posttoday

“กัลยาณ การาปินาร์“ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สุดล้ำกลางทะเลทรายตุรกี

24 มีนาคม 2567

“กัลยาณ การาปินาร์“ ศูนย์ควบคุมพลังงานสุดล้ำกลางทะเลทรายตุรกี ที่รวมเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านพลังงานที่ยั่งยืนไว้ด้วยกัน ออกแบบโดย บิลกิน สตูดิโอ (bilgin.studio) ด้วย “ศักยภาพด้านพลังงาน” จากสภาพอากาศแบบทะเลทราย

พื้นที่ทะเลทรายอันกว้างใหญ่ไพศาลในจังหวัดกัลยาณ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ไม่เหมาะสำหรับการเกษตร ล่าสุดมันถูกแปลงเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ที่มีความรุ่มรวยด้านพลังงาน ซึ่งในอนาคตอาจกลายเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

 

“กัลยาณ การาปินาร์“ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สุดล้ำกลางทะเลทรายตุรกี

 

Kalyon Karapinar 1.350 MWp SPP หรือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ล่าสุดของตุรกีแห่งนี้มีขนาด 1,350 MWp บนพื้นที่ 20 ตารางกิโลเมตร ผสานเทคโนโลยีพลังงานที่ยั่งยืนไว้ด้วยกันจากแผงโซลาร์เซลล์ 3.2 ล้านแผงในภูมิภาคทะเลทรายสุดกันดาร ตัวอาคารตั้งอยู่ห่างจากแผงโซลาร์เซลล์ที่มีอยู่ 40 เมตร และเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเงาทอดใดๆ เกิดขึ้นบนแผงโซลาร์ ด้านหน้าอาคารได้รับการออกแบบให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมทั้งท้องฟ้าและทะเลทราย โดยมีระดับการสะท้อนแสงที่ทำให้แสงเปลี่ยนสีไปตลอดทั้งวันจากท้องฟ้าและเบลอในวันที่มีเมฆมาก ส่วนในตอนกลางคืน ด้านหน้าของอาคารจะสะท้อนแสงด้านในออก เผยให้เห็นการตกแต่งภายในและลานกว้างภายใน

 

สตูดิโอด้านสถาปัตยกรรมอย่าง Bilgin Architects ได้รับมอบหมายให้ทำโครงการอาคารที่จัดเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสำหรับการควบคุมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในเขตเทศบาล Karapınar ในจังหวัด Konya ประเทศตุรกี ซึ่งมีภูมิอากาศแบบทะเลทราย และความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสถาปนิกก็คือ การเป็นตัวแทนของอาคารเทคโนโลยีพลังงานแห่งใหม่ในภูมิประเทศที่ราบเรียบ ไร้สิ่งกีดขวางจากมวลวัตถุใดๆ ซึ่งทอดยาวไปจนสุดขอบฟ้า

 

“กัลยาณ การาปินาร์“ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สุดล้ำกลางทะเลทรายตุรกี

 

Dialogue with the Earth & Dialogue with the Sky

 

Kalyon Energy เป็นผู้จัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ด้วยแนวคิดสำคัญผ่านตัวอาคารที่กลมกลืนไปกับทั้งผืนทะเลทรายและท้องฟ้า และยังรองรับการใช้พลังงานอย่างพิถีพิถัน การออกแบบส่วนหน้าของอาคารยังเป็นส่วนสำคัญที่จัดว่าเป็นเอกลักษณ์ของตัวอาคาร

 

“กัลยาณ การาปินาร์“ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สุดล้ำกลางทะเลทรายตุรกี

 

อาคารมีความสูงสองชั้น ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดรังสีที่ตกกระทบบนด้านหน้าอาคารหลักให้เหลือน้อยที่สุด ส่วนด้านหน้าอาคารรองยังช่วยป้องกันการสัมผัสความร้อนสูงโดยตรงเกือบตลอดทั้งปี ประกอบด้วยแผงสแตนเลส 7,200 แผงที่มีระดับความโปร่งใสต่างกัน 4 ระดับ การออกแบบส่วนหน้าอาคารขึ้นอยู่กับพารามิเตอร์ต่างๆ เช่น ทิศทางทางภูมิศาสตร์ พื้นที่โดยรอบ และความต้องการแสงที่เหมาะสมที่สุด ในขณะเดียวกันก็สร้างรูปแบบที่ไม่ซ้ำซากจำเจ เนื่องจากพื้นผิวสะท้อนแสง วัสดุจึงเปลี่ยนสีในสภาพแสงที่หลากหลายตลอดทั้งวัน ส่วนในวันที่มีเมฆมากพื้นที่ของส่วนหน้าอาคารจะเบลอ ทำให้อาคารนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของท้องฟ้าไปโดยปริยาย เมื่อตกกลางคืน ด้านหน้าของอาคารจะหันด้านในออก ซึ่งให้ความรู้สึกตัดกันกับประสบการณ์ในเวลากลางวัน และเผยให้เห็นการตกแต่งภายในและลานภายในในเวลากลางคืน

 

และยังมีส่วนที่เป็นลานเอนกประสงค์อย่าง Ground Zero ไว้สำหรับรองรับงานกิจกรรม การประชุม และเวิร์กช็อปต่างๆ มีส่วนพื้นที่สีเขียวที่เรียกว่า “โอเอซิส” ใจกลางของโครงสร้างที่อุดมไปด้วยพืชพันธุ์เขียวชอุ่มสร้างความแตกต่างให้กับพื้นผิวที่แห้งแล้งของภูมิภาค ลานแห่งนี้ได้รับการออกแบบให้มีพันธุ์พืชเฉพาะถิ่นที่ต้องการระบบน้ำและการบำรุงรักษาน้อยที่สุด ทำหน้าที่เป็นพื้นที่พักผ่อนและกิจกรรมที่กำบังต่อสภาพอากาศที่รุนแรง

 

 

ข้อมูลอ้างอิงและเครดิตภาพ:

https://www.archdaily.com/1013310/kalyon-karapinar-50-mwp-spp-central-control-building-bilgin-architects