กปน. จัดงานวันสภาธรรมาภิบาล 2567 มุ่งสู่การเป็นองค์กรปลอดทุจริต
กปน. จัดงานวันสภาธรรมาภิบาล 2567 ภายใต้แนวคิด "รู้จักพอ ก็พอเพียง" มุ่งสร้างจิตสำนึกด้านธรรมาภิบาลและต้านทุจริตเพื่อเป็นองค์กรปลอดทุจริตอย่างยั่งยืน
วันนี้ (วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2567) เวลา 13.00 น. ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 อาคารสุทธิอุทกากร การประปานครหลวง (กปน.) สำนักงานใหญ่ นางสาวสุวรา ทวิชศรี รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กปน. เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “วันสภาธรรมาภิบาลการประปานครหลวง พ.ศ. 2567” ภายใต้แนวคิด “รู้จักพอ ก็พอเพียง” เพื่อปลูกจิตสำนึกในการปฏิบัติงานของบุคลากร กปน. ด้วยหลักธรรมาภิบาล คุณธรรม จริยธรรม และร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อเดินหน้าสู่องค์กรปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน (Zero Corruption) โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ประธานกรรมการ กปน. ให้เกียรติ Talk Show ถ่ายทอดเรื่องราวในหัวข้อ “ผู้นำกับหลักความพอเพียงในการทำงาน” และ คุณนภาพร ไตรวิทย์วารีกุล (ดีเจพี่อ้อย) ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “แค่ปรับวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยน”
นางสาวสุวรา กล่าวว่า กปน. เป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกในประเทศไทยที่มีสภาธรรมาภิบาล มีการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งดำเนินการในรูปแบบของ Soft Power ด้วยการปลูกฝังและกระตุ้นจิตสำนึกด้านธรรมาภิบาล เสริมสร้างการทำงานที่ถูกต้อง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความคิดของบุคลากร โดยประกาศเป็นข้อบังคับ กปน. ฉบับที่ 138 ว่าด้วยสภาธรรมาภิบาล กปน. พ.ศ. 2559 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งตลอด 8 ปีที่ผ่านมา สภาฯ ได้ทำหน้าที่ในการสื่อสารข้อมูลด้านธรรมาภิบาล การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน การส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ควบคู่กับการรับฟังและรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะของบุคลากร กปน. เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนา กปน. ให้เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ประธานกรรมการ กปน. ได้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับ “ผู้นำกับหลักความพอเพียงในการทำงาน” โดยกล่าวถึงธรรมาภิบาลในการทำงานอย่างง่าย ๆ ได้แก่ สิ่งใดที่ไม่ถูกต้อง ไม่คุ้มค่า ก็ไม่ควรทำ ส่วนสิ่งใดที่ไม่โปร่งใส ควรทำให้โปร่งใส นอกจากนี้ ควรมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อค้นพบสิ่งใหม่ ที่ทันสมัยตลอดเวลา สำหรับหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถนำมาปรับใช้ได้ ขึ้นอยู่กับว่า จะปรับให้เข้ากับแค่ละคนได้อย่างไร เพราะความพอเพียงของแต่ละคนแตกต่างกัน ดังนั้น ทุกคนควรนำความรู้ วินัย ความพอเพียง จิตอาสา และความกตัญญู มาใช้ในการดำเนินงาน เพื่อให้ตนเอง สังคม และประเทศชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข