นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. เป็นประธานการประชุม คัดเลือกผลงานนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
เพื่อเป็น Best Practice ในการจัดการเรียนรู้ของสำนักงาน กศน. โดยมี นางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผู้อำนวยการ กลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนะสกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาหลักสูตร นายกษิพัฒ ภูลังกา รักษาการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมประชุม ระหว่างวันที่ 19 - 20 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมบรรจง ชูสกุลชาติ ชั้น 6 สำนักงาน กศน.
ตามนโยบายขับเคลื่อนดำเนินกิจกรรม “กศน.ออนไลน์ เรียนงาน ได้ความรู้” เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เพื่อนำพาสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญหาและสนองต่อคุณภาพชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษา ให้ผู้เรียนสามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล
นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. กล่าวตอนหนึ่งว่า "การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ส่วนจะมีช่องทางที่จะสามารถจูงใจให้นักศึกษาเข้ามาเรียน และสามารถสร้าง Digital Content ได้ เพราะฉะนั้นส่วนกลางถือเป็นผู้จัดการศึกษา จึงต้องส่งเสริมเรื่องของการพัฒนา Digital Content เพราะในปัจจุบันโลกไม่ได้อยู่ที่คุณจะมีสิ่งปลูกสร้างสวยแค่ไหน คุณจะมีโต๊ะทำงานที่หรูหราขนาดไหน แต่อยู่ที่คุณมี Soft Skills มากน้อยเพียงใด และจะนำไปสู่การส่งเสริมครู กศน.ให้มีความสามารถในการที่จะพัฒนา Soft Skills อาจจะผ่านทางการนำเสนอบทความ เรื่องสั้น นิยาย ให้มีคุณธรรมอย่างไร ดังนั้นจึงต้องควรสร้างเงื่อนไขขึ้นมาและให้ผู้ประกวด ส่งผลงานไปช่องทาง กศน.ชาแนล ทุกคนก็จะได้เห็นภาพความเคลื่อนไหวนั้น โดยเริ่มต้นจากครู กศน.ของเราก่อน จากนั้นถึงนำไปสู่การมอบรางวัล มอบโล่ ซึ่งสามารถทำได้มากกว่าการกำหนดหัวข้อเป็น Best Practice ของ กศน. ยกตัวอย่างเช่น กำหนดหัวข้อ “ ชีวิตของครู กศน.” มาสร้างเป็นเรื่องสั้น ที่สามารถส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม โดยเกิดจากการนำ Soft Skills ให้สร้างสรรค์เป็น Digital Content เป็นต้น
ดังนั้น ส่วนกลางจะมีการสร้างแรงจูงใจให้ครู กศน. อย่างไรให้มีการลงมือปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางว่า Digital Content สามารถสร้างมูลค่าให้กับเราได้อย่างไร เพราะปัจจุบันยุคของ Platform ล้าสมัยแล้ว ดังจะเห็นได้ว่า Platform สามารถหาที่ไหนก็ได้ เมื่อเทียบกับ 2 ปีที่แล้ว ที่ Platform ยังมีความสำคัญ แต่ปัจจุบันนี้จะใช้ Platform เพื่อขายของออนไลน์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ยกตัวอย่าง หลักสูตรดิจิทัลชุมชนที่มีการขายของออนไลน์ ให้เข้ากับยุคสมัย โดยจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ในยุคของดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงอยากให้สร้างรากฐานที่ดี และนำไปขยายผล โดยนำหลักเกณฑ์ในที่ประชุมในวันนี้ ตัดสินว่าผลงานชิ้นใดที่ตรงตามหลักเกณฑ์ และได้รับรางวัล ให้โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปทำขยายผลต่อยอดในอนาคต รวมถึงกระตุ้นให้ทั้งครูและนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม กศน.ชาแนล ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่จะส่งเสริมเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ความรัก ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ความกตัญญูต่อบุพการีและครอบครัว ซึ่งสามารถส่งเสริมให้ครู กศน.ได้ลงมือทำเรื่อง Digital Content ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ของเขา ให้เขาได้มีพื้นที่ในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ก่อนที่จะนำไปเผยแพร่ ใน กศน.ชาแนล เมื่อครู กศน.ได้ลงมือทำ กระบวนการของการมีส่วนร่วมก็จะเกิดขึ้นตามลำดับ ดังเช่น การริเริ่มโครงการนี้ เพื่อให้เป็นรากฐานในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ จึงให้ขยายโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และนำไปต่อยอดในอนาคต โดยอาจประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้บุคคลทั่วไปมีส่วนร่วมในการส่งผลงานเข้าประกวด โดยเนื้อหา Digital Content ที่สร้างสรรค์สังคมอย่างแท้จริง เพื่อที่จะต่อสู่กับข่าวสารที่ไม่ถูกต้องในปัจจุบัน และสำนักงาน กศน. ต้องจัดการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงเท่าทันต่อโลกในยุคใหม่ เพราะโลกของยุคดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา” รองเลขาธิการ กศน. กล่าว