posttoday

“กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตั้งเป้าส่งมอบระบบมาตรวิทยาที่รองรับ การก้าวไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างสมดุล

15 กันยายน 2565

“กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตั้งเป้าส่งมอบระบบมาตรวิทยาที่รองรับ การก้าวไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างสมดุล ทั้งการยกระดับความสามารถในการแข่งขันและ ความสร้างสรรค์ของภาคเศรษฐกิจ การก้าวไปสู่การวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่อการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงที่มีเอกลักษณ์ ผลักดัน “Made in Thailand” ให้เป็นสัญลักลักษณ์ของคุณภาพและความสร้างสรรค์”

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวภายหลังคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้เสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ระยะที่ 4 พ.ศ. 2566 – 2570 สู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565

“การพิจารณาของคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีจึงต้องเข้มข้นและใช้เวลา ที่จริงภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนนี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยกร่างตั้งแต่ต้น รวมทั้งระดับนโยบายและสำนักงานสภานโยบายฯ ก็ได้มีส่วนในการพิจารณาให้คำแนะนำอย่างจริงจัง เพราะผมเห็นว่าระบบมาตรวิทยามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศในหลายด้าน ไม่ใช่แค่ในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม จึงตั้งใจเชิญผู้มีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ มาร่วมให้ความเห็น ทำให้ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกพอสมควร”

“แผนพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ระยะที่ 4 นี้เป็นแผนเปลี่ยนผ่าน เพราะเราอยู่ในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันในแทบทุกด้าน ทั้งการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ ความมั่นคงและเทคโนโลยี ประเทศไทยจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าเราจะทำอะไร เราจะไปทางไหน โดยใช้จุดแข็งของเราให้เป็น ให้ฉลาด แล้วต่อยอดขึ้นไป”

“ในด้านเทคโนโลยี ที่เห็นชัดว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและในวงกว้างแน่ คือ เทคโนโลยีดิจิทัล (digital technology) เทคโนโลยีควอนตัม (quantum technology) และชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) ประเทศไทยต้องเร่งวางรากฐานเพื่อให้เราเข้าไปสู่ยุคสมัยที่เทคโนโลยีเหล่านี้สร้างการเปลี่ยนแปลง อย่างมั่นใจ เราสามารถใช้และสร้างเทคโนโลยีเหล่านี้ในแบบของเราในคุณภาพที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ไม่ให้ใครเอาเปรียบเราได้ ผมจึงอยากเห็นแผนปฏิบัติการในแต่ละด้านที่มีรายละเอียดและมีไม้เด็ด คือเด็ดพอที่จะทำให้เกิดการก้าวกระโดดในแต่ละเรื่องอย่างชัดเจน เช่น ในด้านการวิจัย เราจะมีไม้เด็ดอะไร ที่จะทำให้เราสามารถขยับการวิจัยของเราให้เข้าใกล้การวิจัยในประเทศชั้นนำได้”

“การเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเกิดขึ้น เทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนในแทบทุกด้าน แตกต่างกันหลายบทบาท บางด้านมีเทคโนโลยีเป็นเหตุ บางด้านจำเป็นที่จะต้องสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาช่วยแก้ไข แต่เราต้องไม่ลืมว่าเราต้องใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ มิเช่นนั้นแล้ว เทคโนโลยีจะไม่สามารถแก้ปัญหา หรือสร้างประโยชน์ให้เราได้อย่างยั่งยืน”

“แผนเป็นสิ่งที่มีชีวิตคู่ไปกับสถานการณ์ แผนที่ดีคือแผนที่มีการติดตามอย่างต่อเนื่องและทบทวนอย่างสม่ำเสมอ บางอย่างที่วางแผนไว้ ทำแล้วได้ผลดี ก็จะได้ทำมากขึ้น ไม่ได้ผลดี ก็จะได้เลิกทำ สิ่งที่คาดการณ์ไว้อาจจะเกิด หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ ก็ต้องปรับกันไป อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือการนำแผนไปปฏิบัติ แผนที่ดีต้องมาคู่กับแนวทางการนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน อยากให้คิดวิธีการใหม่ ๆ ที่จะทำให้การปฏิบัติทั้งชัดเจน ทั้งมีประสิทธิภาพ เช่น การทำงานร่วมกับผู้ประกอบการโดยตรง หรือผู้กำหนดระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ แต่แรก เพื่อทำให้นวัตกรรม หรือผลผลิตที่ออกมาสอดคล้องกับกฎระเบียบ”

“จุดแข็งที่ชัดเจนประการหนึ่งของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติคือมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับสถาบันมาตรวิทยาชั้นนำของโลก เราจะพัฒนาและใช้ประโยชน์จุดแข็งนี้อย่างไร เพื่อสนับสนุนการยกระดับระบบมาตรวิทยาในอาเซียน ให้เพียงพอที่จะผลักดันให้อาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจที่แอ็คทีฟ ที่ประเทศสมาชิกทุกประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด”

“ระบบมาตรวิทยานี้สำคัญ แม้ว่าจะมีคนไม่มากนักที่รู้ว่าระบบนี้คืออะไร ทำงานอย่างไร ผมจึงได้มอบหมายให้สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติเอาเนื้อหาสาระของแผนฉบับนี้มาทำเป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่คนทั่วไปพอจะอ่านเข้าใจ อีกสักพัก เราคงจะได้เรียนรู้ร่วมกันว่าระบบมาตรวิทยาได้ทำอะไรบ้างเพื่อให้การดำเนินชีวิตของเราในทุกวันเป็นไปอย่างปรกติและภายในปี 2570 ระบบมาตรวิทยาของประเทศจะเข้มแข็งกว่าวันนี้อย่างไร”

โดยสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ระยะที่ 4 (2566-2570) ประกอบไปด้วย 4 เป้าหมายหลัก ได้แก่

  1. มีความสามารถทางการวัดที่ตอบสนองต่ออุตสาหกรรมใหม่และเทคโนโลยีแห่งอนาคต เศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และคุณภาพชีวิตของประชากร
  2. โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) เป็นระบบและมีสมรรถนะ สามารถรองรับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีได้จริง
  3. ระบบมาตรวิทยาแห่งชาติเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นคง มีกระบวนการทางมาตรวิทยาและบริการทางมาตรวิทยาที่รองรับกระบวนการผลิตและการประกอบธุรกรรมยุคดิจิทัล
  4. ระบบมาตรวิทยาแห่งชาติและสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติมีความเป็นเลิศเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับในบทบาทและความสำคัญ

และ 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่

  1. ยกระดับความสามารถทางการวัดเพื่อรองรับเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
  2. บูรณาการระบบมาตรวิทยาแห่งชาติร่วมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
  3. พัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติให้พร้อมต่อการบูรณาการร่วมกับองค์ประกอบอื่นของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ
  4. พัฒนาระบบมาตรวิทยาดิจิทัลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่เทคโนโลยีและนวัตกรรมอนาคต
  5. พัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติให้มีความเป็นเลิศเป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ และได้รับการยอมรับในบทบาทและความสำคัญจากสังคมไทย

เป้าหมายและยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ จะนำไปสู่ระบบมาตรวิทยาแห่งชาติที่เข้มแข็ง นำไปสู่การยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยต่อไป