สสส.จับมือสธ.-สอศ. ชูหยุดบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาวันงดสูบบุหรี่โลก
สสส. จับมือ กระทรวงศึกษาธิการ และ สอศ.รณรงค์“ปลอดควัน ปอดสะอาด ในอาชีวศึกษา” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ชู 5 มาตรการปกป้องเด็กเยาวชนไม่ให้ได้รับพิษภัยจากผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ พบอายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น
กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสํานักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุข (สสส.) จัดแถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2567 ภายใต้โครงการ “ปลอดควัน ปอดสะอาดในอาชีวศึกษา” เพื่อป้องกันเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ ณ ห้องประชุม สถาบันการอาชีวศึกษา วิทยาลัยพณิชยการบางนา กรุงเทพมหานคร
นางสุภัทรา สนิทสม ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบาย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อกระตุ้นให้ทุกๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้เล็งเห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ ทั้งผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งปีนี้องค์การอนามัยโลก ยังให้ความสำคัญกับการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ภายใต้คอนเซ็ปต์คือ “ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่ : บริษัทบุหรี่ หยุดโกหกได้แล้ว” โดยรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการมุ่งแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้มีผู้หลงผิด โดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่ที่มักเป็นเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา รวมถึงคุ้มครองผู้คนรอบข้างไม่ให้เป็นผู้ได้รับควันบุหรี่มือสอง อาทิ การห้ามขายบุหรี่ให้เด็ก การจำกัดพื้นที่สูบ การจำกัดช่องทางการเข้าถึง และการปรับขึ้นราคาบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า พิษภัยบุหรี่ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึงปีละกว่า 70,000 คน ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจภาคครัวเรือนปีละกว่า 100,000 ล้านบาท
“นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้สถานศึกษาโรงเรียน เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และมีมาตรการเข้มข้นเพื่อให้สถานศึกษาเป็นสถานที่สาธารณะ ที่ต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยให้สถานศึกษาบริหารจัดการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมไร้ควันบุหรี่ รวมถึงสอดแทรกเรื่องบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในการจัดการเรียนรู้ และให้นักเรียนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนโรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปสู่วงจรนักสูบหน้าใหม่ และช่วยป้องกันรักษาสุขภาพของทุกคนในสถานศึกษา” ดร.สิริพงศ์ กล่าว
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทยเพิ่มสูงขึ้น จากผลการสำรวจของการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นก้าวกระโดด จาก 3.3% เพิ่มเป็น 17.6% เพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า จากปี 2558 โดยงานวิจัยที่ติดตามคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าตอเนื่องเป็นเวลา 5 ปี ผลวิจัยการเทียบกับคนไม่สูบหรี่พบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงเกิดอาการผิดปกติของทางเดินหายใจ และโรคถุงลมโป่งพอง และพบว่าไอบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยงทำให้เซล์ของปอดตาย ทำอันตรายต่อสารพันธุกรรม (DNA) และกดการทำงานของยีนที่เกี่ยวกับภูมิต้านทานของปอด ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการผิดปกติของปอดและโรคถุงลมโป่งพอง โดย สสส. ได้สนับสนุน 5 มาตรการเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้ได้รับพิษภัยจากผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ 1.การพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2.สร้างความตระหนักรับรู้โทษ พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กเยาวชน และประชาชน 3.เฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 4.การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และ 5.การยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า
“มีการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ปี 2567 เกี่ยวกับการเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ ต่างใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเน้นสร้างการรับรู้ของตัวผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า การรักษาลูกค้าด้วยการจัดส่งฟรี แจก-แถม และลดราคาซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายมากขึ้น โดยมีแนวโน้มของการออกแบบผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าเน้นให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ความชอบของคนรุ่นใหม่ แบบเรียบง่ายแฝงความสวย เท่ มีขนาดที่พกพาง่าย ” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นางสาวรุ่งนภา ปุณยานุเดช ผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา กล่าวว่า เยาวชนคือกลุ่มเสี่ยงต่อสิ่งเสพติดมาก ดังนั้นการจะแก้ปัญหาบุหรี่และบุหรี่ไฟ้า จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชน โดยการสร้างเสริมพฤติกรรม ทัศนคติที่เหมาะสมต่อช่วงวัย โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในวิทยาลัย ผ่านโครงการ “ลดเหล้า ลุบุหรี่ พัฒนาเด็ก Gen Z ให้มีคุณภาพ” โดยการนำดนตรีโฟล์กซอง และการเพนท์ผ้าดิบ มาเป็นกิจกรรมหลักในการชักชวนให้นักศึกษาหันมาให้ความสนใจ และจัดประกวดเพื่อชิงรางวัล ซึ่งได้สอดแทรกการสร้างการรับรู้โทษของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสิ่งเสพติดทุกประเภทเพื่อให้นักศึกษาเกิดการตระหนักรู้และลดนักสูบหน้าใหม่ในสถานศึกษา
“กิจกรรมที่จัดขึ้นถือเป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ต่อนักศึกษาที่จะใช้เวลาว่างจากการเรียนมาฝึกซ้อมดนตรี ซึ่งถือเป็นการสร้างคุณค่าให้ตัวเอง ส่ยนการประกวดเพนท์ผ้าดิบรณรงค์ ก็ได้ระดมความคิดและใช้ Skill รอบตัวที่ได้เรียนรู้จากในห้องเรียนมาออกแบบสื่อความหมายตามชื่อโครงการ ถึงการลดเหล้า ลดบุหรี่ และพัฒนาเด็ก GEN Z โดยจะนำผลงานที่ทำไปต่อยอด กับการเดินรณรงค์ชุมชนรอบๆ วิทยาเพื่อสร้างการรับรู้จากนักศึกษาสู่ชาวชุมชนรอบรั้วสถานศึกษา” นางสาวรุ่งนภา กล่าว