาดในชีวิตให้สามารถวางแผนอนาคตภายหลังพ้นโทษได้ ตามโครงการส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อคืนคนดีสู่สังคม ภายใต้การดำเนินงานนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ที่ได้รับความร่วมมือจาก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้คุมและเจ้าหน้าที่เรือนจำ เพื่อให้สามารถถ่ายทอดทักษะวิชาชีพให้กับผู้ต้องขังในแต่ละเรือนจำ
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้รับนโยบายจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สินค้าของฝาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์หัตถกรรม เนื่องจากประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากในประเทศ แต่ยังไม่มีสินค้าของฝากเพื่อเป็นตัวแทนของสถานที่ท่องเที่ยว สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวในการเลือกซื้อเพื่อเป็นของที่ระลึก กสอ. จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาของฝากของที่ระลึกและจัดกิจกรรมถอดรหัส อัตลักษณ์สถานที่ท่องเที่ยว เพื่อใช้ในการออกแบบเชิงพาณิชย์ ประกอบกับจังหวัดสุโขทัย ถือเป็นเมืองมรดกโลก มีต้นทุนทางวัฒนธรรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ความเชี่ยวชาญด้านการทอผ้า และเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก โดยในระยะนำร่องของการถอดรหัสอัตลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย กสอ. ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย
· การจับจุดเด่นเป็นจุดขาย ผ่านกระบวนการถ่ายทอดอัตลักษณ์ในรูปแบบที่ง่ายต่อการจดจำ เพื่อให้เป็นตัวแทน หรือ มาสคอต ในการสื่อสารความเป็นตัวตน อาทิ ศิลาจารึก รถคอกหมู ดอกบัวหลวง และ นางระบำสุโขทัย ซึ่งได้มีการพัฒนารูปแบบให้มีความทันสมัย สะท้อนภาพเมืองเก่าที่พร้อม ก้าวผ่านทุกการเปลี่ยนแปลง และการนำเอาความเชื่อของคนในท้องถิ่น เกี่ยวกับ “นกคุ้ม” ที่เชื่อว่าเป็นวัตถุมงคลในการป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ มาพัฒนา ให้เป็น “ยันต์นกคุ้ม” ที่ยังคงความขลังของความศรัทธาแต่แฝงไปด้วยความทันสมัย ที่สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้อย่างไม่อยาก
· การจับจุดใหม่โดยใช้จุดเดิม ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม โดยอาศัยองค์ความรู้ ทางด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เข้ามามีส่วนในการผลิต เพื่อให้เกิดสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ ความต้องการของผู้บริโภค อาทิ การยกระดับผลิตภัณฑ์จากผ้าหาดเสี้ยว โดยนำลวดลาย ที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้า นั่นคือ ลายนกคุ้มคู่ มาตกแต่งลงบนเนคไทด์ และบนผื้นผ้า พร้อมนำมาตัดเย็บตามแฟชั่นสมัยใหม่ เพื่อให้ผ้าไทยสามารถสวมใส่ได้ทุกวัน
ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการถอดรหัสอัตลักษณ์ จะถูกถ่ายทอดทักษะในกระบวนการผลิตไปยังผู้ต้องขังในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังที่ได้รับการฝึกฝนทักษะอาชีพโดย กสอ. ได้มีโอกาสสร้างรายได้ในรั้วเรือนจำที่จะสามารถต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพสุจริต เมื่อพ้นโทษสู่โลกภายนอก ถือเป็น “ผลิตภัณฑ์แห่งการให้โอกาส” ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในไทยได้อีกทางหนึ่ง นายณัฐพล กล่าว
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวว่า กทบ. และ กสอ. ถือเป็นพันธมิตรที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการยกระดับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนทายาทผู้ประกอบการยุคใหม่ให้มีความพร้อม รวมทั้งการส่งเสริมกูรูอุตสาหกรรมประจำถิ่น เพื่อการถ่ายทอด องค์ความรู้ และการประยุกต์ใช้ทักษะด้านอุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าโมเดลการดึงอัตลักษณ์ชุมชนในครั้งนี้จะทำให้ สมาชิก กทบ. ได้รับการส่งเสริม และมองเห็นโอกาสในการพัฒนาสินค้าของตนเองให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดสุโขทัย กล่าวในช่วงท้ายว่า กิจกรรม “ถอดรหัส อัตลักษณ์ วิถีถิ่น สุโขทัย” กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพในพื้นที่ ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ผ่านกระบวนการถอดรหัสเอกลักษณ์สถานที่ท่องเที่ยว เพื่อใช้ในการออกแบบของที่ระลึกเชิงพาณิชย์ การให้คำปรึกษาแนะนำพัฒนาศักยภาพด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่สามารถสอดคล้องกับความต้องการของตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กลางเพื่อสร้างการจดจำแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของชุมชน และการส่งเสริมทางการตลาด โดยมีวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยเข้าร่วมจำนวน 20 กลุ่ม และพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้พร้อมรับการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว จำนวน 20 ผลิตภัณฑ์ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านบาท และจะสามารถต่อยอดโมเดลการดึงอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อถ่ายทอดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ผ่านผลิตภัณฑ์สินค้าของฝาก เพื่อยกระดับภาคการท่องเที่ยวยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นการรักษาการจ้างงานกว่า 200 คน ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอคีรีมาศ อำเภอศรีสัชนาลัย และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเมื่อสถานการณ์ COVID-19 ผ่อนคลายขึ้น คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาในพื้นที่ ประมาณ 600,000 คนต่อปี ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การพักแรม การรับประทานอาหาร การซื้อของที่ระลึกของนักท่องเที่ยว โดยจะมีมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 1,800 ล้านบาท