DietZ มีหมอที่บ้านผ่านแอปฯ ทั่วประเทศ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การมาของ 5G สร้างความหวังให้กับคนไทยทั้งประเทศที่จะได้เห็นอีกขั้นของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ส่งผลดีต่อการแพทย์ โดยเฉพาะสำหรับการผ่าตัดทางไกล (telerobotic operation) หรือการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ซึ่งจะสามารถพลิกโฉมการให้บริการสาธารณสุขได้
ถึงแม้ว่าปัญหาสุขภาพบางอย่างจะเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ หากไม่แก้ที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต ไขมันในเส้นเลือด หรือโรคหัวใจ แต่การประคองสุขภาพของผู้ป่วยเหล่านี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นสิ่งที่แพทย์ พยาบาล ครอบครัว คนใกล้ชิด และนักพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับสุขภาพต่างมุ่งหวังที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ
DietZ แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มเทเลเฮลท์โรคเรื้อรังสำหรับผู้ป่วย สถานพยาบาล และองค์กร พัฒนาโดย คุณพงษ์ชัย เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีซีชั่น ไดเอทซ์ จำกัด คิดค้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้สามารถรับบริการด้านสุขภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ครอบคลุม และแม่นยำมากยิ่งขึ้น
“ตามปกติผู้ป่วยเรื้อรังต้องเข้าพบแพทย์อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อเข้ารับการเจาะเลือด รอผล รับคำปรึกษาจากแพทย์ รับยา และกลับไปดูแลตัวเองต่อที่บ้านจนกว่าจะครบกำหนดนัดถัดไป สำหรับโรงพยาบาลของรัฐ ผู้ป่วยจะใช้เวลารอนานหลายชั่วโมง เพื่อเข้าพบแพทย์เพียง 3 นาที” คุณพงษ์ชัย เพชรสังหาร เจ้าของแอปฯ ไดเอทซ์ กล่าว
ระดับน้ำตาลสะสมในเลือด ไขมันสะสมในเลือด หรือปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ที่หากละเลย ไม่รีบรักษา ก็จะกลายเป็นโรคเรื้อรัง และส่งผลในระยะยาว จนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต เช่นเดียวกันกับความแออัดในโรงพยาบาลและการดูแลที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งหากไม่รีบบริหารจัดการแก้ไข ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสภาวะจิตใจของผู้ป่วย รวมไปถึงการแบกรับค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ระบบ “ไดเอทซ์เทเลเฮลท์” ของไดเอทซ์ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการดูแลโรคเรื้อรังของโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งรับผิดชอบผู้ป่วยนอกรวมมากกว่า 79 ล้านครั้งต่อปี หรือราว 1 ใน 3 ของผู้ป่วยนอกทั้งหมด โดยการให้ผู้ป่วยบันทึกข้อมูลอาการหรือผลการตรวจวัดที่บ้าน ด้วยการใช้เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดทางปลายนิ้ว หรือการวัดความดัน รวมไปถึงยาที่ใช้ อาหารที่รับประทาน เข้าสู่ระบบเป็นประจำทุกวัน ซึ่งหากมีอาการผิดปกติ ระบบจะแจ้งเตือนแพทย์ทันที และแพทย์จะให้คำแนะนำผ่าน VDO Call อย่างรวดเร็ว แทนที่จะใช้วิธีการอ่านบันทึกรายเดือนย้อนหลังเมื่อถึงเวลานัดหมาย
“ส่วนผู้ป่วยของโรงพยาบาลเอกชน แม้จะไม่ต้องรอคิวนาน แต่ย่อมมีความคาดหวังจะได้รับบริการที่สมบูรณ์แบบ ให้คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เสียไป ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนอาจไม่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังต่างๆ เหล่านี้ได้ทุกกรณี รูปแบบของไดเอทซ์จึงเข้ามาตอบโจทย์การให้บริการทางแพทย์โดยเฉพาะเช่นกัน” สามารถรับคำปรึกษา อัปเดต ติดตามผลการตรวจสุขภาพต่างๆ ที่บ้าน รวมถึงปรึกษาปัญหาโภชนาการ ซึ่งเป็นการเพิ่มความต่อเนื่องในการรักษา และลดความยุ่งยากจากการใช้แอปพลิเคชันหลายประเภท โดยรวมการทั้งหมดไว้ในแอปฯ เดียว
“นวัตกรรมของไดเอทซ์ยังสามารถช่วยให้บริษัทเอกชนต่างๆ จัดหาแพทย์ผู้ให้บริการออนไลน์ในห้องพยาบาลของสถานประกอบการ รวมถึงการสั่งยาโดยแพทย์ แล้วจัดส่งที่สถานประกอบการ ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการส่งตัวพนักงานไปพบแพทย์ได้ราว 30-50%”
ปัจจุบัน แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันของไดเอทซ์ได้เข้าถึงโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด อาทิ โรงพยาบาลพุทธโสธร โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลปัตตานี รวมไปถึงโรงพยาบาลระดับชุมชนอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลา โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 10 แห่ง ในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดระยอง รวมไปถึงโรงพยาบาลตากสินในสังกัดสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งนี้ เกิดจากความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมให้เข้าถึงพื้นที่ห่างไกลที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์
โดยในช่วงเริ่มต้น ไดเอทซ์ได้เข้าร่วมสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย และยื่นการพัฒนาต้นแบบของแพลตฟอร์มเพื่อเข้าร่วมขอทุนในโครงการ Open Innovation ที่จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มให้ใช้งานง่ายและเหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มใช้โทรศัพท์มือถือ โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ด้วยการรับฟังคำแนะนำจากผู้ใช้งานจริง ไม่ว่าจากคนไข้ ทีมแพทย์ พยาบาล รวมไปถึงนักกำหนดอาหาร
“การที่แอปฯ ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักในช่วงปีแรกคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้เราเกิดความลังเลในการพัฒนาต่อ แต่สิ่งที่เป็นแรงผลักดันคือ คนไข้เกือบทุกรายสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตให้กลับมาดีขึ้น บุคลากรสาธารณสุขมีกำลังใจทำงานมากขึ้น จากภาระงานที่ลดลง จากการที่ต้องจัดการคิวคนไข้ เปลี่ยนมาเป็นการให้คำปรึกษาผ่านระบบได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และเป็นระบบระเบียบมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ย้อนกลับมาเป็นผลตอบแทนทางธุรกิจด้วย”
ทั้งนี้ ไดเอทซ์มุ่งหวังที่จะเปิดให้บริการในทั้งโรงพยาบาลของรัฐและบริษัทเอกชนกว่า 15,000 แห่งทั่วประเทศ พร้อมรุกหน้าเตรียมพัฒนาแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มให้สามารถรองรับโรคเรื้อรังอื่นๆ อย่างเช่น มะเร็ง หลอดเลือดอุดตัน อัมพฤต อัมพาต เป็นต้น
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)