สัมมนา “พลิกโฉมไทย” ผสานนวัตกรรม บริหารทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม
เวทีสัมมนา “พลิกโฉมประเทศไทย...ด้วยนวัตกรรมการจัดการ” ภาครัฐและเอกชน บูรณาการร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ – ภัยคุกคาม – พัฒนาผลผลิตทางการเกษตร ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ยั่งยืน
วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ (College of Innovation Management) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดสัมมนา “พลิกโฉมประเทศไทย...ด้วยนวัตกรรมการจัดการ” โดย ผศ.ดร.ธนพล ก่อฐานะ ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ และคณะนักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการ รุ่นที่ 29 รุ่นที่ 30 และรุ่นที่ 31 ซึ่งได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.บัณฑิต ผังนิรันดร์ รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและจัดหารายได้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นประธานเปิดงานสัมมนา และมีนักศึกษา บุคคลทั่วไป ร่วมรับฟัง ณ โรงละคร ชั้น 2 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า เราได้นำนวัตกรรม และเทคโนโลยี มาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศ เช่น ดาวเทียม และโดรน ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้ตามภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการนำมาปรับใช้เพื่อจัดการภัยคุกคาม ช่วยในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ได้แก่ การพยากรณ์ฝุ่น PM 2.5, การเฝ้าระวังการบุกรุกทำลายป่า, การติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน และการแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลกำลังผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครติด คาดว่าจะเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาผู้แทนราษฎร ในอีกไม่กี่เดือน ซึ่งจะช่วยให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครติตภายในและต่างประเทศได้ และสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมีการแข่งขันและเพิ่มศักยภาพการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
"เราต้องวางระบบบริหารจัดการทุกมิติเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน และต้องวางกฎกติกาส่งเสริมคนที่ดี และควบคุมคนที่ไม่ดี ยกตัวอย่างเช่น ภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะตาชัย ที่ถูกปิดเพื่อฟื้นฟู และอ่าวมาหยา ที่จัดการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้ในพื้นที่ของอ่าว เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของประเทศ รวมถึงการจัดการคนลักลอบนำขยะ จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ พร้อมทั้งต้องมีการพัฒนาระบบ AI เพื่อใช้สำหรับการพยากรณ์ภัยพิบัติต่างๆ เช่น ไฟป่า, ฝุ่น PM 2.5, น้ำท่วม, ดินโคลนถล่ม และแผ่นดินไหว อีกด้วย " นายอรรถพล กล่าวเพิ่ม
นายชลัช ชินธรรมมิตร์ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในด้านการท่องเที่ยวนับว่าเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ เช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มีนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย เข้ามาประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งอยากให้เน้นย้ำในเรื่องคุณภาพของนักท่องเที่ยวที่มีกำลังในการใช้จ่าย มากกว่าคำนึงถึงปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ โดยขณะนี้ ททท. ได้ผลักดันการท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างมีศักยภาพด้วย
นายชลัช กล่าวอีกว่า ส่วนอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลนั้น ปัจจุบันเมื่อเกษตรกรนำอ้อยเข้ามาถึงโรงงงาน เบื้องต้นจะมีการแยกประเภทของอ้อย ว่า เป็นประเภทอ้อยเผา หรือประเภทอ้อยสด ซึ่งการผลิตน้ำตาลไม่ได้เกิดจากการเผาอ้อยทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรอื่น ๆ ด้วย เช่น การเผาตอซังข้าว และการเผาข้าวโพด ขณะที่โรงงานที่เป็นปลายทางรับอ้อยจากเกษตรกร ได้มีความพยายามชะลอการรับอ้อยเผาจากเกษตรกร ก่อนเข้าโรงงาน เป็นระยะเวลา 3 - 4 วัน แต่ก็เกิดปัญหาอ้อยเน่าเสียอีกทางหนึ่งด้วย หากวิเคราะห์ในมุมมองนวัตกรรมในการจัดการพืชอ้อย จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยแพ้ต่างประเทศด้วยต้นทุนที่สูงกว่า แต่ก็มีจุดเด่นที่สามารถขนส่งสินค้าเกษตรไปยังประเทศรอบข้างได้ง่าย ดังนั้นนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ คือ เครื่องจักรกลเกษตร ระบบเป็นไฮบริด หรือระบบอีวี เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้า และรถโดยสารไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดมลภาวะทางอากาศในประเทศได้อีกทางหนึ่ง
ดร.ยุทธนา สุวรรณโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นวัตกรรมที่ดีต้องเกิดการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความท้าทาย และบริบทของโลก โดยเฉพาะในด้านของพลังงาน ซึ่งปตท.เราต้องการสร้างความมั่งคงให้ประเทศ และมุ่งมั่นสู่การพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน และนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้องค์กรเติบโตและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และบริหารองค์กรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และในอนาคต ปตท. จะดำเนินการธุรกิจพลังงานสะอาด นอกจากนี้ เรายังแก้ไขปัญหาคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการส่งเสริมการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วย และในด้านระบบเทคโนโลยีหรือระบบ AI นั้นเป็นกลไกสำคัญในการทำงาน และลดการใช้ทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง ปตท. นำมาใช้ในการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่แม่นยำ รวมถึงยังช่วยในการตรวจสอบอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายได้อีกด้ว