สอศ. พัฒนาอาชีวะเพื่อความเป็นเลิศ พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียนทุกคน
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นหน่วยงานหลักภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลงานด้านการอาชีวศึกษาของประเทศไทย มีภารกิจหลักคือการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์แห่งชาติตามที่รัฐบาลกำหนด โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งกลุ่มอาชีพพื้นฐาน เช่น การบัญชีและการตลาด โดยแบ่งเป็นสามระดับ ได้แก่ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และเทคโนโลยีบัณฑิตรวมกันหลายร้อยหลักสูตรในสถานศึกษาสังกัดภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศครอบคลุมนักเรียนกว่า 1,000,000 คน
ในวาระครบรอบ 81 ปีของ สอศ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า “ในปีงบประมาณ 2565 สอศ. กำหนดแนวนโยบายหลักสองประการเพื่อการพัฒนาประเทศ ประการแรกคือการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีโครงการ ‘อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ’ ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนในกลุ่มที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และกลุ่มที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและยากจน ตลอดจนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เอื้อให้นักเรียนสามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียนได้ นอกจากนี้ สอศ. ยังมีการดำเนินนโยบายศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีกว่า 15 แห่งทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับสถานประกอบการเอกชนต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้ตรงกับความต้องการของสถานศึกษา และนักเรียนมีโอกาสเข้าทำงานหลังจบการศึกษาได้ทันที โดยปัจจุบันมีความร่วมมือกับสถานประกอบการต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง”
“นโยบายหลักประการที่สองคือการพัฒนาอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศเพื่อการแข่งขัน เน้นการพัฒนานักเรียนในสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและสาขาขาดแคลน ตอบโจทย์อุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น ท่าอากาศยาน ระบบรางรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และการท่องเที่ยว โดย สอศ. ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษาจำนวน 25 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อรวมศูนย์การบริหารจัดการในแต่ละ สาขาวิชาเพื่อพัฒนาและกำหนดแนวทางการเรียนการสอนให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน”
นายสุเทพเผยว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ความท้าทายหลักของการอาชีวศึกษาคือการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 “การเรียนอาชีวศึกษาเน้นการปฏิบัติเป็นหลัก การเรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียวทำให้ผู้เรียนขาดทักษะที่สำคัญ สอศ. จึงมุ่งเน้นให้สถานศึกษาบริหารจัดการให้นักเรียนได้ทยอยเข้ามาฝึกฝนทักษะในสถานศึกษาให้มากที่สุด โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อย เพื่อลดความแออัด รวมทั้งการสอนเสริมช่วงปิดภาคเรียนและวันเสาร์-อาทิตย์ นอกจากนี้ยังมีการขยายเวลาการวัดประเมินผลจากสิ้นภาคเรียน เป็นภายในสิ้นปีการศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนเนื้อหาให้ครบถ้วนก่อนการวัดประเมินผล”
นายสุเทพกล่าวทิ้งท้ายว่า “การพัฒนาประเทศในอนาคตต้องอาศัยแรงงานสายปฏิบัติการจำนวนมาก มิใช่เพียงสายวิชาการเพียงอย่างเดียว สอศ. มุ่งเน้นให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนเกี่ยวกับการเรียนอาชีวศึกษา ด้านค่านิยม ปัจจุบัน การเรียนอาชีวศึกษาก็ได้รับปริญญาบัตรเช่นเดียวกัน และยังมีข้อดีเรื่องค่าตอบแทนที่สูงกว่าสายสามัญ โดยวุฒิ ปวส. ในสาขาขาดแคลนบางสาขาสามารถเริ่มงานด้วยเงินเดือนกว่า 20,000 บาทได้ และนักเรียนในสาขาอาชีวศึกษามีความยืดหยุ่นในการศึกษา เพราะแบ่งการเรียนออกเป็นสามระดับ นักเรียนสามารถเอาวุฒิไปทำงานได้ระหว่างเรียนและค่อยกลับมาเรียนต่อได้ตลอดเวลา ท้ายที่สุด ด้านภาพลักษณ์ ในปัจจุบัน การทะเลาะวิวาทเป็นเพียงส่วนน้อยมาก เฉพาะในบางสถานศึกษาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น ในขณะเดียวกัน นักเรียนอาชีวศึกษาทำโครงการจิตอาสาเพื่อประชาชนมากมาย เช่น การซ่อมยานยนต์ช่วงเทศกาล หรือการช่วยเหลือซ่อมเครื่องมือต่างๆ เมื่อเกิดภัยพิบัติ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ทั้งนี้ สถาบันอาชีวศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศยังมีการเปิดหลักสูตรพัฒนาทักษะระยะสั้นสำหรับประชาชนทั่วไปเพื่อเพิ่มทักษะทางอาชีพอีกด้วย”