กสศ.เปิดไลน์ESS Help Meช่วยเด็กเยาวชนป้องกันเหตุฉุกเฉินทางสังคม 24ชม.
กสศ.เปิดไลน์ ESS Help Me รับแจ้งเหตุพบเด็กและเยาวชนอยู่ในความเสี่ยงอันตราย เป็นระบบที่พัฒนาร่วมกับกระทรวงพม. ดีอีเอส สตช.และมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ เฝ้าระวังป้องกันเหตุฉุกเฉินทางสังคม 24ชม.
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์เสียชีวิตของนักเรียนพร้อมกับบิดาภายในบ้านพัก ที่ จ.บุรีรัมย์ ว่า กสศ.ขอแสดงความเสียใจกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นและเป็นเรื่องที่สะเทือนใจทุกคน น้องเป็นนักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. และ ทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจาก สพฐ. มาต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- 3 ปีการศึกษา 2563-2565 และ ในปีการศึกษา 2566 ทีมคุณครูได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและ บันทึกข้อมูลของน้องเข้ามาครบถ้วนแล้วตั้งแต่เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และน้องได้รับทุนเสมอภาคจากกสศ. และทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจาก สพฐ. ต่อเนื่องจนถึง ประถมศึกษาปีที่ 6
อย่างไรก็ตาม จากการทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ. และ 6 หน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษา ตลอด 5 ปีที่ผ่านพบ สัญญาณที่น่าเป็นห่วง คือ แนวโน้มสถานการณ์ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง 1.8 ล้านคน พบว่า กว่าร้อยละ 40 ของนักเรียนผู้รับทุนเสมอภาคและทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนเป็นกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากพ่อแม่แยกทางกัน นักเรียนต้องอาศัยอยู่กับ ญาติ ผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน หรือผู้พิการ
ดังนั้นการจัดสรรทุนเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนที่ครัวเรือนที่มีความเปราะบางแต่เพียงลำพังจึงไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ทั้งหมด จำเป็นต้องต่อยอดการชี้เป้าหมายนักเรียนทุนที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมเหล่านี้ไปสู่การบูรณาการความช่วยเหลือ ด้านสวัสดิการ และทรัพยากรจาก ชุมชนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านสุขภาพ สังคม และครอบครัวเข้ามาดูแลเด็กเยาวชนและครัวเรือนเปราะบางที่มีนักเรียนทุนที่ประสบวิกฤตปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่าเรื่องความยากจนและต้องการความช่วยเหลือในหลายมิติอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ยังมีข้อค้นพบจากการวิจัยของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา กสศ. ซึ่งศึกษาจาก 848 กรณี พบว่า เด็กในกลุ่มวิกฤตการศึกษาจำนวนร้อยละ 73 มีปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่า 1 ปัญหา โยงใยมาที่ครอบครัว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพกายจิตใจ สวัสดิภาพความปลอดภัย
จากการเก็บข้อมูลพบว่าครัวเรือนเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะสิ้นหวัง มองไม่เห็นโอกาสที่จะหลุดพ้นออกจากวังวนวิกฤตทางการเงิน การว่างงาน ครอบครัว ฯลฯ ทัศนคติเหล่านี้ยังส่งผลลบมาถึงอนาคตทางการศึกษาของบุตรหลานอีกด้วย โดยเมื่อเข้าสู่โปรแกรมช่วยเหลือพบว่าการให้เงินอุดหนุนช่วยเหลืออย่างเดียว ไม่สามารถช่วยให้เด็กพ้นวิกฤตได้ แต่ต้องสนับสนุนให้ครอบครัวมีความสามารถในการอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้ด้วย
“จากการทำงานที่ผ่านมา ของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา กสศ. พบว่าเด็กที่สามารถพ้นวิกฤตได้เป็นเพราะการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น ในการปกป้องคุ้มครองดูแลเด็ก การสนับสนุนให้พ่อแม่สามารถมีอาชีพ จนหลุดออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่นได้สำเร็จ และการศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์เด็กและครัวเรือนสอดคล้องกับข้อจำกัดในชีวิตของเด็กและเยาวชนแต่ละคน” ดร.ไกรยส กล่าว
ดร.ไกรยส ชี้ว่า ปัญหาครอบครัวโยงใยทุกมิติ ทั้งวังวนความยากจนข้ามรุ่น การหย่าร้าง ภาวะสิ้นหวังในชีวิตและการใช้ชีวิตเร่ร่อนของพ่อแม่ การใช้ความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง รวมทั้งคุณภาพของสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก เช่น การพนัน ยาเสพติด การใช้ความรุนแรงล้วนมีอิทธิพลต่อความเสี่ยงด้านพฤติกรรมและการศึกษาของเด็กโดยตรง จำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุก ในสองส่วน คือ หนึ่ง พัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมเพื่อเด็กและเยาวชน โดยเชื่อมโยงทุกหน่วยงานในระดับ ชุมชน ท้องถิ่น ให้ทำงานร่วมกันเพื่อปกป้อง ดูแล คุ้มครอง เด็กและเยาวชนในทุกมิติ ทั้งสุขภาพกาย ใจ ครอบครัว สังคมและการศึกษา โดยเฉพาะจากสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยซึ่งส่วนกลางต้องสนับสนุนให้กลไกพื้นที่เข้มแข็ง สอง มีมาตรการให้พ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนยากจนสามารถยืนหยัดขึ้นมาพึ่งพาตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่ใช่มาตรการสงเคราะห์เงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวแต่ไม่สามารถแก้ปมปัญหาที่แท้จริงได้
ที่ผ่านมา กสศ. ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ พัฒนาระบบ “อพม.Smart” เพื่อแจ้งเหตุช่วยเหลือเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสที่ประสบปัญหาทางสังคม
หากประชาชนพบเห็นเด็กและเยาวชนที่อยู่ในความเสี่ยงได้รับอันตราย ขอให้แจ้งเหตุผ่าน LINE OA "ESS Help Me" หรือกดเพิ่มเพื่อนที่ลิงค์ https://lin.ee/GetbF8D เป็นเครือข่ายในการชี้เป้า เฝ้าระวัง ป้องกันเหตุฉุกเฉินทางสังคมให้แก่เด็กและเยาวชนตลอด 24 ชั่วโมง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีทีมสหวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สายด่วน 191 เจ้าหน้าที่หน่วยงานทีม One Home พม.ทุกจังหวัด อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้กสศ. สพฐ. กรมสุขภาพจิต ยังได้ร่วมพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือ นักเรียน Online หรือ ระบบ OBEC for Care เพื่อสนับสนุนให้เกิดกลไกการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่สอดคล้องกับความต้องการเป็นรายบุคคล ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วทันท่วงที โดยที่ผ่านมาได้เริ่มทดลองนำร่องในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ครอบคลุม 28 เขตพื้นที่การศึกษา มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ 1,050 แห่ง และจะขยายการทำงานกับโรงเรียน สพฐ. ทั่วประเทศ