posttoday

ดึงพลังเยาวชนอาเซียนร่วมขับเคลื่อนแนวทางป้องกันอาชญากรรมและปฏิรูปยุติธรรมอาญา ในเวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาครั้งที่ 3” (3rd ACCPCJ)

16 กันยายน 2565

ผู้เข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาครั้งที่ 3 (The 3rd ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice หรือ ACCPCJ ครั้งที่ 3) ประกาศร่วมกันยกระดับความร่วมมืออย่างบูรณาการ ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อการขับเคลื่อนการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ระดับภูมิภาค ในระหว่างงานแถลงข่าวปิดการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 3 โดยตัวแทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ตัวแทนจากประเทศสมาชิก ผู้พ้นโทษ และเยาวชนอาเซียน

ดึงพลังเยาวชนอาเซียนร่วมขับเคลื่อนแนวทางป้องกันอาชญากรรมและปฏิรูปยุติธรรมอาญา ในเวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาครั้งที่ 3” (3rd ACCPCJ)

เซนดี้ เฮอร์มาวาตี รองประธานและหัวหน้าแผนกสนธิสัญญา ฝ่ายกฎหมายและข้อตกลง สำนักเลขาธิการอาเซียน กล่าวถึง งาน ACCPCJ ว่าประสบความสำเร็จในการมุ่งมั่นที่จะแสวงหาวิธีแก้ปัญหา และเพื่อรับมือกับความท้าทายที่ประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังเผชิญอยู่

“ACCPCJ ถือเป็นเวทีที่ทรงประสิทธิผลมากที่สุดเวทีหนึ่งในอาเซียน ในการรวมรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีความคิดแก้ปัญหาที่แปลกใหม่สร้างสรรค์เกี่ยวกับประเด็น หรือความท้าทายที่พวกเขาตระหนักถึงจากมุมมองของพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้น เรายังได้เห็นผู้แทนเยาวชนและความคิดอันหลักแหลมก้าวหน้าของพวกเขาบนเวทีนี้ด้วย”

ดึงพลังเยาวชนอาเซียนร่วมขับเคลื่อนแนวทางป้องกันอาชญากรรมและปฏิรูปยุติธรรมอาญา ในเวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาครั้งที่ 3” (3rd ACCPCJ)

ด้าน ดร. ยานูร์ นูโกรโฮ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานด้านการปฏิบัติตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน กระทรวงการพัฒนา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ในมุมมองของเขา บทเรียนหลักจากงาน ACCPCJ ครั้งนี้คือการต้องดูแลให้แน่ใจว่าไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง การเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้มีบทบาทนอกภาครัฐ และการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด

“หนึ่งในหลักการสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ United Nations’ Sustainable Development Goals (SDGs) คือ “การไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เช่นกัน จึงควรเป็นอย่างยิ่งที่จะนำหลักการนี้ไปใช้ในการจัดทำนโยบาย รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมและความยุติธรรมด้วย”

นอกจากนี้แล้ว การทำงานร่วมกับผู้มีบทบาทนอกภาครัฐนั้นมีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สื่อ หรือเยาวชน เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าลำพังแค่รัฐบาลคงไม่อาจทำงานทุกอย่างได้ลุล่วง

ดร. ยานูร์ ยังระบุด้วยว่า สิ่งที่เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งได้รับการอภิปรายอย่างกว้างขวางในงาน ACCPCJ ครั้งที่ 3 นั้นคือเราควรใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด และไม่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยี ที่มีไว้เพื่อช่วยเรา ไม่ใช่เพื่อให้เรารับใช้เทคโนโลยี เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีหรือระบบออนไลน์ต่าง ๆ ไม่สามารถทดแทนทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกได้ อาทิ ไม่สามารถทดแทนระบบยุติธรรมได้

ดึงพลังเยาวชนอาเซียนร่วมขับเคลื่อนแนวทางป้องกันอาชญากรรมและปฏิรูปยุติธรรมอาญา ในเวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาครั้งที่ 3” (3rd ACCPCJ)

จอร์จ โอ ออร์ธา ลี ผู้แทนจากกรมยุติธรรม ประเทศฟิลิปปินส์และหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM) จากฟิลิปปินส์ กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ช่วยสะท้อนให้เห็นว่าอาชญากรรมและความยุติธรรมมิใช่เรื่องของรัฐบาลเท่านั้น ถึงแม้ว่าประเด็นอาชญากรรมและความยุติธรรมจะดูเหมือนเป็นเรื่องของนักกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 3 นี้สะท้อนถึงมุมมองจากทั้งองค์กรภาครัฐ องค์กรเอกชน องค์กรนอกภาครัฐและเยาวชน ทุกฝ่ายได้กล่าวถึงเรื่องอาชญากรรมและความยุติธรรม นี่คือหลักฐานที่ชี้ชัดว่าหากเราต้องการรับมือกับสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ เราต้องใช้วิธีการที่ครอบคลุมสังคมทั้งหมด มิใช่แค่วิธีที่ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด

จอร์จ ยังเผยด้วยว่าเขาประทับใจผู้แทนเยาวชนที่มาเข้าร่วมงานประชุมเพราะเยาวชนเหล่านี้มีความรู้เรื่องอินเทอร์เน็ต อาชญากรรมไซเบอร์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นอย่างดี

“เราได้เห็นความมั่นใจและความกระตือรือร้นของเยาวชนที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้และข้อเสนอแนะ ตลอดจนความเต็มใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานี่ไม่ใช่จุดจบ หากแต่เป็นการเริ่มต้นของสิ่งที่เราควรทำเพื่อรับมือกับความท้าทายใหญ่ที่อยู่เบื้องหน้าเรา” นายจอร์จ สรุป  

ขณะที่ บรูซ แมทธิว ผู้พ้นโทษจากสิงคโปร์ กล่าวว่าผู้จัดงาน ACCPCJ ครั้งนี้ “กล้าหาญ” ที่เชิญเขาและผู้พ้นโทษอื่น ๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการบริหารเรือนจำ โดยปัจจุบันตนทำงานเป็นนักข่าวพลเมืองให้แก่ผู้ผลิตแห่งหนึ่งในสิงคโปร์

ในระหว่างเข้าร่วมงานประชุม เขาสนับสนุนแนวคิด “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดที่ได้รับการกล่าวถึงในงานกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มอบโอกาสให้ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดสื่อสารถึงสาเหตุ สภาพการณ์และผลกระทบของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น รวมถึงความต้องการของพวกเขาเพื่อเปิดทางให้ทั้งสองฝ่ายได้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีศักดิ์ศรีและการยอมรับนับถือ รวมถึงกลับคืนสู่สังคมในวงกว้างขึ้น

เขายังแสดงความคิดเห็นด้วยว่าโครงการกลับคืนสู่สังคมสำหรับผู้พ้นโทษหลายโครงการมิได้ประสบความ สำเร็จอย่างแท้จริง เพราะผู้พ้นโทษไม่รู้สึกว่าตนเองได้รับการยอมรับจากสังคม

“หากเราได้รับการยอมรับ ชีวิตจะง่ายขึ้นเยอะสำหรับเรา หากไม่ได้รับการยอมรับ ย่อมมีความเสี่ยงสูงมากที่ผู้พ้นโทษจะกลับไปกระทำผิดซ้ำและกลับเข้าสู่เรือนจำอีก”

ด้าน เซลีน ลี กา ลีน นักศึกษาชาวสิงคโปร์ ตัวแทนขององค์กรนิสิตนักศึกษากฎหมายเอเชีย (Asian Law Students’ Association หรือ ALSA) และเป็นหนึ่งในตัวแทนที่ได้รับคัดเลือกร่วมการประชุมเวทีคู่ขนาน The 3rd ACCPCJ Youth Forum หัวข้อ “Future of Justice in the Digitized World” กล่าวว่า หลังจากได้ร่วมอภิปรายกับและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ตลอดจนผู้กำหนดนโยบายในงาน  ACCPCJ เธอและตัวแทนเยาวชนรายอื่น ๆ ต่าง “รู้แจ้งว่าการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสามารถขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ได้อย่างไร”

“การได้เข้าถึงสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อเราอย่างมากในการทำความเข้าใจว่าจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายในชีวิตจริงได้อย่างไร การทำความเข้าใจดังกล่าวมิอาจเกิดขึ้นโดยอาศัยการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวหรือปราศจากบริบทว่ามีการรับมือและถกประเด็นระดับโลกกันอย่างไร” เซลีน กล่าว และเสริมด้วยว่า “ยังคงมีคำถามอยู่ว่า เราจะสร้างผลกระทบได้อย่างไร เราจะขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขกฎหมายได้อย่างไร และเราจะกลับไปยังประเทศบ้านเกิดแล้วอำนวยให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและวิธีแก้ปัญหาได้อย่างไร” 

จากนั้น เซลีน กล่าวด้วยว่า ในฐานะตัวแทนของชาว Generation-Z เธอขอเรียกร้องให้หน่วยงานราชการและผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขา “เดินหน้าทำงานที่กำลังทำอยู่ รับฟังสิ่งที่เยาวชนเรียกร้อง และเปิดรับแรงบันดาลใจจากคนหนุ่มสาวที่มีความคาดหวังต่ออนาคตต่อไป”

วงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษาของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวปิดงานว่า การมีส่วนร่วมของเยาวชนถือเป็น “องค์ประกอบอันเป็นเอกลักษณ์” ของเวที ACCPCJ เนื่องจาก TIJ และพันธมิตรเชื่อว่าการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงเยาวชน และ ACCPCJ เห็นความสำคัญของคนหนุ่มสาวในการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญามาโดยตลอด ทั้งยังมีเป้าหมายในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้แก่ภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเยาวชนคืออนาคตของภูมิภาค เราจึงจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของเยาวชนและเปิดโอกาสให้พวกเขาได้กำหนดประเด็นวาระที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญ

ทั้งนี้ การประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 3 เป็นการประชุมที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดขึ้น ในหัวข้อ “การรับมือกับความท้าทายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาช่วงฟื้นตัวของอาเซียนหลังสถานการณ์โควิด-19” ระหว่างวันที่ 22 – 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยมีประเด็นอภิปรายหลัก ได้แก่ อาชญากรรมไซเบอร์ ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม