ผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม ดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ คว้ารางวัลศิษย์เก่าดีเด่น
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2564
ดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารยุทธศาสตร์ องค์การเภสัชกรรม คว้ารางวัลศิษย์เก่าดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2564 จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยคนไทย เพื่อคนไทย
ดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารยุทธศาสตร์ องค์การเภสัชกรรม ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2564 โดย ดร.ภญ.พรทิพย์ สำเร็จการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยเกียรตินิยม อันดับ 2 และระดับปริญญาเอกจาก University of Nottingham ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 HXP-GPOVac และเป็นหนึ่งบุคคลสำคัญในทีมโครงการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ภายใต้โครงการ Global Action Plan for Influenza Vaccine (GAP) ขององค์การอนามัยโลก โดยโครงการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น รองรับการระบาดขององค์การเภสัชกรรม ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ รองชนะเลิศอันดับ 2 ด้านสังคม ในปี พ.ศ. 2558 และรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2559 ผลงานวิจัยในระดับดีมาก และรางวัล Best Bioprocessing Excellence in Thailand and South East Asia จาก Asia-Pacific Bioprocessing Excellence Awards 2017
สำหรับผลงานที่โดดเด่นของ ดร.ภญ.พรทิพย์ ได้แก่ การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ เพื่อใช้กรณีเกิดการระบาดใหญ่ ซึ่งเป็นแผนงานภายใต้โครงการ Global Action Plan for Influenza Vaccine (GAP) ขององค์การอนามัยโลก เพื่อสร้างศักยภาพการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้น้อย ในขณะเดียวกันประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมจัดตั้งโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกขึ้นเพื่อรองรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยในช่วงต้นของการวิจัยและพัฒนาที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกตามโครงการ GAP นี้ องค์การเภสัชกรรมมีผลงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกชนิดเชื้อเป็นเพื่อใช้กรณีเกิดการระบาดใหญ่ ที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ รองชนะเลิศอันดับ 2 ด้านสังคม ประจำปี 2558 และรางวัลผลงานวิจัยระดับดีมาก ประจำปี 2559 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกชนิดเชื้อเป็นในครั้งนี้ จัดเป็นการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ และนับว่าเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
อีกหนึ่งโครงการสำคัญ คือ การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019 ขององค์การเภสัชกรรม (Inactivated Recombinant Newcastle Disease Virus Vaccine Expressing SARS-CoV-2 Spike) (HXP-GPOVac) ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ขององค์การฯ ที่พัฒนาขึ้นโดยการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ ในการเข้าถึงสิทธิการใช้เชื้อไวรัสตั้งต้น เป็นวัคซีนที่ถูกผลิตขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก (Egg-based technology) โดยหลังจากได้รับไวรัสตั้งต้นในเดือนกันยายน 2563 องค์การฯได้ดำเนินการผลิตวัคซีนต้นแบบ HXP-GPOVac ได้สำเร็จในเดือนพฤศจิกายน 2563 และเริ่มการศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1/2 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และจะทำการศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มภายในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 นี้ ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวจะใช้ในการขออนุมัติทะเบียนฉุกเฉิน (EUA) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 สำหรับการผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรม ที่โรงงานวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม จังหวัดสระบุรี เพื่อใช้ในสถานการณ์ระบาด และสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศต่อไป
ดร.ภญ.พรทิพย์ กล่าวว่า “ในการใช้ความรู้ด้านการพัฒนาวัคซีน สิ่งสำคัญคือการมุ่งเน้นการพัฒนาวัคซีน เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์วัคซีนที่สามารถขึ้นทะเบียนและผลิตได้จริงในระดับอุตสาหกรรมในประเทศด้วย รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับองค์กรนานาชาติ เพื่อการวิจัย ค้นคว้าและพัฒนา จะนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น พร้อมช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” สมดังพระราชปณิธานของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ที่ว่า “ความสําเร็จที่แท้จริงมิได้อยู่กับการเรียนเพียงเพื่อรู้ แต่อยู่กับการนําความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ”