นวัตกรรมที่ดี เทคโนโลยีที่ช่วยครูควบคู่กับระบบใหม่ๆ ช่วยตอบโจทย์การศึกษาไทย
“นวัตกรรมการศึกษาในโลกปัจจุบัน ต้องถูกนำมาปรับใช้ เพื่อตอบโจทย์ด้านผลลัพธ์และเป้าหมายสูงสุดของนักเรียน ทั้งเทคโนโลยีที่เหมาะสม ผสมกับระบบใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพครู ล้วนมีความสำคัญที่ช่วยให้ก้าวข้ามความท้าทายในปัจจุบัน เพราะอนาคตของเด็กจะเป็นอย่างไร ครูคือบุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น” ใจความสำคัญจากการปราศรัยโดย นายธานินทร์ ทิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรการศึกษาเพื่อสังคม บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ในงาน KoSEA will be held the Social Economy Leaders Forum ณ Korea Federation Center of Small and Medium Business
ธานินทร์ ทิมทอง
นายธานินทร์ ทิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ด้านนวัตกรรมการศึกษาในเครือ เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้รับเชิญเป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์การทำงานด้านการศึกษาเพื่อคนรุ่นใหม่ ในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม ในหัวข้อ “Asia, Expand the Social Economy Impact” ภายในงาน KoSEA will be held the Social Economy Leaders Forum ที่จัดขึ้น ณ Korea Federation Center of Small and Medium Business กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
โดยการปราศรัยในฐานะผู้นำด้านการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการศึกษาและสังคม นายธานินทร์ ได้เผยแนวคิดว่า “จากที่บริษัทฯ ได้ทำงานและคลุกคลีกับโรงเรียน นักเรียน และ ครู หลายแห่งทั่วประเทศมาเป็นเวลานาน ทำให้เห็นว่าระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบัน ที่แม้จะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว แต่ใช้เพียงเทคโนโลยีและระบบออนไลน์อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือให้ระบบการศึกษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งโดยทั่วไป การเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีและระบบออนไลน์นั้น จะสามารถทำได้เฉพาะกับเด็กที่ค่อนข้างมีพื้นฐานความรู้ที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งต่างจากเด็กนักเรียนในชนบท ที่เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ต่างๆยังเข้าไม่ถึง ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในบางพื้นที่ ที่เด็กระดับชั้นม.3 ยังไม่สามารถคูณหรือหารคณิตศาสตร์ได้ ดังนั้น ในพื้นที่ห่างไกล ครูคือบุคคลสำคัญที่จะทำให้การศึกษามีความทัดเทียม ซึ่ง เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น มีเป้าหมายหลักที่จะพัฒนาการศึกษาไทยในทุกมิติ จึงได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพครู โดยมีการใช้เครื่องมือในรูปแบบต่างๆ ทั้ง การอบรมระบบออนไลน์,ออฟไลน์ รวมถึงการผสมผสานหลักสูตรออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันหรือที่เรียกว่า Blended Learning โดยมีการเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับบริบทและความต้องการของครูในแต่ละพื้นที่
นอกจากนั้น “ความร่วมมือ” ยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้การศึกษามีความทัดเทียม เนื่องจากนวัตกรรมและระบบต่างๆ จะไม่สามารถสำฤทธิ์ผลได้ หากขาดความร่วมมือและการสนับสนุนจากครูและนักเรียนในแต่ละพื้นที่ และตนเชื่อว่าหากมีการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับนักเรียน ควบคู่กับการสร้างศักยภาพครู ผนวกกับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและจากโรงเรียนในทุกพื้นที่ การศึกษาของประเทศจะต้องเป็นไปอย่างทัดเทียมและทั่วถึง
และท้ายที่สุด ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการศึกษา ผู้พัฒนาต้องไม่ได้พัฒนาเฉพาะเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ที่เด็กนักเรียนจะได้จากนวัตกรรมนั้นๆด้วย เนื่องจากการศึกษา เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่บุคคล โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศชาติ นวัตกรรมการศึกษาจะต้องสามารถทำให้เด็กเหล่านั้นมีทักษะที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จในอนาคต สามารถสร้างแนวคิดที่ดี และสามารถทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆที่จะเข้ามาหาพวกเขาได้” นายธานินทร์ กล่าว.