เทคนิคการบริหารเวลาแบบง่ายๆ สำหรับคนที่อยากเวลาเหลือเฟือใน 1 วัน
“ไม่มีเวลา” เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยกล่าวคำพูดนี้กับคนอื่น หรือแม้กระทั่งกับตัวเอง แต่เราเคยนึกสงสัยไหมว่า คนที่ดูเหมือนจะมีงานยุ่งมากมายในแต่ละวัน แต่เค้ายังสามารถทำกิจกรรมดำน้ำ ดูปะการัง รับลูก ทำกับข้าว ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ สวดมนต์ อ่านหนังสือ และสามารถนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มอิ่มในทุกๆ วัน
คนเหล่านี้มีวิธีการบริหารเวลาอย่างไร ถึงสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้จนสำเร็จ ทั้งๆ ที่แต่ละวันเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่าๆ กัน
จงทำในสิ่งที่ต้องทำก่อน
สิ่งที่เราควรจะต้องทำในทุกๆ วันในการบริหารเวลาคือ เราจะต้องจดรายการสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน และในแต่ละสัปดาห์เพื่อให้เรารู้ว่าตัวเองจะต้องทำงานอะไรบ้าง และงานที่ต้องทำนั้นสอดคล้องกับระยะเวลาในการทำงานหรือเปล่า หรือเราควรจะให้เวลาในงานบางอย่างเพิ่มขึ้น
นอกจากจดในสิ่งที่เราต้องทำแล้ว สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการทำ To do List ก็คือ การลำดับความสำคัญของงาน ซึ่งงานของแต่ละคนมีลำดับความสำคัญที่แตกต่างกันออกไป แน่นอนว่างานที่สำคัญและเร่งด่วนจะต้องมาเป็นอันดับ 1 แล้วค่อยวางแผนทำงานสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เพื่อเตรียมความพร้อมของงานให้งานออกมาดีที่สุด ส่วนงานที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน เราอาจจะมอบหมายให้ผู้อื่นทำก็ได้ ส่วนงานที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วนสามารถเก็บเอาไว้ทำได้ในภายหลัง การจัดลำดับความสำคัญของงานจะช่วยให้เรารู้ว่าในวันหนึ่งเราต้องทำอะไรก่อนและหลังบ้าง และสามารถกระจายงานไปไว้ในวันถัดไป หากงานของเรามีปริมาณมากเกินไปในแต่ละวัน
โฟกัส โฟกัส และโฟกัส
คนที่รู้จักการบริหารเวลาหรือบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ เคล็ดลับอย่างหนึ่งของการบริหารเวลาของคนเหล่านี้ก็คือ การโฟกัสหรือมีสมาธิแน่วแน่กับงานตรงหน้า และไม่ว่อกแว่กหรือคิดถึงงานอื่นหรือเรื่องอื่นใดที่ทำให้ต้องเสียเวลาหรือไขว้เขวได้ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำในการบริหารเวลาก็คือ ทำงานตรงหน้าอย่างตั้งใจ และใช้เวลาให้น้อยที่สุด หากว่าเราโฟกัสกับงานที่ทำ ไม่หันไปคิดเรื่องอื่น หรือพูดคุยในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่เร่งด่วน ก็จะช่วยให้งานที่ทำเสร็จเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
มีตารางเวลาชีวิตที่แน่นอน
คนที่รู้จักการบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ มักจะมีตารางชีวิตหรือกิจวัตรประจำวันที่แน่นอนในแต่ละวัน เช่น ตื่นเวลา 06.00 น. ออกกำลังกายถึง 06.30 น. รับประทานอาหารในแต่ละมื้อตรงเวลา และเข้านอนเวลา 22.00 น. เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดี จากนั้นจึงค่อยนำงาน หรือสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันมาใส่ในตารางที่ต้องทำ เมื่อทำเช่นนี้ชีวิตของเราก็จะมีเวลาให้ใช้อย่างเหลือเฟือ
ลดเวลาการประชุมหรือสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือในชีวิตส่วนตัว การตัดเอาส่วนที่ไม่จำเป็นในชีวิตออกไป และลีนทุกอย่างให้อยู่ในเรื่องของความจำเป็น เช่น จำกัดเวลาประชุมให้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นเวลานำเสนอ 30 นาที และเวลาที่อภิปรายหรือสอบถามอีก 30 นาที การจำกัดเวลาเล่นเกมหรือเล่นอินเทอร์เน็ตให้อยู่ที่ 1 ชั่วโมงต่อวัน หรือการจำกัดเวลาอื่นๆ ตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การบริหารเวลาไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทำสิ่งที่เคร่งเครียดเพียงอย่างเดียว ควรจะมีเวลาพักผ่อนบ้าง เพียงแต่เราควรจะรู้วิธีการบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกอย่างลงตัว