posttoday

ศูนย์ข้าวชุมชนหนุนใช้เทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตลดต้นทุนมีคุณภาพ

24 กันยายน 2567

ศูนย์ข้าวชุมชนหนุนใช้เทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตลดต้นทุนแก้ไขปัญหาเพื่อให้การผลิตข้าวที่มีคุณภาพกระจายให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง

ศูนย์ข้าวชุมชนหนุนใช้เทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตลดต้นทุนมีคุณภาพ

     ต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงขึ้นและผลผลิตต่ำเป็นปัญหาที่เกษตรกรไทยยังต้องเผชิญ กรมการข้าวจึง มีเป้าหมาย ให้ศูนย์ข้าวชุมชน เป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้การผลิตข้าวที่มีคุณภาพกระจายให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง    

ศูนย์ข้าวชุมชนหนุนใช้เทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตลดต้นทุนมีคุณภาพ

     นายณัฏฐกิตติ์  ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากพฤติกรรมของชาวนา ที่ใช้เมล็ดพันธุ์นาหว่านกว่า 30 กิโลกรัมต่อไร่  ทำให้ต้นข้าวแน่นแตกกอไม่ดี แม้ต้นจะสวยแต่ผลผลิตไม่ได้ การทำนาแบบนี้สุดท้ายจะไปไม่รอดทำให้เกษตรเร่งใส่ปุ๋ย ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ดีนัก ส่วนหนึ่งเพราะชาวนายังเชื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของผู้จำหน่ายปุ๋ย ในขณะที่พื้นที่ทำนา ที่เป็นนาเช่า ได้เร่งทำนาหลายรอบวนๆซ้ำๆเดิมๆ ทำให้ดินเครียด  การใช้เครื่องจักรหนักตีดิน ทำให้โครงสร้างกระจุยจึงต้องปรับแร่ธาตุ

     ดังนั้นศูนย์ข้าวชุมชนเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี เริ่มจากการไถกลบหมักตอฟางและหญ้า 7-10 วัน เพื่อให้ไม่มีวัชพืช  เป็นการพักดิน หลังจากนั้นเอาน้ำเข้า แล้วใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่ฝ่ายโรคพืชกรมการข้าวผลิตขึ้น เข้าจัดการแปลงนาช่วยฟื้นฟูย่อยสลายตอซัง  ซึ่งการทำนาไม่ควรทำเกินปีละ  2 ครั้ง ด้วยการทำแบบประณีต ทำน้อยแต่ได้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ สลับด้วยการใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงดินด้วยพืชปุ๋ยสด (ปอเทือง) และการไถกลบตอซัง การผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และแหนแดง ซึ่งเป็นพืชน้ำ เพื่อทดแทนการใช้สารเคมี ทำให้ต้นทุนการผลิตลง ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และปลอดสารพิษ

     "เชื้อจุลินทรีย์ นี้ทนต่อสภาพอากาศ กรมการข้าวทำเป็นเม็ดกระเปาะ เพื่อให้ใช้กับโดรนได้จะทำให้การกระจายจุลินทรีย์ ทำได้ทั่วถึง เป็นวิธีการที่ดีกว่าการโรยด้วยมือ หรือปล่อยไปกับน้ำในนาที่ไม่ไหลเวียน  โดยกรมการข้าวมีแผนแจกฟรีหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว  แต่ปัญหาในขณะนี้คือกำลังการผลิตทำได้เพียง  500 ซองต่อเดือน น้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการ" นายณัฏฐกิตติ์  กล่าว

     นอกจากนี้การทำนาที่ได้ผลิตดีได้ข้าวที่มีคุณภาพ คือนาดำ แต่เนื่องจากต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ทำให้ไม่ได้รับความนิยม ปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้แต่เวียดนามที่มีแรงงานจำนวนมาก ได้นำเทคโนโลยีรถปลูกข้าวมาใช้ พบว่าทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวลดลงกว่า 50 % สำหรับประเทศไทย เริ่มนำรถปลูกข้าวมาใช้โดยรัฐบาลให้การส่งเสริมในโครงการแปลงใหญ่ 

ศูนย์ข้าวชุมชนหนุนใช้เทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตลดต้นทุนมีคุณภาพ

     “เกษตรกรต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิตข้าว และแก้ไขปัญหาในการผลิตข้าวที่ปรับตัวและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นี่เป็นเป้าหมายที่ต้องถ่ายทอดผ่านศูนย์ข้าวชุมชนไปพร้อมๆกับภาระกิจด้านการกระจายเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ”

     นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวว่า การทำนาเปียกสลับแห้งเป็นอีกเทคโนโลยีที่สนับสนุนให้เกษตรกรนำไปใช้โดยเฉพาะการทำนาปรังในเขตชลประทาน  ที่สามารถควบคุมน้ำเข้าออกได้ วิธีการนี้ที่ มีส่วนช่วยในการเพิ่มการแตกกอของต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวเติบโตในแนวข้างมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการกินปุ๋ย ของต้นข้าวและลดการปล่อยก๊าซมีเทน ที่สร้างภาวะเรือนกระจกให้กับโลก อีกด้วย

     “มีผลงานวิจัย ที่สร้างนวัตกรรมการเกษตรเกิดขึ้น เป็นอีกส่วนที่กรมการข้าวดำเนินการ ให้ใช้ได้จริงมาขยายผลสร้างการรับรู้ยอมรับและนำไปใช้ อาทิ การเตรียมดินและการปรับพื้นที่ด้วยเลเซอร์ (Laser Land Leveling ) การปลูกข้าวด้วยเครื่องหยอดข้าวงอกติดท้ายรถแทรกเตอร์ เทคโนโลยีการควบคุมแมลงศัตรูข้าวหลังการเก็บเกี่ยว เป็นต้น"

     เทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้ จะมีจุดสาธิตให้เกษตรกรเรียนรู้โดยใช้ศูนย์ข้าวชุมชนเป็นแกนขยายไปยังเกษตรกร ซึ่ง ณ วันนี้จุดติดแล้วและพร้อมก้าวต่อ การส่งความรู้ให้เกษตรกร ผ่านอาสาชาวนา 1.4 แสนคน เป็นการยกระดับคุณภาพมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มคุณภาพและเพิ่มผลตอบแทนในการผลิตข้าวคุณภาพดีต่อไป 
ศูนย์ข้าวชุมชนหนุนใช้เทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตลดต้นทุนมีคุณภาพ